สล้าง บุนนาค กับเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลา 2519

สล้าง บุนนาค

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค

ย้อนรอยบทบาทสำคัญของ "เสือใต้" แห่งกรมตำรวจ หลังก่อเหตุอัตวินิบาตกรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก่อนวันครบรอบวันเกิดปีที่ 81 เพียงไม่กี่วัน

พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ คืออดีตนายตำรวจผู้มีบทบาทในการนำกำลังตำรวจล้อมปราบในเหตุนองเลือด 6 ตุลา 2519 และอาสา "กู้ทำเนียบ" คืนจากผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. พนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด ได้รับแจ้งเมื่อเวลา 11.30 น. ว่า เกิดเหตุชายพลัดตกจากชั้น 7 ภายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ก่อนตรวจสอบภายหลังยืนยันได้ว่าชายคนดังกล่าว คือ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค

เว็บไซต์มติชนออนไลน์เผยภาพจากกล้องวงจรปิด ก่อนเกิดเหตุพบว่าผู้เสียชีวิตเดินอยู่บนทางเดินชั้น 7 จากนั้นเดินไปที่กระจกทางกั้น ก่อนปีนข้ามและพลัดตกลงด้านล่างที่บริเวณชั้น 1 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ห้างสรรพสินค้าได้นำตัวส่งโรงพยาบาลชลประทาน ตรวจสอบเอกสารไม่พบเอกสารยืนยันตัวบุคคล แต่พบกระดาษเขียนด้วยลายมือปรากฏข้อความลาตายลงชื่อ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน

จม

ที่มาของภาพ, facebook/ejan2016

คำบรรยายภาพ, จดหมายที่เขียนด้วยลายมือที่ตำรวจพบที่ห้างที่เกิดเหตุ ลงท้ายชื่อ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค

พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค เกิดเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2480 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รับราชการในกรมตำรวจ ดำรงตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ผู้บังคับการตำรวจภูธร 12 ผู้บัญชาการศึกษา ผู้ช่วยอธิบดีตำรวจ และรองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ

ในจดหมายที่เขียนด้วยลายมือที่ตำรวจพบที่ห้างที่เกิดเหตุ ลงท้ายชื่อ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค กล่าวถึงสิ่งที่เขาสื่อสารในระยะหลัง คือ การขนส่งระบบรางที่เขาเสนอแนวคิดให้ใช้รางขนาด 1.435 เมตร คัดค้านระบบรางคู่ขนาด 1.000 เมตร และรถไฟฟ้ายกระดับ ผลักดันสร้างระบบทางด่วน AUTO BAHN รวมถึงการปฏิรูปตำรวจ

สล้าง กับ 6 ตุลาคม 2519

การล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่ง พ.ต.ท. สล้าง (ยศขณะนั้น) ในวัย 39 ปี ดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการ 2 เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการคุมกำลังตำรวจเพื่อรักษาความสงบบริเวณสนามหลวงและหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีกลุ่มประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวเพื่อต่อต้านกลุ่มนักศึกษา ในคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 หลังได้รับคำสั่งจาก พล.ต.ต. สุวิทย์ โสตถิทัต ผู้บังคับการกองปราบปราม

กำลังตำรวจปราบจลาจลหรือคอมมานโด 200 นาย ภายใต้การนำของสล้าง เป็นหนึ่งในสองกำลังหลัก อีกหน่วย คือ ตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน ที่บุกโจมตีธรรมศาสตร์ ร่วมด้วยกำลังตำรวจนครบาลและสันติบาล

40 ปี 6 ตุลา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ถูกระบุว่ายังไม่ได้รับการชำระและเรียนรู้ในพื้นที่สาธารณะของสังคมไทย ไม่มีผู้รับผิดจากการสังหารและทำร้ายนักศึกษา ประชาชน

ทว่าในสายตาของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาในยุคนั้น ได้กล่าวถึงบทบาทของ "สล้าง บุนนาค" ไว้ในบทความชื่อ "ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา" รวบรวมไว้ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง" ว่า "สล้างไม่ได้เป็นเพียงเจ้าพนักงานที่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่เป็นส่วนของการระดมกำลังของฝ่ายขวา เพื่อทำลายขบวนการนักศึกษาและทำรัฐประหาร"

บทความนี้ระบุว่า นอกเหนือจากการนำกำลังตำรวจเข้าปราบปรามนักศึกษาแล้ว สล้าง ยังมีส่วนร่วมในอีกหลายเหตุการณ์ "ขวาพิฆาตซ้าย" เช่น ในช่วงกลางดึกของวันที่ 5 ต.ค.จนถึงวันที่ 6 ต.ค. 2519 เขาเข้าพบอาจารย์ธรรมศาสตร์ 3 คน กลางดึกและนำตัวไปให้ปากคำที่กองปราบฯ เรื่องการแสดงละครการเมืองของนักศึกษา รวมทั้ง การเดินทางไปบ้านของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น โดยไม่มีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา เขานำใบลาออกไปให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ลงนาม และจัดกำลังคุ้มกันพาไปพบผู้นำทหารที่สนามเสือป่า ตลอดจนการสกัดกั้น ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนามบินดอนเมือง

เหตุการณ์สร้างชื่อฉาว ตบหูโทรศัพท์ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ที่ดอนเมือง

บทความชิ้นนี้อ้างด้วยว่า สล้างตบหูโทรศัพท์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนามบินดอนเมือง ทว่า สล้าง บันทึกไว้ใน "กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ที่เกี่ยวข้องกับ ดร.ป๋วย" เผยแพร่ในโอกาสถึงแก่กรรมของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อปี 2542 ว่าได้รับสั่งการจากผู้บังคับการกองปราบฯ ให้รีบไปสนามบินดอนเมืองโดยด่วน "เพื่อป้องกันช่วยเหลือ ดร.ป๋วย ให้รอดพ้นจากการทำร้ายจากกลุ่มประชาชน นวพลและกระทิงแดง"

เขาอธิบายว่าวันนั้นเขา "ปัดโทรศัพท์" จากมือ ดร.ป๋วย และ "กระชากตัว" เพื่อนำเข้าไปในห้องของท่าอากาศยาน" เพื่อตบตากลุ่มประชาชนเข้าใจว่าไม่ใช่พวกเดียวกับ ดร.ป๋วย ซึ่งขัดแย้งกับคำให้การต่อศาลทหารของสล้างในปี 2521 ที่ปฏิเสธว่า "ไม่ได้กระชากโทรศัพท์จาก ดร.ป๋วย" และยอมรับว่าได้กล่าวหาใส่หน้า ดร.ป๋วย ว่า "หนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว"

คำอธิบายชุดนี้ถูกตอบโต้โดยนักวิชาการบางคนและสมศักดิ์ โดยการอ้างความทรงจำของ ดร.ป๋วยและคำบอกเล่าจากบุตรชายว่า พ.ต.ท.สล้าง ได้ตรงเข้ามาจับตัว ดร.ป๋วย ใช้กิริยาหยาบคายตบหูโทรศัพท์ร่วง แล้วบริภาษ ดร.ป๋วย ต่าง ๆ นานา ก่อนที่สมศักดิ์ จะสรุปในบทความว่า การรีบไปดอนเมืองของสล้างนั้นเป็นไปเพื่อ "หวังจะยับยั้งการลี้ภัยของ ดร.ป๋วย อย่างแน่นอน" ภายหลังสล้างได้ฟังการออกข่าวจากยานเกราะ ซึ่งสล้างได้กล่าวข้อเท็จจริงขัดแย้งกันเองว่าเขาไปดอนเมืองเพราะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา

สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมทางการเมือง ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ผ่านทางเฟซบุ๊กหลังการเสียชีวิตของสล้าง บุนนาค ต่อกรณีนี้ที่ได้มีโอกาสพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับสล้างในช่วง 5-6 ปีก่อน โดยสล้างบอกว่าทำไปเพื่อช่วย ดร.ป๋วย "เพราะขณะนั้นหากไม่ทำเช่นนั้น พวกกระทิงแดงคงไม่ยอมปล่อยตัว อ.ป๋วย ไป

ข้าม Facebook โพสต์

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์

6 ศพ ที่ ด่านช้าง

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ส่งให้ พล.ต.อ.สล้าง มีชื่อในฐานะ "เสือใต้" แห่งกรมตำรวจ คือ เหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรม "โจ ด่านช้าง" และพวกรวม 6 คน กลุ่มนักค้ายา เมื่อปี 2539 ซึ่งจับญาติพ่อค้าอาวุธสงครามเป็นตัวประกันภายในบ้านที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี หวังล้างหนี้แค้นที่ตีตัวออกห่าง

พล.ต.อ.สล้าง นั่งเฮลิคอปเตอร์เดินทางไปสั่งการด้วยตัวเอง ประชุมตำรวจชุดปฏิบัติการพร้อมสั่งใช้แนวทางเจรจาจนสามารถจับกุมกลุ่มผู้ก่อเหตุได้ แต่สุดท้ายเกิดการวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายทั้งหมด หลังจากนำตัวไปกลับเข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อค้นอาวุธของกลาง ท่ามกลางชาวบ้านที่มารอดูเหตุการณ์ และผู้สื่อข่าว

ขออาสายึดทำเนียบคืนจากกลุ่มพันธมิตรฯ

ตุลาคม 2551 ในช่วงที่มีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.สล้าง ออกมาสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ควบคุมฝูงชน พร้อมประกาศอาสาเอาทำเนียบคืนจากกลุ่มผู้ชุมนุม รวบรวมตำรวจนอกราชการกว่า 1,000 นาย ตั้งเป็น "กองกำลังกู้ทำเนียบ" และประกาศพร้อมขาย เปิดประมูลทรัพย์สินส่วนตัวเป็นทุนในการยึดคืนทำเนียบ