ปธน.ทรัมป์ หนุนให้ครูมีอาวุธปืนไว้ป้องกันเหตุกราดยิง

ที่มาของภาพ, Reuters
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ มีแนวคิดให้ครู "ติดอาวุธ" ได้ เพราะเชื่อว่าสามารถป้องกันเหตุกราดยิงในโรงเรียนได้ หลังเกิดเหตุกราดยิงที่โรงเรียนมัธยมในรัฐฟลอริดา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายทรัมป์กล่าวว่า หากเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนมีอาวุธปืน จะสามารถยุติเหตุโจมตีเช่นนี้ได้ "อย่างรวดเร็ว" นอกจากนี้ยังสนับสนุนเสียงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบประวัติผู้ซื้ออาวุธปืนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แนวคิดล่าสุดของประธานาธิบดีทรัมป์ถูกโยนออกมาวานนี้ (21 ก.พ.) ในวงสนทนาที่ทำเนียบขาว กับตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนมัธยม มาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส ซึ่งเกิดเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เมื่อสัปดาห์ก่อน นอกจากนักเรียน ยังมีครูและสมาชิกครอบครัวของนักเรียน รวมกว่า 40 คน พวกเขาเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก รวมถึงปฏิรูปกฎหมายอาวุธปืน
"เราจะแข็งขันอย่างมากในการตรวจสอบประวัติ โดยต้องเน้นอย่างมากในส่วนของสุขภาพจิต" นายทรัมป์กล่าวกับนักเรียนและย้ำว่า "มันจะไม่เป็นเพียงการพูดคุยอย่างที่เป็นมาในอดีต"

ที่มาของภาพ, Reuters
ประธานาธิบดีทรัมป์ยังได้สนับสนุนข้อเสนอที่สมาคมปืนยาวแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นอาร์เอ) เคยเสนอก่อนหน้านี้ โดยสัญญาว่าจะพิจารณาข้อเรียกร้องให้ครูอาจารย์มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองเพื่อป้องกันเหตุ
"หากคุณมีครูที่เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธปืน พวกเขาจะสามารถหยุดเหตุโจมตีได้อย่างรวดเร็ว" นายทรัมป์กล่าว
"โดยที่ครูจะพกพาปืนติดตัวแบบปกปิด พวกเขาจะได้รับการฝึกพิเศษ และพวกเขาจะอยู่ในพื้นที่โรงเรียน และคุณก็จะไม่มีเขตปลอดอาวุธอีกต่อไป" ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าว พร้อมให้เหตุผลว่า "สำหรับคนบ้า เพราะพวกเขาเป็นพวกขี้ขลาด" เขตปลอดอาวุธปืนเป็นเหมือนชี้ช่องให้เข้าไปโจมตี
หลายรัฐในสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้พกปืนแบบปกปิดเข้าไปยังพื้นที่โรงเรียนได้ ขณะที่นายทรัมป์เคยปฏิเสธช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2016 ว่าเขาไม่ได้เห็นด้วยกับการอนุญาตให้มีการพกอาวุธปืนในสถานศึกษา

ที่มาของภาพ, AFP
"เราทำให้เด็ก ๆ ผิดหวัง"
ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุกราดยิงบางส่วนสนับสนุนข้อเสนอของทรัมป์ที่จะให้ครูพกอาวุธปืนเพื่อป้องกันเหตุ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย
นายมาร์ค บาร์เด็น ซึ่งบุตรชายของเขาเสียชีวิตในเหตุการณ์กราดยิงที่โรงเรียนในรัฐคอนเนคทิคัตเมื่อปี 2012 กล่าวว่าการเพิ่มจำนวนอาวุธปืนไม่ใช่คำตอบของปัญหานี้
"ตอนนี้ครูในโรงเรียนมีความรับผิดชอบมากเกินพออยู่แล้ว มากเกินกว่าที่จะต้องมีความรับผิดชอบอันน่ากลัวในการใช้อาวุธปลิดชีวิตคนอื่น" นายบาร์เด็นกล่าวและว่า "ไม่มีใครอยากเห็นการยิงกันในโรงเรียน"
นายแอนดรูว์ พอลแล็ค ผู้สูญเสียลูกสาวขาวเขาในเหตุกราดยิงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวว่า "เราในฐานะประเทศทำให้เด็ก ๆ ของเราผิดหวัง"

วัยรุ่นหลายร้อยคนชุมนุมกันหน้าทำเนียบขาวก่อนการพูดคุยครั้งนี้ ขณะที่ผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ยังคงล็อบบี้ให้ฟลอริดาเปลี่ยนกฎหมายควบคุมอาวุธปืน ห้ามไม่ให้มีการขายปืนไรเฟิลจู่โจม
"เราต้องการการปฏิรูปกฎหมายปืน เราต้องกฎหมายที่มีสามัญสำนึก" เดพลานีย์ ทาร์ หนึ่งในผู้ประท้วง กล่าวในการชุมนุมครั้งแรก ซึ่งนำมาสู่การรวมตัวเคลื่อนไหวจำนวนมากทั่วทั้งสหรัฐฯ นับตั้งแต่เหตุกราดยิงที่โรงเรียนในเมืองพาร์คแลนด์ ในรัฐฟลอริดา รวมถึงนักเรียนในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย และเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ที่เดินออกจากห้องเรียนพร้อมกันเพื่อประท้วง

ที่มาของภาพ, Reuters
ผู้มีส่วนในการร่างกฎหมายของรัฐฟลอริดาบางคน กล่าวว่า พวกเขาจะพิจารณาเพิ่มอายุขั้นต่ำในการซื้อปืนไรเฟิลจู่โจม จาก 18 ปี เป็น 21 ปี แต่ปฏิเสธข้อเสนอที่จะให้แบนอาวุธเหล่านี้โดยสิ้นเชิง
การพบปะเพื่อรับฟัง เกิดขึ้น 1 วัน หลังจากนายทรัมป์สั่งให้ฝ่ายบริหารเดินหน้าเพื่อแบน บัมป์สต็อก (bump stock) อุปกรณ์ที่ดัดแปลงให้ปืนไรเฟิลยิงได้เร็วขึ้น และถูกใช้โดยมือปืนในเหตุกราดยิงที่ ลาส เวกัส เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
ขณะที่สมาคมปืนยาวแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นอาร์เอ) ซึ่งสนับสนุนเงินราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 948 ล้านบาท) ในการสนับสนุนให้นายทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง คัดค้านการแบนบัมป์สต็อกครั้งนี้