ใช้ “อานันท์โมเดล” กำหนด “โรดแมปครั้งสุดท้าย” วิษณุเผยรู้วันเลือกตั้งแน่ มิ.ย. นี้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนในกิจกรรม สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดทำเนียบรัฐบาล-เชิญสื่อมวลชนร่วมกิจกรรม "สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า" เป็นครั้งแรกหลังบริหารราชการแผ่นดินมานาน 3 ปี 8 เดือน

มือกฎหมายระดับ "พญาราชสีห์" นามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จับเข่าคุยกับผู้สื่อข่าวภายใต้หัวข้อ "กฎหมายหลายรส กับอนาคตประเทศไทย" ในวันที่มี "วาระร้อนทางกฎหมาย" อย่างร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 2 และ 3 ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้ "แทคติคทางกฎหมาย" เพื่อยืดโรดแมปเลือกตั้ง-ยื้ออำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทว่าแกนนำรัฐบาล คสช. ต่างปฏิเสธว่าไม่รู้-ไม่เห็น-ไม่มีใบสั่ง เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนในกิจกรรม "สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า" ว่า "ไม่อาจการันตีเรื่องโรดแมปได้ เพราะไม่มีหน้าที่"

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายวิษณุ เครืองาม ระบุว่า "ไม่อาจการันตีเรื่องโรดแมปได้ เพราะไม่มีหน้าที่" ระหว่างตอบคำถามสื่อมวลชน ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นี่เป็นอีกครั้งที่นายวิษณุออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ในนามรัฐบาล โดยระบุว่าร่างกฎกฎหมายลูกฉบับนี้เสนอโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล พร้อมยืนยัน "ไม่รู้จักเซียนสักคน" หลังนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปรียบเปรยว่ามี "2 เซียนกฎหมาย" ที่คอยรับใช้ผู้มีอำนาจเป็นผู้หน่วงเวลาการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ออกไปอีก 90 วันนับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ย้อนกลับไปเดือน มี.ค. 2560 นายวิษณุเป็นคนเสนอเรื่องให้รัฐบาลใช้ "อภินิหารทางกฎหมาย" ประเมินภาษีการซื้อขายหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปี 2549 เพื่อเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากนายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ "เจ้าของหุ้นตัวจริง" เป็นเงิน 17,629 ล้านบาท หลังไม่เคยดำเนินการใด ๆ ในรัฐบาล 5 ชุดก่อน

มาถึงเดือน ม.ค. 2561 นักวิเคราะห์การเมืองชี้ว่าโรดแมปเลือกตั้งกำลังถูกยืดไปอย่างแนบเนียนด้วย "อภินิหารทางกฎหมาย" (อีกครั้ง) ผู้สื่อข่าวจึงขอให้รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายช่วยระบุวัน-เวลาเลือกตั้งที่แน่ชัดภายใต้ความไม่แน่นอนของกฎหมายลูก

ประชาชนหย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อปี 2557

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประชาชนหย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อปี 2557

"ไม่ว่าใครก็ตามในประเทศนี้ ไม่ควรบังอาจพูดเรื่องโรดแมปเลือกตั้งเลยด้วยซ้ำไป แม้แต่นายกฯ ก็ไม่ควรพูด แต่เพราะว่าถูกถามและคาดคั้นให้ตอบให้ได้ จึงต้องตอบจากความน่าจะเป็นไปได้ที่สุด และก็ถือว่าไม่ผิด ซึ่งกรณีนี้ไม่ว่าใครนับนิ้วมือนิ้วตีน ก็นับได้อย่างนั้นจริง ๆ ผมก็นับให้คุณฟัง ถ้าเราตัดปัจจัยที่มันเพิ่งโผล่ขึ้นมา มันก็เป็นเช่นนั้น แต่ถ้ามีโน่นนี่โผล่ขึ้นมา เช่น 90 วัน แล้วบอกว่านี่โกหก ไม่มีสัจจะ มันไม่ใช่ไม่มีสัจจะ แต่เราถูกบีบคอให้พูด" นายวิษณุกล่าว

อย่างไรก็ตามเขาได้วาดปฏิทินการเมืองโชว์สื่อมวลชน แน่นอนว่าทุกขั้นตอนล้วนมีกรอบกฎหมายกำกับ

ปฏิทินเลือกตั้งฉบับวิษณุชวน "นับนิ้วมือ-นิ้วเท้า"

ที่มา : นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายขั้นตอนทางกฎหมายระหว่างร่วมกิจกรรมพบปะสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 25 ม.ค.

มือกฎหมายรัฐบาลบอกว่า ในส่วนของโรดแมปจริงจะเห็นในเดือน มิ.ย. 2561 ซึ่งเป็นไปตามคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ในข้อ 8 ที่ระบุว่าหลัง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลใช้บังคับ ครม. คสช. จะร่วมกันเพื่อจัดทำแผนและขั้นตอนดำเนินการการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง (โรดแมป) โดยหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอาจเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองร่วมหารือถึงความพร้อมในการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่ชัด เป็นสิ่งที่นายวิษณุเรียกว่าเป็น "โรดแมปสุดท้ายของประเทศ"

สนช.

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

นายวิษณุเผยว่าได้เล่า "นิทาน" ให้ คสช. ฟังเรื่องหนึ่ง ทำให้มีข้อ 8 ในคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 โดยยกตัวอย่างนายอานันท์ ปันยารชุน ที่เข้ามาเป็นนายกฯ สมัย 2 (รับตำแหน่ง 10 มิ.ย. 2535) ด้วยภารกิจเดียวคือการยุบสภา โดยนายอานันท์ได้เชิญทุกพรรคการเมืองมาหารือที่ห้องประชุมประธานสภาผู้แทนราษฎร มีคำถามเพียง 2 ข้อคือ 1. คุณจะให้ผมยุบสภาวันไหน 2. คุณจะให้ผมกำหนดวันเลือกตั้งวันไหน

"ผมยังจำได้ว่ามีหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่บอกว่าท่านนายกฯ ครับ ผมขอข้อ 3 ได้หรือไม่ จะมีทางไหนไหมที่ไม่ต้องยุบสภา นายกฯ อานันท์บอกว่าถ้าไม่ยุบสภาแล้วผมจะเข้ามาทำไม ถ้าคุณบอกพร้อมเลือกตั้งใน 1 เดือนก็ยุบในอีก 1 เดือน ที่สุดแล้ว ที่ประชุมก็บอกให้ยุบสภาภายใน 3 วัน แล้วท่านก็ยุบ (ประกาศยุบสภาวันที่ 30 มิ.ย. 2535) ผมเลยเล่าแนวคิดนี้ให้ คสช. ฟัง เพราะนี่เป็นความเป็นความตายของพรรคการเมืองเขา เพราะถ้ากำหนดวันเลือกตั้งโดยเขาไม่พร้อม ก็ไปตัดสิทธิเขา นี่คือความเป็นความตายเขา" รองนายกฯ ระบุ

ที่สุดแล้ว "อานันท์โมเดล" ก็ถูกยกมาสวมไว้ใน ข้อ 8 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. นั่นเอง

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ที่ผ่านมา ทั้งนายวิษณุ-นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. มักอ้างถึง "ปัจจัยเหนือการควบคุม" ที่ทำให้โรดแมปไม่เป็นโรดแมป จึงมีคำถามว่าปัจจัยที่รัฐบาล คสช. ไม่อาจควบคุมได้คืออะไร นายวิษณุงดขยายความ โดยบอกว่า "ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนอะไรหรอก ผมรู้ว่าสื่อคิดอะไร แต่ไม่ใช่อย่างที่สื่อคิด"

ก่อนยอมเฉลยในภายหลังว่า กระแสข่าว สนช. คว่ำร่างกฎหมายลูกกลางสภา ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่ภาวนาว่าไม่ควรเกิดกรณีเช่นนี้ มันมีวิธีเลี่ยงได้-พบกันครึ่งทางได้หากไม่พอใจจุดใด ส่วนอีกปัจจัยคือการส่งร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. หรือร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. แล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าศาลจะใช้เวลาพิจารณายาวนานเท่าใด

อย่างไรก็ตามรองนายกฯ แสดงความเชื่อมั่นว่าปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามกำหนดในเดือน พ.ย. 2561 นั้น "เป็นสิ่งที่ไม่ว่าไปไปอธิบายกับนานาชาติ ชาติไหน เขาก็เข้าใจ เว้นแต่จะแกล้งและพยายามไม่เข้าใจ"

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนในกิจกรรม สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

ด้วยความรอบรู้ทางกฎหมาย-ประวัติศาสตร์ และมีความจำดี ทำให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เจ้าของฉายา "พญาครุฑ" ทางกฎหมาย ซึ่งนายวิษณุตั้งให้ ได้ยกให้ลูกศิษย์เอกอย่างนายวิษณุเป็น "พญาราชสีห์" ทางกฎหมาย ทว่าเจ้าตัวไม่ขอรับฉายานี้

"ผมเป็นปลาอินทรีย์ คู่กับพญาอินทรีย์" นายวิษณุกล่าวติดตลกทิ้งท้าย