เหล้า-ทัศนคติชายเป็นใหญ่ ตัวการให้ชายไทยทำร้ายคู่ครอง

การใช้ความรุนแรงต่อสตรีเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งโลก องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้วันที่ 25 พ.ย. เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลเพื่อรณรงค์ให้ตระหนักถึงปัญหานี้

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้หญิง 1 ใน 3 ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศ สำหรับไทย ผลสำรวจล่าสุดของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพบข้อมูลที่น่ากังวล ระบุ 44% ของชายไทย ยอมรับว่าเคยทำร้ายร่างกายภรรยาหรือแฟนเมื่อโมโห และเมาสุรา

คำบรรยายวิดีโอ, 44% ของชายไทย ยอมรับว่าเคยทำร้ายร่างกายภรรยาหรือแฟนเมื่อโมโห

นายอำนาจ แป้นประเสริฐ หนึ่งในผู้ที่เคยใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและได้กลายมาเป็นนักรณรงค์แก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ปัจจัยที่นำไปสู่ความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างหนึ่งมาจากของมึนเมาที่เป็นตัวกระตุ้น นอกจากนี้ ผู้ชายไทยหลายคนยังมีทัศนคติ "ชายเป็นใหญ่" โดยคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของภรรยาหรือแฟน และจะทำอย่างไรกับพวกเธอก็ได้

นายอำนาจ เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อ 10 ปีก่อน หลังจากที่ภรรยาขอหย่าเนื่องจากทนพฤติกรรมความรุนแรงไม่ไหวว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้เขาหันมามองปัญหานี้ใหม่ ทั้งความกังวลว่าลูก ๆ จะมีพฤติกรรมเลียนแบบในด้านความรุนแรง ทำให้เขาตัดสินใจขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง

นายอำนาจ มองว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงสามารถเริ่มได้ในทุกระดับของสังคม โดยที่ผ่านมาเขาจัดกิจกรรมรณรงค์และสร้างพื้นที่ปลอดภัยโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งทำงานกับร้านค้าเพื่อให้ปฎิบัติตามกฎหมายการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเข้าไปทำความเข้าใจและความรู้กับผู้ที่ใช้ความรุนแรงและผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ เขายังเสนอให้คนในชุมชนช่วย "เป็นหูเป็นตา" หากพบเห็นความรุนแรงในครอบครัว และสื่อไทยก็ควรปรับปรุงการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงต่อสตรีว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ผู้กระทำความรุนแรงควรถูกประณามและถูกลงโทษ

ล่าสุด นายอำนาจ ร่วมกับเครือข่ายผู้ชายลดละเลิกเหล้าหยุดความรุนแรง เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย. เพื่อเสนอให้ พม.รณรงค์ให้ผู้ชายปรับทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นรากของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ผลสำรวจชี้ชายไทยเกือบครึ่งทำร้ายภรรยาหรือแฟน

ผลสำรวจต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัวประจำปี 2559

ที่มาของภาพ, PA

FactBox (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก)

  • ความรุนแรงต่อผู้หญิงที่มาจากการกระทำของคนรักหรือความรุนแรงทางเพศ เป็นปัญหาหลักด้านสุขภาพและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงทั่วโลก
  • ผู้หญิงทั่วโลก 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 35% เคยประสบกับความรุนแรงทางด้านร่างกายและทางเพศด้วยตัวเอง จากคู่ครองคนสนิท
  • ตัวเลขจากทั่วโลกระบุว่า คดีฆาตกรรมผู้หญิงกว่า 38% เกิดจากน้ำมือของผู้ชายที่ใกล้ชิด
  • ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงต่อผู้หญิง ได้แก่ ภาวะการศึกษาต่ำ การดูแลที่ไม่ดีในวัยเด็กหรือประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัว การดื่มแอลกอฮอล์ และทัศนคติที่ยอมรับเรื่องความรุนแรงและความไม่เท่าเทียมทางเพศ
  • ในสังคมที่มีรายได้สูง การรณรงค์ด้านนี้ในโรงเรียนจะช่วยป้องกันความรุนแรงที่เกิดจากความสัมพันธ์ในช่วงวัยรุ่นได้
  • ขณะที่สังคมที่มีรายได้ต่ำ ปัจจัยที่มีส่วนช่วยลดเหตุการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง ได้แก่ กลยุทธ์ที่จะช่วยเพิ่มรายได้และยกสถานะทางสังคมของผู้หญิง เช่น โครงการเปิดให้กู้ยืมเงินที่มาพร้อมกับการอบรมด้านความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึง โครงการรณรงค์ภายในชุมชนด้านความเท่าเทียมทางเพศและทักษะการใช้ชีวิตคู่