ส.ศิวรักษ์ ยึดหลักอุเบกขา หลังถูกตั้งข้อหา ม. 112

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ที่มาของภาพ, Ilaw

พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม สรุปสำนวนส่งอัยการศาลทหารกรุงเทพ คดี ส.ศิวรักษ์ ปัญญาสยาม ถูกตั้งข้อหา ม.112 จากการพูดในงานเสวนาที่ ม.ธรรมศาสตร์ วิพากษ์ประวัติศาสตร์การกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อัยการศาลทหาร นัดฟังคำสั่งฟ้องวันที่ 7 ธ.ค.นี้

ภายหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการตรวจสำนวนคดีที่ศาลทหารกรุงเทพ วันที่ 9 ต.ค. ซึ่งใช้เวลากว่าชั่วโมง นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิดนักประวัติศาสตร์ ปัญญาชนสยาม กล่าวกับบีบีซีไทย ถึงการถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่าเขายึดหลัก "อุเบกขา" (วางเฉย)

นายสุลักษณ์ ขยายความต่อว่า เป็นเรื่องธรรมดาของบ้านเมืองในขณะนี้ "ที่ไม่มีขื่อมีแป ไม่มีหลักนิติรัฐ" ทำให้การดำเนินคดีตามความผิด มาตรา 112 เกิดขึ้นหลายคดี รวมทั้งในกรณีที่เขาพูดถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์วิพากษ์อดีตพระมหากษัตริย์ด้วย

"มาตรา 112 คลุมเฉพาะพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี และองค์รัชทายาทในรัชกาลปัจจุบันเท่านั้น พระนเรศวรเสวยราชย์ 500 ปีมาแล้ว กฎหมายไม่ครอบคลุม คือกฎทหารจะเล่นงานผม เขาทำยังไงก็ได้ เพราะฉะนั้น ผมถึงมีอุเบกขา ผมวางเฉย สงสารเขามากกว่า สงสาร คสช. สงสารผู้มีอำนาจ" สุลักษณ์ กล่าวกับบีบีซีไทย

เหตุการณ์ที่นำมาสู่การแจ้งข้อหา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2557 จากการเสวนาวิชาการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดม กลุ่มกิจกรรมในมหาวิทยาลัย วันนั้นเป็นการอภิปรายในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง"

ก่อนนำมาสู่การแจ้งความดำเนินคดีจาก พล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ และ พล.ท.พิทยา วิมะลิน ต่อสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ในวันที่ 16 ตุลาคม ปีเดียวกัน กล่าวหานายสุลักษณ์ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอดีตพระมหากษัตริย์

การตั้งข้อกล่าวหานี้ต่อนายสุลักษณ์ จึงถือได้ว่าเป็นครั้งแรก ๆ ที่กฎหมายหมิ่นฯ ถูกตีความรวมไปยังอดีตพระมหากษัตริย์

"ถ้าใครมาเชิญ ผมก็พูดตามเดิม อยากจับผมก็จับ ผมอายุ 85 ปี แล้วคุณ ติดคุก 15 ปี ผมฉลองอายุ 100 ปีในคุก ไม่เป็นไรหรอก ตื่นเต้น...." นายสุลักษณ์ กล่าวยืนยันข้อมูลทางวิชาการที่พูดเมื่อปี 2557

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นหนึ่งในบูรพกษัตริย์ 7 พระองค์ ที่รัฐบาลจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ที่อุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นหนึ่งในบูรพกษัตริย์ 7 พระองค์ ที่รัฐบาลจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ที่อุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์

นายสุลักษณ์ ที่ได้รับการเรียกขานจากสังคมว่าเป็น "ปัญญาชนสยาม" และยังเป็นนายประกันให้กับ "ไผ่ ดาวดิน" นักศึกษานักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกดำเนินคดี ม. 112 ยังกล่าวถึงแวดวงวิชาการที่ถูกติดตาม จำกัด ตรวจสอบ ในระยะไม่กี่ปีมานี้ด้วย

"ที่น่าเศร้า คือคนส่วนมากไม่ประท้วง อธิการบดี (มหาวิทยาลัย) ทุกแห่งสยบยอมเขาหมด เขาก็ได้ใจ แต่ผมไม่ยอมสยบ ผมตาแก่หัวแข็ง เขาอยากจะน็อคหัวผมให้อ่อนลงบ้าง ก็ไม่มีอะไรมาก เขาทำอะไรไม่มีกฎบัตรกฎหมายทั้งนั้น"

ด้าน น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความของ ส.ศิวรักษ์ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ขั้นตอนวันนี้ เป็นการสรุปสำนวนส่งอัยการของพนักงานสอบสวน ซึ่งมีการตรวจสำนวนว่าอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารหรือไม่

ก่อนหน้านี้ ทางทนายความและนายสุลักษณ์ได้ทำคำให้การ และขอให้พนักงานสอบสวนพยานเพิ่มเติม หลังจากมีการแจ้งความดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 2557

"ในคำให้การเป็นรายละเอียดข้อเท็จจริงของคดี ในวันเสวนา ผู้จัด และเนื้อหาที่พูดเกี่ยวกับอะไร กับประวัติส่วนตัว และส่วนของข้อกฎหมายว่าไม่เห็นด้วยว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112" น.ส. พวงทิพย์ กล่าวกับบีบีซีไทย

หลังจากนี้อัยการจะพิจารณาแล้วนัดมาฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ในวันที่ 7 ธันวาคมนี้

ส.ศิวรักษ์ กับ 4 คดี ม. 112

ปี 2527 - นายสุลักษณ์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นครั้งแรก จากการตีพิมพ์หนังสือ "ลอกคราบสังคมไทย" ซึ่งหนังสือเล่มนี้ถูกยึดเจ้าหน้าที่ในเวลานั้นด้วย ในครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกของสุลักษณ์ที่ถูกจับกุม และถูกคุมขัง ก่อนที่อัยการจะถอนฟ้องคดีนี้ทำให้คดีเป็นอันยุติ

ปี 2534 - พล.อ.สุจินดา คราประยูร รองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในขณะนั้น แจ้งจับสุลักษณ์ ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการปาฐกถา เรื่อง "ประชาธิปไตยกับการรัฐประหาร" ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารของ รสช.ผ่านไป 6 เดือน คดีนี้ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง

ปี 2547 - สุลักษณ์ ได้รับเชิญอภิปรายเรื่อง "สังคมไทยทางรอดที่ควรเลือก เหลียวหลังแลหน้าจากราชดำเนินถึงตากใบ" ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างการอภิปราย นายสุลักษณ์ได้ประชาสัมพันธ์หนังสือวารสาร Seeds of Peace ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2548 ซึ่งนายสุลักษณ์เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา ในวารสารฉบับนี้มีบทความ เรื่อง SIAM of the Forgotten Monarchy: The True Life Sequel to the King and the Land of Smile ซึ่งกลายเป็นจุดที่ทำให้เจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งไปฟังงานเสวนาและซื้อสารสารฉบับนี้มาอ่าน รายงานผู้บังคับบัญชาจนนำมาสู่กระบวนการดำเนินคดีของตำรวจ อย่างไรก็ตาม คดีนี้อัยการไม่สั่งฟ้อง

ปี 2551 - คดี 112 ครั้งนั้น สืบเนื่องมาจากการบรรยายของนายสุลักษณ์ เรื่อง ปรัชญาพื้นบ้านอีสาน ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 11 ธ.ค.2550 แต่กว่านายสุลักษณ์จะถูกดำเนินคดีก็ล่วงมาอีก 1 ปี ในวันที่ 6 พ.ย.2551 รอง.ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น นำกำลังจับกุมนายสุลักษณ์ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นสถาบัน ที่บ้านพักในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหมายจับที่ออกในเดือน ก.ย.ปีเดียวกัน

นายสุลักษณ์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวประชาไท ตั้งข้อสังเกตถึงการถูกดำเนินคดีว่า อาจมีเหตุจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โฟนอินกับมวลชนถึงประเด็น "ไม่มีใครเอาเขากลับเมืองไทยได้..." จึงอาจนำมาสู่การล็อบบี้ของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ จ.ขอนแก่น