ส.ศิวรักษ์: ร. 10 คือ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงปิดทองหลังพระ”

คำบรรยายวิดีโอ, ส.ศิวรักษ์ เกิดในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 ในวัย 85 ปี เขาผ่านชีวิตใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีมา 4 พระองค์

"พระมหากษัตริย์ผู้ทรงปิดทองหลังพระ" คือความรู้สึกของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ต่อพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ในวันที่เขารอดพ้นจากข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่ออดีตบูรพกษัตริย์ ภายหลังทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา จนได้รับ "พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม" ยุติคดี 112

"ส.ศิวรักษ์" นักคิดนักพูดฝีปากกล้า ในวัย 85 ปี ผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นฝ่าย "กษัตริย์นิยม" ผ่านชีวิตใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีมา 4 รัชกาล พร้อมการถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในหลายยุคสมัยทางการเมืองถึง 5 ครั้ง

ในช่วงของการปกครองเผด็จการทหารบางยุค สุลักษณ์ถึงกับต้องพาตัวเองออกนอกประเทศ หนีภัยอำนาจที่ใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เล่นงานเขา ขณะเดียวกันเขาคือแกนนำคนสำคัญ ที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในรอบหลายสิบปี จนมาในปี 2561 เป็นอีกครั้งที่ "ปัญญาชนสยาม" ผู้นี้ พูดถึงการปฏิรูปกฎหมายข้อนี้

"พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ท่านทรงมีความยุติธรรม ท่านรู้เรื่องอะไรแล้ว ถ้าถึงพระเนตรพระกรรณ ท่านจะทำสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์สุขของราษฎร" สุลักษณ์ กล่าวกับบีบีซีไทย ที่บ้านพักย่านบางรัก เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่มีตัวเขาและผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าเฝ้าฯ ในวันที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติศักดิ์จากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปลายปีที่แล้ว

เผยนาทีเข้าเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมี

1 ธ.ค. ไม่เพียงเป็นวันเข้ารับพระราชทานปริญญา แต่ตรงกับวันสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เขาจึงเลือกนำไม้ตะพดที่ตกทอดมาจากเจ้านายพระองค์นี้ติดตัวไปในพิธีการสำคัญ

"ผมถือไม้ตะพดสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไปเข้าเฝ้าฯ วันนั้นเจ้าพนักงานบอกผมว่าถือไม้ตะพดเข้าไปไม่ได้ ทุกคนต้องถอดรองเท้า ผมก็ถอดรองเท้าเข้าไป คนอื่นคลานเข้าไปล่วงหน้า 3-4 คน พอถึงผม ผมกราบบังคมทูลฯ ข้าพระพุทธเจ้าฯ ขอพระราชทานพระราชานุญาตไม่หมอบคลาน ถ้าลงคลาน ข้าพระพุทธเจ้าลุกขึ้นไม่ได้…ท่านรับสั่งไม่ต้อง... รับสั่งเรียกผม 'อาจารย์' เลย... อาจารย์ไม่ต้อง" สุลักษณ์เล่า

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรที่ ม.ธรรมศาสตร์ วันที่ 1 ธันวาคม 2560

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, สุลักษณ์เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติศักดิ์จากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2560

หลังจากนั้นพระองค์ทรงรับสั่งเรียกมหาดเล็กนำเก้าอี้ให้สุลักษณ์นั่ง เป็นตอนนั้นเองที่ความแรกของสุลักษณ์ได้ถูกนำขึ้นกราบบังคมทูล

"กราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ตามที่พระราชทานพระราชานุญาตให้พวกจิตอาสากับข้าราชบริพารขุดคูคลองต่าง ๆ นั้น เป็นพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ ไพร่ฟ้าชื่นชมมาก ท่านตรัส 'โอ้ ชอบเหรอ ชอบเหรอ' " สุลักษณ์ถ่ายทอดช่วงเวลาสั้น ๆ ในวันนั้น

พระราชอำนาจในการแนะนำรัฐบาล

ถ้อยคิดหนึ่งที่สุลักษณ์ กล่าวถึงบทเรียนจากคดีทางการเมืองในวันหลุดพ้นจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการแนะนำรัฐบาลได้

"การมีพระมหากษัตริย์เป็นหลักชัยนั้น ย่อมทรงเป็นที่พึ่งของผู้ที่แสวงหาความเป็นธรรมในบ้านเมืองได้" นั่นเป็นหลักการที่เขายืนยันผ่านข้อเขียนบนเพจเฟซบุ๊ก Sulak Sivaraksa หลังอัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้องคดีหมิ่นฯ

"พระองค์ท่านมีพระราชอำนาจที่จะแนะนำรัฐบาลได้ แนะนำแล้ว ไม่เชื่อท่านก็ได้ แต่ก็เคราะห์ดี เขาก็เกรงพระบรมเดชานุภาพ เขาสั่งยุติคดีผม" สุลักษณ์กล่าวกับบีบีซีไทย

พระราชพิธี

ที่มาของภาพ, Getty Images

สุลักษณ์มองว่าแม้คดีของเขายุติลง แต่ตราบใดที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าเขาหรือใครก็ตามย่อมอาจถูกกล่าวหาด้วยกฎหมายนี้ในอนาคต

"นี่เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ทั้ง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อนมีพระราชดำรัสชัดเจนเลยว่า ใครนำคดีเรื่องนี้ เรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้น ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมโทรม และเป็นการทำร้ายพระองค์ท่านเป็นการส่วนตัวด้วย"

เป็นอีกครั้งที่สุลักษณ์ยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อปี 2548 มากล่าวถึงการฟ้องร้องในคดี ม. 112 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายศัตรูทางการเมือง

"ไม่มีใครที่อ้างว่าจงรักภักดี ไม่มีรัฐบาลไหนดำเนินตามพระราชดำรัสอันนี้เลย เพราะกฎหมาย 112 ช่วยรัฐบาล มันไม่ได้ช่วยประชาชน" ส.ศิวรักษ์กล่าวถึงบริบทที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

112 กำราบประชาชน กับข้อเสนอปฏิรูป

จริงอยู่ที่ประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2500 และบังคับใช้ทั้งในยุครัฐบาลพลเรือนและทหาร แต่นักวิจารณ์การเมือง ชี้ว่า กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องจักรกำจัดฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหารด้วย เพราะหนึ่งในข้ออ้างของการก่อรัฐประหารทุกยุคทุกสมัยคือ "เพื่อพิทักษ์ชาติและราชบัลลังก์"

ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุว่า นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารของ คสช. ในปี 2557 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยความผิดอาญา ม. 112 อย่างน้อย 94 ราย

"คุณประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.) เป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก ถ้าคุณจงรักภักดีจริง ๆ คุณต้องแก้ไขมาตรานี้ นี่ไม่แก้ไขอะไรเลย และมาตรานี้เป็นประโยชน์ต่อเผด็จการ เพราะใครก็ตามที่ต่อต้าน คุณเล่นมาตรานี้หมด" สุลักษณ์ กล่าว

"รัฐบาลไม่สนใจ เพื่อความอยู่รอดใครออกมาเคลื่อนไหวจับเลย คุณใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม เผด็จการอย่างนี้ถือว่าเป็นเผด็จการที่เลวร้าย แล้วก็อยู่มาได้ 2-3 ปี ก็อยู่ได้ไม่ไยไพ อันตราย ผมเชื่อเลยว่ามาตรานี้ถ้าไม่แก้ไข ประยุทธ์จะโดนมาตรานี้เล่นงานวันใดวันหนึ่ง ผมเตือนด้วยความหวังดี"

พล.อ.ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

เกี่ยวกับคำกล่าวนี้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกับบีบีซีไทยว่า รัฐบาลบังคับใช้กฎหมาย 112 กับความผิดที่เกิดขึ้นจริง หากมีการละเมิดกฎหมาย ไม่ว่ารัฐบาลประเทศไหนก็ต้องดำเนินการ และเห็นว่า "เป็นเพียงอคติของคนกลุ่มหนึ่งที่มองว่ารัฐบาลใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ เป็นเครื่องมือกับฝ่ายที่ต่อต้าน เพราะกฎหมายนี้ไม่มีใครเลือกใช้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เพียงแต่ในอดีตที่ผ่านมาเชื่อว่ามีการละเลยไม่บังคับใช้"

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณไม่เคยฟ้องร้องบุคคลใดที่กล่าวร้าย จึงต้องมีกฎหมายนี้เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องดูแลปกป้องพระองค์ท่าน

อย่างไรก็ตามบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาคดี 112 อย่างสุลักษณ์ เสนอให้ปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 ด้วยการแก้ไขทบทวนอัตราโทษจำคุกที่อยู่ระหว่าง 3-15 ปี โดยยกเลิกอัตราโทษขั้นต่ำ และมีคณะกรรมการกลั่นกรองความผิดในคดี 112 ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

"ก่อนที่ใครจะนำคดีนี้มาฟ้องตำรวจ ต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการนั้นอาจจะเป็นเลขาธิการสำนักพระราชวังก็ได้ อาจจะเป็นคณะกรรมการตุลาการก็ได้ มีคณะกรรมการได้ตรวจดูว่ามีมูลหรือไม่" สุลักษณ์ กล่าวกับบีบีซีไทย และเห็นว่ามือกฎหมายของรัฐบาล คสช. อย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และหรือสถาบันพระปกเกล้า เหมาะสมที่จะรับงานนี้

อย่างไรก็ตามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ว่า "เรื่องนี้ไม่เคยมี ไม่เคยทำ ไม่เคยเกี่ยว และไม่มีใครมาขอคำปรึกษากับผม แต่หลังจากนี้จะมีใครมาขอคำปรึกษาหรือไม่ ผมไม่ทราบ อดีตและปัจจุบันไม่มี แต่อนาคตไม่รู้"

ที่มา : โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

รัชกาลที่ 10 ทรงหวังดีต่อบ้านเมือง

แต่ข้อหารือเรื่องการปฏิรูป ม. 112 สุลักษณ์ปฏิเสธว่า มิได้มีการกราบบังคมทูลความข้อนี้ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ระหว่างการเข้าเฝ้า

"ผมทูลเกล้าฯ ได้เฉพาะเรื่องของผม ที่ทรงพระมหากรุณาฯ ผมไปก้าวก่ายอะไรมากไม่ได้ เราต้องรู้ว่าท่านเป็นเจ้า เราเป็นไพร่ ไปก้าวก่ายมากมายไปไม่สมควร ผมจะกราบบังคมทูล อะไรพระองค์ท่าน ก็เป็นเรื่องที่ผมกราบบังคมทูล พระองค์ท่าน ไม่สมควรจะมาพูดในที่สาธารณะ ผมต้องรู้ตัว เราต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตัว ไม่ไปก้าวก่าย ไปอวดวิเศษอะไรเป็นที่หมั่นไส้เปล่า ๆ และผมไม่อยากให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทด้วย" สุลักษณ์ กล่าว

ส ศิวรักษ์

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ส.ศิวรักษ์ กล่าวภายหลังอัยการทหารสั่งไม่ฟ้องในคดีหมิ่นสมเด็จพระนเรศวรฯ ว่าเป็นผลมาจากการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ก่อนหน้านี้ สุลักษณ์เคยระบุว่า "เมื่อเรามีพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่แล้ว คำวิพากษ์วิจารณ์จะกลับมา ผมเชื่อว่าพระองค์ท่านคงจะเปิดโอกาสให้คนได้วิพากษ์วิจารณ์ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่เป็นเทวราช หรือสมมติเทพ แต่เป็นคนคนหนึ่ง" (The Momentum, พ.ย. 2559) แต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การลุกขึ้นมาพูดเรื่องแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์คล้ายเป็นเรื่องต้องห้าม เพดานการอภิปรายถูกกดลงจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยข้อหาร้ายแรงว่าไม่จงรักภักดี และเครื่องมือปกป้องสถาบันจะถูกทำลาย

"พระองค์ท่านจะทรงดำเนินพระบรมราโชบายอย่างไร ผมไม่สามารถจะพูดได้ แต่ผมเชื่อว่าพระองค์ท่านทรงหวังดีต่อบ้านเมือง ทรงต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับปรุงต่าง ๆ แต่ขณะเดียวก็ต้องเข้าใจว่าพระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ท่านจะมาทำก้าวก่ายเกินเลยไป เป็นไปได้ยาก แต่ผมเชื่อเลยว่า ทรงมีพระราชวินิจฉัยที่จะแก้ไขปรับปรุงอะไรต่าง ๆ เท่าที่จะทรงทำได้ และผมเชื่อว่าท่านจะทรงทำ แต่พระองค์ก็ต้องประกอบด้วย นอกจากพระมหากรุณาธิคุณด้วยแล้ว ก็ประกอบไปด้วยขันติคุณด้วย" สุลักษณ์ กล่าวกับบีบีซีไทย

ส.ศิวรักษ์

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ส.ศิวรักษ์ ที่บ้านพักในกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจเคยนำหมายมาจับกุมเขาในคดี 112 ณ สถานที่แห่งนี้

สุลักษณ์ กับ "คนรุ่นใหม่"

กว่า 50 ปีก่อน วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ที่มี ส.ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการในยุคหนึ่ง ได้เป็นเวทีก่อกำเนิดเครือข่ายปัญญาชน ส่งอิทธิพลต่อความคิด-ความอ่านจนนำมาสู่ความเคลื่อนไหวของกระบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516

ปัจจุบัน ส.ศิวรักษ์ ก็ยังดำรงบทบาทยืนข้างนักศึกษา สะท้อนผ่าน 3 เหตุการณ์สำคัญ

เหตุการณ์เจ้าหน้าที่บุกจับนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่สวนเงินมีมา สถานที่ในความดูแลของ ส.ศิวรักษ์ เมื่อเดือน มิ.ย. 2558 ครั้งนั้น ปรากฏภาพสุลักษณ์ยืนประจันหน้าแถวกำลังตำรวจหน้า สน.พระราชวัง รอพบ 14 นักศึกษาที่ถูกจับกุม หลังออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร คสช.

ปชต ใหม่

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, หลังรัฐประหารของ คสช. 1 ปี นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เริ่มมีการเคลื่อนไหวในหลายเหตุการณ์ ครั้งนี้เกิดในช่วงเดือน มิ.ย.2558

สองคือ การเป็นผู้ปกครองของนายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากเหตุการณ์ที่เนติวิทย์และเพื่อน ลุกเดินออกจากแถวในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนนิสิตใหม่ของจุฬาฯ ก่อนที่เขาจะถูกลงโทษตัดคะแนนและถูกปลดพ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตฯ

และท้ายสุด คือการเป็นนายประกันให้นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ในคดี 112 จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์บีบีซีไทย โดยสุลักษณ์ประกาศใช้ "เกียรติยศ" ของตัวเอง ยื่นประกันตัวนายจุตภัทร์ ครั้งที่ 6 เมื่อเดือน ก.พ. 2560 แต่นั่นก็เป็นหนึ่งในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด 10 ครั้ง ที่ศาลไม่อนุญาต

"ทรงรู้จักคนรุ่นใหม่"

6 เดือนต่อมา "ไผ่ ดาวดิน" ยอมรับสารภาพ ภายหลังถูกจำกัดอิสรภาพนาน 8 เดือน ศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำพิพากษาลับในวันเดียวกัน ตัดสินจำคุก 5 ปี แต่ลดโทษกึ่งหนึ่ง เนื่องจากรับสารภาพ

"ผมว่าถ้าถึงพระเนตรพระกรรณ ผมเชื่อเลยว่าจะคงทรงมีพระมหากรุณา ผมเชื่อเลย เพราะว่าฟังดูที่ผมเข้าเฝ้าฯ ทรงเป็นห่วงเป็นใยประชาชนพลเมือง ทรงรู้จักคนรุ่นใหม่ ทรงมีพระราชประสงค์จะอุดหนุนคนรุ่นใหม่ เพราะท่านทรงทราบดี บ้านเมืองอนาคตเป็นคนรุ่นใหม่ ไผ่เป็นคนรุ่นใหม่ เนติวิทย์เป็นคนรุ่นใหม่ ท่านมีพระราชประสงค์จะอุดหนุนคนเหล่านี้ ขณะที่คนข้างล่างรังแกคนเหล่านี้" สุลักษณ์ เผยทัศนะของเขาหลังการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

ประท้วงเรียกร้องสิทธิ์ประกันตัว

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, กลุ่มนักกิจกรรมและนักศึกษา ชุมนุมเรียกร้องสิทธิ์การประกันตัวแก่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

"ทรงมีพระราชหฤทัยกว้างขวาง"

ขณะที่ความไม่แน่ชัดถึงวันที่อำนาจจะคืนสู่ประชาชนถูกสื่อสารต่อสาธารณะจากผู้กุมอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ว่าขึ้นอยู่กับ "ปัจจัยพิเศษ-ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้" รวมถึงมีหลายเหตุการณ์ที่ยังเป็นปริศนา อาทิ การหายไปของหมุดคณะราษฎร สุลักษณ์ เห็นว่าเป็นอันตรายที่จะกล่าวอ้างถึงสิ่งที่ไม่สามารถยืนยันได้นี้

"ผมได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูล ทรงมีพระราชหฤทัยกว้างขวาง ไม่เคยโจมตีปรีดี พนมยงค์ ไม่เคยโจมตีคณะราษฎร ไม่เคยรังเกียจประชาธิปไตย... ได้รับฟังพระราชดำรัสแล้ว ท่านรู้มาก รู้ลึก รู้กว้าง ทรงห่วงใยประชาชนพลเมือง ห่วงใยคณะสงฆ์ ห่วงใยประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร น่าทึ่งมาก แล้วพวกนี้ที่อ้างว่าจงรักภักดี พูดจาหลายต่อหลายเรื่อง ปัดสว่ะให้พ้นตัวเองแล้วอ้างเบื้องบน แล้วบางคนก็ไม่รู้ นึกว่าเป็นในหลวง นี่อันตรายมาก พวกนี้อ้างว่าจงรักภักดีได้ยังไง ถ้าจงรักภักดีคุณต้องบอก ทั้งหมดผมรับผิดชอบ เพราะคุณปกครองบ้านเมืองในพระปรมาภิไธย" สุลักษณ์กล่าว

ทหารใหม่ ไล่ ทหารเก่า?

ในภาวะที่บ้านเมืองอยู่ใน "ระยะเปลี่ยนผ่าน" เสถียรภาพและความมั่นคงดูเหมือนจะมีความสำคัญสูงสุด และเชื่อกันว่ากองทัพเท่านั้นจะทำหน้าที่นี้ได้ ไม่ใช่รัฐบาลพลเรือน สุลักษณ์ตั้งคำถามกลับไปว่า "แล้ว คสช. ดูแลบ้านเมืองให้เรียบร้อยจริงหรือไม่"

เขากล่าวอีกว่า ในช่วงแรกของการยึดอำนาจอาจเป็นความจริงเช่นนั้น ยุติการชุมนุมกลางเมือง และชนชั้นกลางก็พึงพอใจ แต่ขณะนี้ "คสช. อยู่ไปก็ไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น" ก่อนเอ่ยถึงกระแสข่าวที่อาจตอกย้ำทฤษฎีความไม่ลงรอยภายในกองทัพระหว่างทหารหนุ่มและทหารแก่

"ไม่ใช่แค่ราษฎรคนธรรมดาเบื่อ แม่ทัพนายกองหลายคนก็คงเบื่อเหมือนกัน เพราะแม่ทัพนายกองดี ๆ ก็มี ไม่ใช่แม่ทัพนายกองจะถูกนายพลเอก 2-3 คนจูงจมูกได้ตลอดเวลา ผมเชื่อเลยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีขึ้นได้"

ทหารอวยพรป๋า

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. นำ ครม. และ ผบ.เหล่าทัพ เข้าอวยพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

ทว่าในทัศนะของ ส.ศิวรักษ์ เขาไม่คิดว่านายทหารหัวก้าวหน้าจะบรรจบกับนักศึกษารุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นการเมืองใหม่ เหมือนเช่นที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในยุค 14 ต.ค. 2516 แต่เขายังมีความหวังว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจากคนกลุ่มนี้

"คนรุ่นใหม่ถึงแม้เขาจะถูกกระทืบถูกถีบยังไง ก็มีความกล้าหาญในจริยธรรม และผมเชื่อในวงการทหารเอง ก็อย่านึกว่าทหารจะซื่อบื้อตามกันไปหมด ผมเชื่อว่าทหารที่รักชาติ รักบ้านรักเมืองมี และผมเชื่อคนเหล่านี้ เขาคงไม่ยอมให้นายพลเอกแก่ ๆ โกงกินกัน ปกป้องพวกเดียวกัน ใช้นาฬิกาเรือนหมื่นเรือนแสนก็ไม่ผิด ใช้แหวนเท่าไหร่ ๆ ก็ได้ ผมเชื่อเลยว่าทหารเหล่านี้เขาเห็นว่าเป็นการเสื่อมเสียกองทัพ เขาต้องทำอะไรสักอย่าง ถ้าเขาทำฉลาด เขาทำอย่างเรียบร้อยก็ไม่เป็นการนองเลือด ผมหวังว่าอย่างนั้น" สุลักษณ์ทิ้งท้าย

ที่มา : ไอลอว์, ประชาไท,บีบีซีไทยรวบรวม