ปธน.ทรัมป์ ขู่ตัดเงินช่วยเหลือประเทศที่หนุนมติยูเอ็น กรณีเยรูซาเลม

ที่มาของภาพ, MANDEL NGAN/AFP/Getty Images
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่จะตัดความช่วยเหลือด้านการเงินกับประเทศที่ลงคะแนนสนับสนุนร่างมติสหประชาชาติซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านการที่สหรัฐฯ รับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเมื่อช่วงต้นเดือนนี้
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวว่า "พวกเขาเอาเงินไปเป็นร้อยล้านพันล้าน จากนั้นก็ลงคะแนนต่อต้านเรา....ให้เขาลงคะแนนต่อต้านเราไปเลย เราจะประหยัดเงินได้อีกมาก เราไม่ใส่ใจ" ร่างมติสหประชาชาติดังกล่าว ไม่ได้อ้างถึงสหรัฐฯ แต่ระบุว่า ควรจะเพิกถอนการตัดสินใจใดก็ตามเกี่ยวกับเยรูซาเลม
ก่อนหน้านี้ นางนิกกี เฮลีย์ เตือนประเทศสมาชิกว่าประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ขอให้เธอรายงานว่า มีประเทศใดบ้าง "ที่ลงคะแนนต่อต้านเรา" ในวันพฤหัสบดีนี้

ที่มาของภาพ, EPA
บทวิเคราะห์
โดย นาดา ตอว์ฟิก
บีบีซี นิวส์ นิวยอร์ก
ประธานาธิบดีทรัมป์ และนางเฮลีย์ กำลังพยายามใช้อำนาจของสหรัฐฯ มากกว่าการทูต เพื่อโน้มน้าวให้ประเทศอื่นลงคะแนนเข้าข้างตน ซึ่งจากมุมมองของรัฐบาลสหรัฐฯ การรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และการตัดสินใจย้ายสถานทูตถือเป็นสิทธิที่รัฐเอกราชพึงมี
ทว่า นั่นไม่ใช่มุมมองของประเทศสมาชิกส่วนมากในสหประชาชาติ โดยประเทศที่คัดค้านรุนแรงที่สุดก็คือกลุ่มที่วิจารณ์สหรัฐฯ อยู่แล้ว ในขณะที่ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ มองว่าวาทะดังกล่าวเป็นเพียงคำขู่ลอยๆ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images)
นักการทูตอาวุโสรายหนึ่งให้ความเห็นว่า เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องการแสดงจุดยืนเรื่องอิสราเอลในเวทียูเอ็น แต่ไม่คิดว่าสหรัฐฯ จะตัดการช่วยเหลือประเทศเช่นอียิปต์ ที่ให้การสนับสนุนร่างมติคณะมนตรีความมั่นคงที่ไม่ผ่านการรับรองก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นเอกสารที่ร่างมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่ในวันนี้ใช้อ้างอิงเป็นพื้นฐาน
ที่แน่นอนก็คือ สหรัฐฯ จะถูกโดดเดี่ยวในการประชุมสมัชชาใหญ่ในวันพฤหัสบดีนี้ ในขณะที่ประเทศอื่นจะแสดงออกให้ประธานาธิบดีทรัมป์รับรู้อีกครั้งว่า ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจเรื่องเยรูซาเลม
หัวใจของความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์
สถานะของเยรูซาเลมคือหัวใจของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยในสงครามตะวันออกกลางปี 1967 อิสราเอลยึดครองด้านตะวันออกของเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นพื้นที่ยึดครองของจอร์แดน และถือว่าพื้นที่ในเยรูซาเลมทั้งหมดเป็นเมืองหลวงที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้
ด้านปาเลสไตน์ อ้างว่าในอนาคตจะตั้งเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวง และจะเจรจาสถานะของเมืองในการหารือสันติภาพระยะต่อไป

อธิปไตยของอิสราเอลเหนือเยรูซาเลม ไม่เคยได้รับการรับรองในเวทีนานาชาติ และขณะนี้ทุกประเทศตั้งสถานทูตอยู่ในกรุงเทลอาวีฟ แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้สั่งให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เริ่มย้ายสถานทูตสหรัฐฯ แล้ว
ในวันนี้ สมาชิก 193 ประเทศจะจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ในวาระฉุกเฉิน ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก โดยการประชุมเป็นไปตามคำขอของกลุ่มประเทศอาหรับ และประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งประณามประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ตัดสินใจกลับลำนโยบายซึ่งสหรัฐฯ ยึดถือมานานหลายทศวรรษ
ปาเลสไตน์ เรียกร้องให้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ ใช้สิทธิ์วีโต หรือคัดค้านร่างมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งระบุว่าการตัดสินใจใดก็ตามเกี่ยวกับสถานะของเยรูซาเลม "ถือเป็นโมฆะ และต้องถูกเพิกถอน" รวมถึงเรียกร้องให้ทุกรัฐ "'งดตั้งสถานทูตในเมืองศักดิ์สิทธิ์"
ก่อนหน้านี้ สมาชิกอีก 14 ประเทศในคณะมนตรีความมั่นคง ได้ลงคะแนนสนับสนุนร่างมติเบื้องต้นไปแล้ว ซึ่งนางเฮลีอ้างว่า ถือเป็น "การสบประมาท"
บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก X เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ X และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ X ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"
สิ้นสุด X โพสต์
นางเฮลีย์ทวีตว่า "ที่สหประชาชาติ เราถูกขอให้ทำมากขึ้น ให้มากขึ้น และเมื่อเราตัดสินใจ จากเจตนารมณ์ของประชาชนสหรัฐฯ เกี่ยวกับว่าสถานทูตของเราควรจะตั้งอยู่ที่ไหน เราไม่อยากเห็นคนที่เราเคยช่วยมาวิจารณ์เรา วันพฤหัสฯจะมีการลงมติซึ่งเท่ากับวิพากษ์การตัดสินใจของเรา สหรัฐฯจะจดชื่อเหล่านั้นเอาไว้"
ส่วนร่างมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ในวันนี้ ซึ่งเสนอโดยตุรกีและเยเมน มีเนื้อหาเหมือนกับร่างฯ ที่ลงคะแนนในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงไปแล้ว
นายริยาด มันซูร์ ตัวแทนปาเลนไตน์ซึ่งมีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ในยูเอ็น กล่าวแสดงความหวังว่า "จะมีเสียงสนับสนุนท่วมท้น" สำหรับร่างมติในวันนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นางเฮลีย์ ได้ส่งจดหมายเตือนไปยังรัฐสมาชิก "เพื่อให้เข้าใจว่าประธานาธิบดี และรัฐบาลสหรัฐฯ มองการลงคะแนนครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว"
ผู้สื่อข่าวที่ได้เห็นจดหมายดังกล่าวรายงานว่า ข้อความของนางเฮลีย์ระบุว่า "ประธานาธิบดีจะสังเกตการณ์ การลงคะแนนนี้อย่างระมัดระวัง และได้สั่งให้ดิฉันรายงานว่า มีประเทศใดบ้างที่ลงคะแนนต่อต้านเรา เราจะจดบันทึกทุกการลงคะแนนในประเด็นนี้"
นางเฮลีย์ ระบุด้วยว่า "คำประกาศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเจรจาต่อรองสถานะสุดท้ายของเยรูซาเลมแต่อย่างใด รวมถึงเรื่องเขตแดนที่อิสราเอลจะมีอธิปไตยเหนือเยรูซาเลม" และ "ประธานาธิบดียืนยันจะสนับสนุนสถานภาพเดิมของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในเยรูซาเลม"
นางเฮลีย์ ระบุคำเตือนผ่านทวิตเตอร์ว่า "สหรัฐฯ จะจดชื่อ"
นายริยาด อัลมาลิคี รัฐมนตรีต่างประเทศปาเลสไตน์ และนายเมฟลูห์ ดาวูโตกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี กล่าวถึงสหรัฐฯ ในการแถลงข่าวร่วมที่กรุงอังการาเมื่อวันพุธ ก่อนที่จะออกเดินทางไปนิวยอร์กว่า "เราเห็นว่าสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ถูกโดดเดี่ยว กำลังหันไปใช้วิธีการข่มขู่ ไม่มีประเทศไหนที่มีเกียรติและความสง่างาม จะยอมก้มหัวให้แรงกดดันนี้"