ส.ศิวรักษ์ เชื่ออัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้องคดีหมิ่นพระนเรศวรฯ เพราะ "พระบารมีปกเกล้าฯ"

ส.ศิวรักษ์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้อง ส.ศิวรักษ์ คดีหมิ่นสมเด็จพระนเรศวร ฯ เหตุหลักฐานไม่เพียงพอ เจ้าตัวเชื่อเพราะ "พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม"

ภายหลังการเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้องมาแล้วเป็นครั้งที่ 3 เมื่อปลายปีที่แล้ว ในวันนี้อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในข้อหากระทำการขัดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีวิพากษ์ประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวร ฯ

นายสุลักษณ์ หรือที่รู้จักในนาม 'ส.ศิวรักษ์' หรือ 'ปัญญาชนสยาม' บอกกับสื่อมวลชนภายหลังการเข้าพบเจ้าพนักงานในศาลทหารกรุงเทพว่า " อัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งเป็นอันหมดจากคดีนี้อย่างเรียบร้อย และทางอัยการทหารจะแจ้งไปยัง สน.ชนะสงคราม ว่าเรื่องของผมยุติเพียงเท่านี้แล้ว ที่จริงเรื่องนี้ยุติมาตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลของการตัดสินไม่รับฟ้องดังกล่าว ส.ศิวรักษ์บอกว่า " No Reason" หรือ "ไม่มีเหตุผล" และยืนยันว่า "การยุติเรื่องนี้ลงไม่มีเงื่อนไขใด ๆ " ด้าน ทนายความส่วนตัวของเขาบอกเพียงสั้น ๆ ว่า "พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง"

บีบีซีไทยได้สอบถามไปยังศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ไม่ประสงค์เปิดเผยนามได้ยืนยันว่าสิ่งที่ทางนายสุลักษณ์แถลงเป็นความจริง แต่ไม่สามารถเปิดเผยสำนวนคดีและเหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องได้

นายสุลักษณ์ ในวัย 85 ปี ยอมรับว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เขาไม่ได้ถูกลงโทษหลังจากที่ผ่านมาเคยถูกรังแกในลักษณะนี้มาหลายครั้ง โดยหวังว่า "ครั้งนี้ จะไม่เป็นครั้งสุดท้ายที่ไม่ได้รับการถูกลงโทษ"

ส.ศิวรักษ์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

"พระบารมีปกเล้าปกกระหม่อม"

นายสุลักษณ์ยังระบุอีกว่า การตัดสินใจของอัยการทหาร เป็นผลมาจากการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

"ผมเชื่อว่า พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม ในหลวงองค์นี้ท่านทำอะไรต่าง ๆ ปิดทองหลังพระเยอะ และคดีผมเนี่ย ถ้าไม่ได้พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมไม่มีทางหลุด เพราะว่านายกรัฐมนตรีเป็นคนแหย เป็นคนไม่คิดอะไรที่กล้าหาญชาญชัย กลัว ถ้าไม่ได้พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม คดีผมไม่มีทางสิ้นสุดหรอก" ส.ศิวรักษ์ กล่าวหน้าศาลทหาร

ทางบีบีซีไทย ได้สอบถามไปยังสำนักพระราชวังแล้ว ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้เพราะเป็นสิ่งที่อ่อนไหว

ยุคเผด็จการไร้บรรทัดฐาน

เมื่อถามว่า การตัดสินใจไม่รับฟ้องของอัยการทหารจะนำไปสู่บรรทัดฐานใหม่อะไร ส.ศิวรักษ์ ตอบว่า "ไม่มีบรรทัดฐานใด ๆ เพราะเมืองนี้ คนมีอำนาจทำอะไรก็ไม่ผิด มีนาฬิกาเรือนละกี่แสนก็ไม่ผิด"

ขณะเดียวกัน เขายังระบุอีกว่า ในยุคระบอบเผด็จการ หากประชาชนต้องการแสดงออกความคิดเห็น เพื่อที่จะมีเสรีภาพในการพูด ก็จะต้องถูกลงโทษ และนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาถูกลงโทษ

ส.ศิวรักษ์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

แม้ว่าศาลทหารไม่สั่งฟ้อง แต่ทางทหารก็ขอร้องให้เขาอยู่อย่างเงียบให้เขายุติการเคลื่อนไหว แต่ปัญญาชนสยามผู้นี้ ตอบว่า "ถ้าผมยุติไม่พูดไม่เขียน ผมก็ตายเท่านั้นเอง"

นานาชาติยังร่วมจับตาสังเกตการณ์

การเข้าพบเพื่อรับฟังคำสั่งของอัยการทหารในวันนี้ของนายสุลักษณ์ นอกจากจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนต่างประเทศหลายสำนักแล้ว ยังได้รับความสนใจจากรัฐบาลจากยุโรปหลายชาติโดยส่งตัวแทนเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ อาทิ ฝรั่งเศส สวีเดน แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี รวมทั้งตัวแทนจากสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ผู้ต้องหาคดีม.112 กว่าครึ่งถูกจำคุกหลังรัฐประหาร คนพิการยังไม่เว้น

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า มีคนอย่างน้อย 94 คนที่ถูกดำเนินคดี ม.112 ในจำนวนนั้น 43 รายถูกพิพากษาจำคุกนับตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี

หนึ่งในกรณีล่าสุด คือ กรณีของนูรฮายาตี มะเสาะ วัย 23 ปี หญิงพิการทางสายตา ในอ. เมือง จ.ยะลา ที่ถูกศาลชั้นต้นในจ.ยะลา พิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญาในวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา

โคว้ตคำพูดของ ส.ศิวรักษ์

เว็บไซต์ประชาไท รายงานว่า สาเหตุมาจากการที่เธอ โพสต์ความคิดเห็นและคัดลอกบทความของ นายใจ อึ๊งภากรณ์ ลงในเฟซบุ๊ก หลังข่าวการสวรรคตของในหลวง ร.9 เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ปีที่ผ่านมาจนเป็นเหตุให้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตาม ม.112 หมิ่นสถาบันฯ โดยที่ศาลไม่ได้นำเหตุที่จำเลยเป็นผู้พิการทางสายตามาพิจารณาลดหย่อนโทษ เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังไม่ถือว่าสิ้นสุด แม้ได้มีการตัดสินในศาลชั้นต้นแล้ว เนื่องจากทั้งโจทก์และทางจำเลยในคดีนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์หรือไม่ ทั้งนี้ ทั้งโจทย์และจำเลยสามารถอุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน และสามารถขยายระยะเวลาในการอุทธรณ์ได้ หากมีเหตุจำเป็น

ที่มาของคำสั่งฟ้อง

เหตุการณ์ที่นำมาสู่การแจ้งข้อหากับนายสุลักษณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 จากการร่วมงานเสวนาวิชาการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการอภิปรายในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง" ซึ่งนายสุลักษณ์ได้วิพากษ์ประวัติศาสตร์การกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต่อมาวันที่ 16 ต.ค. ปีเดียวกัน พล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ และ พล.ท.พิทยา วิมะลิน ได้แจ้งความต่อสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม กล่าวหานายสุลักษณ์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอดีตพระมหากษัตริย์

ตัวแทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมชูป้ายคัดค้านการดำเนินคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในแสดงความคิดเห็น ซึ่งวันนี้ (17 ม.ค.) เดินทางมาให้กำลังใจ ส.ศิวรักษ์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ตัวแทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมชูป้ายคัดค้านการดำเนินคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในแสดงความคิดเห็น ซึ่งวันนี้ (17 ม.ค.) เดินทางมาให้กำลังใจ ส.ศิวรักษ์ก่อนเข้าพบเจ้าหน้าที่ของศาลทหาร

พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม มีความเห็นสั่งฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานกล่าวพาดพิงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและการทำยุทธหัตถี สรุปสำนวนฟ้องต่ออัยการศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา

การใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีต่อการพูดวิพากษ์ประวัติศาสตร์เมื่อ 500 ปีที่แล้ว ทำให้นายสุลักษณ์ระบุว่า "ถ้าวิจารณ์กฎหมายไม่ได้ เราจะมีความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร" พร้อมชี้ว่า มาตรา 112 ปกป้องเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาทในรัชกาลปัจจุบันเท่านั้น "รัฐบาลเผด็จการทุกแห่งกลัวความจริง รวมทั้งรัฐบาลไทย ผมพูดความจริงเมื่อ 500 ปีที่แล้วยังกลัวเลย แล้วคนพูดความจริงในปัจจุบันก็คงเล่นงานเต็มที่" ส.ศิวรักษ์ กล่าว

ประท้วง ม. 112

ที่มาของภาพ, Getty Images

นายสุลักษณ์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลตอบคำถามนานาชาติถึงเหตุผลในการดำเนินคดีกับตน หลังก่อนหน้านี้ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อัยการทหาร ถอนฟ้องข้อกล่าวหานายสุลักษณ์ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และชี้ว่าหากมีการไต่สวนคดีนี้ขึ้นจริง เสรีภาพทางวิชาการและการแสดงความเห็นในไทยจะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เช่นเดียวกับสมาคมนักเขียนสากล (PEN International) และผู้ได้รับรางวัลอัลเทอร์เนทีฟโนเบล-รางวัลสัมมาอาชีวะ 44 คน ที่เรียกร้องให้ยุติข้อกล่าวหา โดยไม่มีเงื่อนไข