คสช. เตือนกลุ่ม "อยากเลือกตั้ง" อย่าทำผิดกฎหมาย หลังประกาศโรดแมปการเคลื่อนไหว

นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เรียกร้องให้บรรดานักการเมืองเข้ามาร่วมการชุมนุมกับประชาชนเพื่อกดดันให้เกิดการเลือกตั้งภายในปี 2561

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

ในการชุมนุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เรียกร้องให้บรรดานักการเมืองเข้ามาร่วมการชุมนุมกับประชาชนเพื่อกดดันให้เกิดการเลือกตั้งภายในปี 2561

"คสช." เตือนกลุ่มอยากเลือกตั้ง หลังประกาศโรดแมปการเคลื่อนไหว ขออย่าทำผิดกฎหมาย ย้ำเลือกตั้งอยู่ในกรอบโรดแมป หลังกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมที่เรียกตัวเองว่า "คนอยากเลือกตั้ง" เผยถึงแผนโรดแมปการชุมนุมในส่วนภูมิภาคประเดิมที่แรกที่ จ. นครราชสีมา ในวันพรุ่งนี้ (18 ก.พ.) เพื่อเรียกร้องให้ประชาชน นักการเมือง ร่วมกดดันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติการสืบทอดอำนาจ พร้อมจัดการเลือกตั้งภายในปีนี้

พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ในฐานะทีมใคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จัดแลงข่าวแนวทางการเคลื่อนไหวใหญ่ ว่า การที่กลุ่มบุคคลต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว เราต้องพิจารณาว่าเป็นเรื่องอะไร ถ้าเคลื่อนไหวเพราะความเดือดร้อนจากผลกระทบในโครงการรัฐ หรือปัญหาปากท้อง เราต้องพิจารณาเป็นประเด็น แต่ถ้าเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มอยากเลือกตั้งนั้น ทางคสช.ขอทำความเข้าใจว่าเรากำลังดำเนินการไปสู่การเลือกตั้งอยู่แล้ว เพียงแต่รายละเอียดการปฏิบัติต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ดังนั้นขอให้เข้าใจว่าคสช.ต้องการให้ช่วงรอยต่อที่จะได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีความระเบียบเรียบร้อย ไม่มีอุปสรรคใดๆเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อได้

พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการที่จะดูแลกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น คสช.ประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา อะไรก็ตามที่จะทำให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อง คสช.คงไม่ปล่อยปละละเลยเด็ดขาด เราต้องดูแลความสงบสุขของบ้านเมืองเพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม ซึ่งการปฏิบัติแต่ละพื้นที่ แต่ละสถานการณ์ เจ้าหน้าที่ต้องประเมินด้วยการติดตามข้อมูลข่าวสาร การเคลื่อนไหว การเตรียมสถานที่ของผู้ชุมนุม อำนวยความสะดวก และป้องกันผู้ไม่หวังดีเพื่อสร้างสถานการณ์ ดังนั้นขอย้ำว่าเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุม

ภาพการชุมนุม

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

"คสช." เตือนกลุ่มอยากเลือกตั้ง หลังประกาศโรดแมปการเคลื่อนไหว ขออย่าทำผิดกฎหมาย ย้ำเลือกตั้งอยู่ในกรอบโรดแมป

เมื่อถามว่า แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งล้วนถูกข้อหาและแจ้งความดำเนินคดี คสช.จะทำความเข้าใจอย่างไร พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่าเราไม่ได้กลั่นแกล้ง ไม่ได้ลิดรอนสิทธิ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐทำทุกอย่างภายใต้กรอบกฎหมาย ในเมื่อพวกเขารู้ว่าทำผิดกฎหมายก็ต้องรับรู้สิ่งที่จะตามมาด้วยว่าเป็นอย่างไร

"ก่อนจะมีการชุมนุมก็จะมีการเชิญชวนในโชเชียลมีเดีย มีการติดตามต่าง ๆ ทางเจ้าหน้าที่จะประสานงานแจ้งเตือน เราก็ขอร้อง ขอความร่วมมือมาตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ร้องทุกข์กล่าวโทษไปแล้วว่าการชุมนุมนั้นจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทุกคนทราบดี แต่เมื่อไม่ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และอำนาจหน้าที่ พร้อมทั้งยืนยันอีกที่ว่าเราไม่ได้กลั่นแกล้ง ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ์ใด ๆ เราปฏิบัติเหมือนกันทุกคน ทุกกลุ่ม" ทีมโฆษกคสช. กล่าว

เมื่อถามว่า คสช.ประเมินการเคลื่อนไหวกลุ่มนี้อย่างไร มีใครหนุนหลังหรือไม่ พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนช่วยกันสังเกตร่วมกันว่าคนที่มาเคลื่อนไหวเป็นท่านเดิม ๆ และมีคนใหม่ ๆ เข้ามา หรือไม่ ส่วนจะมีใครสนับสนุนหรือไม่ ต้องช่วยกันตรวจสอบ อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่อยากให้บ้านเมืองสงบสุข เพื่อให้เป็นไปตามโรดแมปได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และถึงอย่างไรการเลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้นตามโรดแมปที่วางไว้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และประเทศชาติทั้งสิ้น

นายรังสิมันต์

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

นายรังสิมันต์ ระบุ "คสช. ชอบอ้างกฎหมาย เรามองว่ากฎหมายต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าของอำนาจคือประชาชน.."

นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสมาชิกกลุ่มและเครือข่ายพันธมิตรมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้ความรู้ประชาชนมาโดยตลอด เกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งและสะท้อนให้เห็นว่าระบบ คสช. มีปัญหา ทั้งผ่านสื่อและการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อองค์กรรัฐ แต่ไม่ยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าไม่มีหนทางอื่นที่ประชาชนสามารถยุติการสือทอดอำนาจ คสช. ได้ นอกจากประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ นอกจากการออกมาแสดงพลังทวงสิทธิคืนมา

เขาอธิบายในระหว่างการตั้งโต๊ะแถลงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วง 10.00 น.ที่ผ่านมาว่า การชุมนุมสำคัญ เพราะเป็นช่องทางแสดงออกของประชาชน ในยามที่สังคมไม่มีช่องทางอื่น เช่น ฝ่ายค้านในสภาก็ไม่มี เสรีภาพสื่อก็ไม่มี ซึ่งการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่ม DRG และกลุ่ม START UP PEOPLE โดยระยะแรกจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ถึง พ.ค. (ว่างเว้นเฉพาะเดือน เม.ย.)

นี่คือ ท่าทีล่าสุดของกลุ่มนักศึกษาทั้งสองกลุ่ม โดยยังยืนยันในจุดยืนเดิมคือการเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ที่ถูกพรากไป และเป็นการส่งสัญญาณว่า คสช. ต้องทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ คือต้องจัดการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 61 เปิดทางให้ประชาชนได้ใช้อำนาจของตนเองในการกำหนดทิศทางอนาคตประเทศ และเพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับทุกฝ่าย

นายสิรวิชญ์

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

นายสิรวิชญ์ ระบุว่า มีสองทางเลือกสำหรับประชาชน คือ อยู่ข้างทหาร หรือ ทวงคืนผลประโยชน์ประชาชน

การประกาศเดินหน้าชุมนุมเป็นผลสืบเนื่องมาจากการชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า "หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง" ที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่ม START UP PEOPLE แม้ว่าบรรดาแกนนำจะถูกตั้งข้อหากระทำการยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ การฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 อยู่ในขณะนี้จากการจัดการชุมนุมครั้งล่าสุด

การชุมนุมจะเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง

  • 18 ก.พ. : กลุ่ม Start Up People จะจัดการชุมนุมที่ลานย่าโม ที่ จ. นครราชสีมา เป็นกิจกรรมแรกที่หลังการคิกออฟ โดยเริ่มขึ้นเวลา 17.00 น.
  • 24 ก.พ.: มธ. ท่าพระจันทร์ หน้าหอประชุมเล็ก เวลา 15.00 น.
  • 10 มี.ค.: จะเป็นวันที่จัดกิจกรรมใหญ่อีกครั้ง ส่วนสถานที่และเวลาจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
  • 24 มี.ค.: จัดกิจกรรมสถานที่เวลาจะแจ้งอีกครั้ง ช่วงเย็น

สำหรับในเดือน พ.ค. จะมีกิจกรรมทุกวันเสาร์ โดยจะมีการชุมนุมใหญ่ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ค. โดยจะค้างคืน จนกว่าประชาชนจะได้อำนาจกลับคืนมา เหตุผลที่เลือกเดือนนี้ เพราะเป็นเดือนครบรอบ 4 ปี ของคสช. อย่างไรก็ตาม นายรังสิมันต์ ระบุว่า จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ให้ทราบเกี่ยวกับการชุมนุมทุกครั้ง และคาดว่าจะมีการจัดการชุมนุมให้ครบทุกภูมิภาคในอนาคต

ยินดีต้อนรับทุกสีเสื้อ

นายรังสิมันต์กล่าวยืนยันว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้แบ่งตามแนวคิดทางการเมือง แต่เป็นการต่อสู้เพื่ออนาคตของประเทศ พร้อมทั้งยินดีต้องรับผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง เสื้อทุกสี โดยได้เชิญชวนบรรดานักการเมืองคนอื่นๆ เข้ามาร่วมการแสดงพลังร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตสส. หรือแม้แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกลุ่ม กปปส.

"เราเห็นทุกคนเป็นมนุษย์ เราเคารพทุกจุดยืน ความคิดของทุกสีเสื้อ" นายสิรวิชญ์ สรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า START UP PEOPLE และประชาธิปไตยศึกษา กล่าวเสริมในประเด็นดังกล่าว

ตั้งข้อหาแกนนำกลุ่ม 50 คนไม่สมเหตุผล

ในการแถลงข่าวในวันนี้ กลุ่มนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวยังยืนยันจุดยืนในการชุมนุม และให้ความเห็นต่อการดำเนินการทางคดี ว่าเป็นเรื่องที่ "ไม่สมเหตุผล" หลังมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อสน.สำราญราษฏร์ ต่อการชุมนุมในวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมาให้ดำเนินดคีดกับแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมร่วม 50 คน ตามการตั้งข้อหากระทำการยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ การฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558

นายรังสิมันต์ ระบุว่า การชุมนุมเป็นการติชมโดยสุจริต ไม่ได้สร้างความกระด้างกระเดื่อง จึงไม่เข้าข่าย ม. 116 ใขณะที่ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 นั้นมีไว้เพื่อปกป้อง คสช. เอง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ คสช. ซึ่งขัด รธน.ฉบับปี 2560 เรื่องหลักนิติธรรม ในเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

"คสช. ชอบอ้างกฎหมาย เรามองว่ากฎหมายต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าของอำนาจคือประชาชน ซึ่งกฎหมายของ คสช. ไม่เป็นเช่นนั้น" เขาอธิบาย