1 ธันวา จับตาเปลี่ยนผ่านประเทศ

คำบรรยายวิดีโอ, 1 ธันวา จับตาเปลี่ยนผ่านประเทศ

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังขึ้นมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศถึงความถูกต้องและความเป็นไปได้ของข่าว หลังจากที่สำนักข่าวรอยเตอร์และบีบีซีรายงานเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนโดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูงที่ไม่เปิดเผยชื่อหลายรายว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จขึ้นครองราชย์ในวันที่ 1 ธันวาคมศกนี้ และหลังเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์จะทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ความไม่แน่นอน และความสับสนในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่รัชกาลใหม่ สร้างความฉงนสงสัยให้เหล่าทูตานุทูตนานาชาติในประเทศไทย และยังมีผลให้เกิดการชะลอการลงทุนจากต่างประเทศ ในภาวะที่รัฐบาลของผู้นำรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังต้องการเงินทุนจำนวนมหาศาลจากนานาประเทศมาช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

ที่มาของภาพ, AFP

หลังข่าวการสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 15.52 นาฬิกา แหล่งข่าวไม่เปิดเผยนามในรัฐบาลได้ออกมาให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่า พลเอกประยุทธ์ จะดำเนินการตาม มาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ยังมีผลบังคับอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ว่า

"ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ"

ทว่าเหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามคาด โดย พล.อ.ประยุทธ์ แถลงในคืนวันนั้น หลังการประชุมร่วมระหว่าง คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ทรงรับสั่งระหว่างการเข้าเฝ้าว่า ทรงรับพระราชทานเป็นองค์รัชทายาทอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่ขอเวลาแสดงความเสียใจร่วมกับประชาชนทั้งประเทศไปก่อน ส่วนกระบวนการทางกฎหมายในการอัญเชิญสืบพระราชสมบัตินั้น ให้รอเวลาที่เหมาะสม คือ หลังจากที่พระองค์ทรงทำพระทัย และแสดงความเสียใจร่วมกับประชาชน

พสกนิกรไทยเดินทางมาถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระบรมมหาราชวัง

ที่มาของภาพ, Reuters

การตัดสินพระทัยของพระองค์ ดังคำอ้างอิงของ พลเอกประยุทธ์ แตกต่างจากกระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อ 70 ปีก่อน ภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในช่วงเช้าของวันที่ 9 มิถุนายน 2489

ในช่วงสายของวันนั้น นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี อัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และเชิญคณะรัฐมนตรี มาประชุมเกี่ยวกับเรื่องการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยที่ประชุมสรุปว่าให้ออกแถลงการณ์แจ้งให้ประชาชนทราบว่า การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นอุบัติเหตุ ต่อมาใน เวลา 21.00 น. รัฐบาลเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการด่วน เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการสวรรคต และสรรหาผู้สืบราชสมบัติ

ที่ประชุมได้ลงมติถวายราชสมบัติให้แก่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นสืบราชสมบัติ เป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" และ นายปรีดี ได้ประกาศการ "ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์" ใน ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ ในวันเดียวกัน และอีก 2 เดือนต่อมา ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงโลซานน์ ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2489

ในการเปลี่ยนผ่านในปัจจุบัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อภายหลังเสร็จสิ้นพิธีสรงน้ำพระบรมศพ ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ว่า การตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นไป"ตามโบราณราชนิติประเพณี เดินไปตามกฎมณเฑียรบาล และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

"เรื่องที่ท่านรับสั่งเองว่าขอเวลาให้ท่านทำพระทัยร่วมกับประชาชนชาวไทย คนไทยวิปโยคอย่างไรท่านก็วิปโยคอย่างนั้น อาจจะมากยิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำไปเพราะท่านเป็นลูกย่อมมีความผูกพัน"

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในโลก

ที่มาของภาพ, Reuters

นักเศรษฐศาสตร์การเมืองในกรุงลอนดอนรายหนึ่ง ผู้ไม่ยอมเปิดเผยชื่อ เนื่องจากเกรงกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่า ถ้าข่าวการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นความจริง จะช่วยลบกระแสข่าวลือที่ว่าด้วยเรื่องความขัดแย้งทางอำนาจในหมู่ชนชั้นสูง และจะช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน ซึ่งจะช่วยสร้างความมีเสถียรภาพทางการเมืองในระยะสั้น ได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีทหารมีบทบาททางการเมืองมากกว่านักการเมืองพลเรือน แต่การถือครองอำนาจในระยะยาวของทหาร ก็อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับพรรคการเมืองและประชาชนได้ในอนาคต

"บรรดานักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในไทยมานานอาจรู้สึกสบายใจขึ้นที่เห็นการสืบสันตติวงศ์เป็นไปอย่างราบรื่น แต่นักลงทุนอีกจำนวนมากอาจจะถือนโยบาย wait and see ต่อไปอีกระยะ เพื่อให้มั่นใจกับการเปลี่ยนผ่านของรัชกาลใหม่"

ทว่า นอกเหนือจากข่าวที่สื่อต่างประเทศรายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายนว่าอีกสองสัปดาห์ที่จะถึงนี้พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลกล้ายืนยันข่าวนี้อย่างเป็นทางการ แม้ผู้แทนสถานทูตหลายแห่งสอบถามไปที่กระทรวงต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ ยืนยันหรือปฏิเสธข่าวนี้

"เรายังไม่ได้รับคำตอบจากกระทรวงต่างประเทศว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม" เอกอัครราชทูตจากกลุ่มประเทศยุโรปแห่งหนึ่งกล่าวกับ บีบีซีไทย

"ยิ่งปล่อยให้ความคลุมเครือแบบนี้เกิดขึ้นนานออกไป ยิ่งไม่เป็นผลดีต่ออนาคตประเทศไทย"

บีบีซีไทยได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถแสดงความเห็นในเรื่องนี้ได้

Grey line

มุมมองเศรษฐกิจ :อัมพิกา อาฮูยา นักวิเคราะห์บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมือง Eurasia Group

รัฐบาลได้ออกมาตรการการใช้จ่ายภาครัฐรอบใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและ สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ในภาวะทางยอดการส่งออกของประเทศยังไม่แข็งแรงและการชะลอตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557

มาตรการช่วยเหลือชาวนารอบใหม่ มูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท ที่ ครม. อนุมัติเมื่อ วันที่ 1 พ.ย. มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของชาวนาที่มีสัดส่วนถึง 40 %ของประชากรของประเทศ ที่กำลังเผชิญภาวะราคาข้าวตกต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และถือเป็นก้าวย่างที่ชาญฉลาดของรัฐบาลทหาร นอกจากลดภาระหนี้สินของชาวนาแล้ว ยังช่วยลดกระแสการต่อต้านทหารในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นการสร้างการประชาสัมพันธ์ของรัฐที่ดีว่า รัฐบาลที่มีจากการรัฐประหาร คำนึงถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเช่นกัน แต่ในระยะยาว นโยบายนี้จะไม่เป็นผลดีต่อวินัยการคลังสาธารณะไม่ได้แก้ปัญหาทางโครงสร้างของเศรษฐกิจไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลักได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ ครม ยังได้อนุมัติงบ 5.5 หมื่นล้านบาท เพื่อการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ 3 สาย ในขณะที่โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคของรัฐบาลหลายโครงการ เผชิญกับความล่าช้า รัฐบาลทหารชุดนี้หวังว่า โครงการรถไฟหลายสายจะช่วยกระตุ้นความนิยมทางการเมือง และการลงทุนภาครัฐให้มากขึ้น

ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก

ที่มาของภาพ, Reuters

มุมมองการเมือง : ดร. คาร์โล โบนูรา อาจารย์อาวุโสภาควิชาการเมืองและการศึกษาระหว่างประเทศ SOAS

การเมืองไทยในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา

ในภาวะที่กองทัพมีอำนาจทางการเมืองล้นฟ้าในปัจจุบัน เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่าจะใช้เวลานานเท่าไรกว่า ประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตย หรือ จะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในรูปแบบใด

จุดประสงค์หลักของร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดคือ การปรับโครงสร้าง วางกลไกป้องกันเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จ ในระบบรัฐสภาประชาธิปไตย สร้างรูปแบบการปกครองแบบพลเรือนบนกลไกประชาธิปไตยเพื่อสกัดกั้นอำนาจของรัฐบาลพลเรือนในอนาคต ทฤษฎีจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าผู้นำทหารในรัฐบาลปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลพลเรือนในอนาคต

เมื่อมองจากการสลับกันขึ้นสู่อำนาจของผู้นำพลเรือนเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จกับการแทรกแซงของกองทัพในรอบ 15 ปี ที่ผ่านมา อีกทั้งการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองในรอบ 12 ปี ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ จึงเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะเห็นประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองที่เป็นประชาธิปไตยได้ในเร็ววัน