กองทัพอากาศรับ T-50TH "อินทรีทอง" สองลำแรก ตามแผนเสริมสร้างกำลังของกองทัพ

ต้อนรับเครื่องบิน

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

กองทัพอากาศไทยจัดพิธีต้อนรับเครื่องบินฝึกบิน T-50TH ที่กองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ในวันนี้ (25) โดยเป็นเครื่องบิน 2 ลำแรกจากที่สั่งซื้อทั้งหมด 12 เครื่อง จากบริษัท Korea Aerospace Industries ของเกาหลีใต้ ตามแผนเสริมสร้างกำลังของกองทัพอากาศ

พล.อ.อ. จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีต้อนรับเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50 TH จำนวน 2 เครื่องว่า กองทัพอากาศมีความจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการที่ดีกว่าเดิม เนื่องจากเครื่องบินขับไล่/ฝึก รุ่น L-39 ZA/ART ที่ใช้ฝึกบินนั้นประจำการมาตั้งแต่ปี 2537 และได้ทยอยถูกปลดประจำการไปเพราะเกิดความขัดข้องด้านการส่งกำลังและซ่อมบำรุง ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่เพิ่มขึ้น และล้าสมัย

เอกสารของกองทัพอากาศระบุด้วยว่า "กองทัพอากาศจึงพิจารณาจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50TH ที่มีขีดความสามารถ และมีเทคโนโลยีระบบการฝึกนักบินขับไล่ที่ทันสมัย มีระบบ Embedded Tactical Training System (ETTS) ทำให้การฝึกบินได้อย่างเสมือนจริงและทุกสภาพอากาศ"

เครื่องบิน

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

นอกจากซื้อเครื่องบินแล้ว ทางกองทัพอากาศได้ส่งนักบินจำนวน 6 คน เข้ารับการฝึกบินกับเครื่องบินแบบ T-50 TH ในหลักสูตรครูการบิน และนักบินลองเครื่องบิน ซึ่งทางกองทัพระบุว่าทั้ง 6 คนมีผลการฝึกอบรมอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม และพร้อมปฏิบัติภารกิจกับเครื่องบินรุ่นนี้ทันทีเมื่อมีบรรจุเครื่องเข้าประจำการ

การจัดหาเครื่องบินแบบ T-50TH จำนวน 12 ลำนี้ ในระยะแรกจะมีจำนวน 4 ลำ โดยส่งมอบในวันนี้ 2 ลำ และส่งมอบในเดือนมีนาคมปีนี้อีก 2 ลำ ส่วนในระยะที่ 2 จำนวน 8 ลำ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

"Fighter begins here"

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

พล.อ.อ.จอม กล่าวด้วยว่า "เครื่องบินขับไล่ของเราเป็นระดับท็อปของโลก ประเทศมหาอำนาจยังไม่มี" พร้อมทั้งยังชี้อีกว่า "ขั้นตอนในการตรวจรับของเราละเอียดมาก เพราะเครื่องราคาแพงและใช้ภาษีประชาชน"

ก่อนหน้านี้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงินงบประมาณ 9,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH จำนวน 8 เครื่อง ในวันที่ 11 ก.ค. 2560 ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเสนอมา อันเป็นงบของการซื้อในระยะที่ 2 โดยผูกพันงบประมาณ 4 ปี ระหว่าง พ.ศ.2560-2563 จ่ายงวดแรกเป็นเงินจำนวน 1,800 ล้านบาท งวดที่สอง 2,700 ล้านบาท งวดที่สาม 2,700 ล้านบาท และงวดที่ 4 1,800 ล้านบาท

ส่วนเครื่องบิน 4 ลำแรกนั้น กองทัพอากาศได้ลงนามจัดซื้อเป็นมูลค่า 3,750 ล้านบาทไปแล้วเมื่อปี 2558

จับมือ

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยเพิ่มงบประมาณด้านการทหารเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ซึ่งงบด้านการทหารเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสต็อกโฮล์ม หรือ SIPRI ชี้ว่า งบประมาณทหารไทยเพิ่มจากราว 8.6 หมื่นล้านบาทในปี 2549 เป็น 1.69 แสนล้านบาทในปี 2552 และเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึงราว 2 แสนล้านบาทในปี 2556 ก่อนจะถูกปรับลดลงเล็กน้อย ส่วนงบประมาณในปี 2560 อยู่ที่ราว 2.14 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.4 เท่าในรอบ 12 ปี

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการจัดสรรงบประมาณด้านการทหาร คือ สภาพเศรษฐกิจของโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น กรณีพิพาทเขตแดนในทะเลจีนใต้และจีนตะวันออก ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายประเทศในอาเซียนได้รับแรงกดดันให้ต้องเพิ่มแสนยานุภาพทางทะเลด้วยการเพิ่มงบซื้อ เรือรบ เรือตรวจการณ์ รวมถึงเรือดำน้ำ

ในเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เล่มที่ 2 ระบุว่างบประมาณรายจ่ายของกองทัพอากาศไทยในปี 2561 ได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 26,788,011,800 บาท เพิ่มจาก 25,640,540,200 ของปี 2560 หรือมากกว่าร้อยละ 4 เล็กน้อย เพื่อเสริมในวิสัยทัศน์ "การเป็นกองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค" (One of the Best Air Forces in ASEAN) มีทั้งแผนเตรียมความพร้อม ที่ประกอบด้วย การบริหารจัดการ ฝึกอบรม พัฒนากำลังพล และจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อให้สามารถวางกำลังหน่วยปฏิบัติการในระดับต่าง ๆ ได้อย่างเต็มความสามารถ ขณะที่พันธกิจในยามปกติคือ การเฝ้าตรวจระวังภัยทางอากาศ ซึ่งรวมถึงการควบคุมเส้นทางสัญจรเข้าออกรอบประเทศ ส่วนในยามสงครามก็พร้อมที่จะใช้กำลังทางอากาศในการดำเนินกลยุทธ์ร่วมกับหน่วยกำลังอื่น ๆ

ธงชาติไทย

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ส่วน โกลบอลไฟร์พาวเวอร์ (Global Firepower) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข้อมูลทางด้านการทหารของประเทศต่าง ๆ ในปี 2017 ได้จัดประเทศไทยให้อยู่ในอันดับ 20 ของประเทศที่มีกองทัพอากาศแข็งแกร่งที่สุดในโลก อันเป็นอันดับที่ดีที่สุดของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน โดยมีอินโดนีเซียตามมาในอันดับที่ 30 และเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 34

เพจดังกล่าวยังระบุว่าด้วยว่ากองทัพไทยมีเครื่องบินรบ 76 ลำ เครื่องบินโจมตี 95 ลำ เครื่องบินฝึก 154 ลำ เครื่องชนิดอื่น ๆ อย่างเช่น ขนส่ง และ เฮลิคอปเตอร์รวม 628 ลำ

บทความ Which Military Ranks Southeast Asia's Strongest? ในเว็บไซต์ของวารสาร SEASIA ที่ออกมาในเดือนมกราคม 2560 ระบุว่า เครื่องบินของกองทัพอากาศที่มีอานุภาพน่าเกรงขามที่สุดก็คือ F-16 ที่มีอยู่หลายสิบลำ และยังมีเครื่องบิน JAS-39 กริพเพน รวมทั้ง F-5E กับ อัลฟ่า เจ๊ท อีกหลายลำ นอกจากนี้ก็ยังมีระบบ AWACs ซึ่งเป็นระบบเตือนภัยและควบคุมทางอากาศ รวมทั้ง SaaB 340 AEW เครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนอากาศยานที่เป็นภัยคุกคามจกกสวีเดนสองลำ