50 ปี อาเซียน: มองอนาคตกับลมการเมืองที่พลิกผัน

การประชุมอาเซียนในปี 2017

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

  • Author, รวี วงศ์วารี
  • Role, ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย

8 สิงหาคม 2510 ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ ลงนามก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ในภาวะภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่แบ่งขั้วชัดเจน ระหว่างโลกเสรีทุนนิยมที่มีสหรัฐฯ และยุโรปเป็นผู้นำกับโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตและจีน

หลังการก่อตั้ง อาเซียนเข้าข้างสหรัฐฯ และโลกเสรีและดำเนินวิถีทางทุกอย่างเพื่อต่อต้านโลกคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขันจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามเย็น จักรวรรดิโซเวียตล่มสลาย ประเทศคอมนิวนิสต์อย่างจีน เวียดนามและลาว จำต้องละทิ้งความเป็นสังคมนิยมและหันมาเป็นมิตรกับโลกเสรี ปรับตัวเองให้เข้ากับกระแสโลกาภิวัฒน์และระเบียบโลกใหม่ในเวลานั้น จนกระทั่งประสบความสำเร็จอย่างมากในปัจจุบัน

จีน vs อเมริกา

จีนกลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างมากและกำลังสร้างแสนยานุภาพทางทหารอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสหรัฐฯ รู้สึกว่าจีนกำลังจะกลายเป็นภัยคุกคามความยิ่งใหญ่ของตัวเองหนักข้อขึ้นทุกวัน ในขณะที่จีนก็มองว่าสหรัฐฯ กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางความเติบโตก้าวหน้าของจีน

ครึ่งศตวรรษผ่านไป โลกดูจะกลายเป็นการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่จะเกิดขึ้นในลักษณะและบริบทที่แตกต่างจากเดิม

เปิดกว้างรับเพื่อนใหม่

อาเซียนปรับตัวเพื่อให้ได้ประโยชน์จากกระบวนการโลกาภิวัฒน์ไม่น้อย ยอมรับประเทศที่เคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตอย่างเวียดนาม ลาว และประเทศที่มีปัญหาในประเทศมากมาย เช่น พม่าและกัมพูชาเข้ามาเป็นสมาชิก ละทิ้งความขัดแย้งและแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง เปิดเสรีทางเศรษฐกิจเข้าหากันมากขึ้น แม้นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งไม่ยอมรับว่านั่นเป็นการผนึกประสานในความหมายที่แท้จริงก็ตาม แต่ก็ปรากฎว่ากลุ่มอาเซียนเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งในทางเศรษฐกิจและกายภาพ

สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน บอกกับนักข่าวที่มะนิลา ในระหว่างการปาถกฐาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อาเซียนได้อาศัยแรงส่งจากกระบวนการโลกาภิวัฒน์จนประสบความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจอย่างน่าประทับใจ

กว่าครึ่งของประชากร 620 ล้านคนใน 10 ประเทศอาเซียนเป็นชนชั้นกลางที่มีความมั่งคั่ง ขนาดเศรษฐกิจของ 10 ชาติอาเซียนรวมกันได้ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าการค้ารวมกันได้ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่กลุ่มอาเซียนมีมากถึง 1.3-1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

โลกหมุนกลับ?

แต่สถานการณ์และสภาพแวดล้อมในการเมืองระหว่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลง กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์และแนวทางแบบพหุนิยมเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแนวคิดทุนเสรี

"ประเทศอาเซียนสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่เป็นแกนกลางของโลกาภิวัฒน์อย่างมากมาย จนกระทั่งหลายประเทศที่อยู่ในแกนกลางเหล่านั้นเริ่มรู้สึกว่าพวกเขากำลังจะตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในเกมนี้เสียแล้ว" อดีต รมว. ต่างประเทศของไทยตั้งข้อสังเกต

"พวกเขากำลังจะเริ่มเขียนกฎเกณฑ์ใหม่อีกครั้ง"

ผู้นำประเทศ จี 7 ในการประชุมเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผู้นำประเทศ จี 7 ในการประชุมเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

สองตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ การก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และการลงประชามติแยกตัวจากสภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร สะท้อนให้เห็นว่า ลัทธิเอกภาคนิยม (unilateralism) ก่อตัวขึ้นเพื่อตีโต้ลัทธิพหุนิยม (unilateralism) ที่กลุ่มอาเซียนยึดถือมาหลังจากสงครามเย็น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประเทศในตะวันตกปกป้องตลาดตัวเองมากขึ้น ถอนตัวจากระบบการค้าและพหุภาคีและพยายามดึงเงินทุนกลับหรือไม่ปล่อยออกมาในภูมิภาคนี้อีก

แบ่งแยกแล้วปกครอง?

ส่วนจีน ซึ่งได้ประโยชน์จากกระบวนการโลกาภิวัฒน์และระบบพหุภาคีไม่น้อย และเคยแสดงให้เห็นว่าได้ให้ความเชื่อถือและไว้วางใจอาเซียนเสมอมา ดูเหมือนว่ากำลังแยกสลายเอกภาพของ 10 ชาติอาเซียน ด้วยการกระชับสัมพันธ์กับประเทศในแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ลาว กัมพูชา และไทย เพื่อหาพวกใน กรณีพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ที่จีนพิพาทอยู่กับ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ บรูไน

ปรากฏการณ์ที่กัมพูชาล็อบบี้ชาติอื่นในอาเซียนแทนจีนเพื่อให้ตัดเรื่องปัญหาทะเลจีนใต้ออกจากแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในช่วงสุดสัปดาห์นี้สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนได้เป็นอย่างดี

ทะเลจีนใต้

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ทะเลจีนใต้

ไมเคิล วาติคิโอติส ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ Center for Human Dialogue กล่าวในการสัมมนาอาเซียนอีกเวทีหนึ่งในมะนิลาว่า กรอบความร่วมมือต่างๆของอาเซียนที่เคยรวมเอาบรรดามหาอำนาจสำคัญของโลกไม่ว่าสหรัฐฯ จีน ยุโรป รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย เข้ามาอยู่ด้วยกันไม่ว่าจะเป็น Asean Regional Forum - ARF หรือ East Asia Summit ถูกสั่นคลอนอย่างหนักเมื่อราวๆ 6-7 ปีที่ผ่านมา หลังจากจีนและสหรัฐฯ แข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น

อดีตมิตร ไม่ชิดใกล้

สหรัฐฯ ตอบสนองต่อ "การเติบใหญ่อย่างสันติ" ของจีนด้วยการเคลื่อนกำลังทหารมาอยู่ในเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น ตั้งแต่สมัยรัฐบาลโอบามา เป็นต้นมา ด้านจีนได้ทุ่มทรัพยากรสร้างและขยายแสนยานุภาพในทะเลจีนใต้อย่างชัดแจ้ง การสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้เพื่อประโยชน์ทางทหารนั้นท้าทายต่อสหรัฐฯ โดยตรง

ธงอาเซียน สหรัฐฯ

ที่มาของภาพ, Getty Images

วาติคิโอติสเห็นว่า อาเซียนแสดงความเป็นฝักเป็นใฝ่ออกมาโดยชัดแจ้ง ระหว่างฝ่ายที่โน้มเอียงไปหาสหรัฐฯ กับฝ่ายที่โน้มเอียงไปหาจีน จารีตเรื่องฉันทามติถูกละเมิดและท้าทายครั้งแล้วครั้งเล่า

"หลักการที่ว่าอาเซียนจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาคกำลังถูกมหาอำนาจทั้งสองโยกคลอน"

ทร แถลงซื้อเรือดำน้ำ

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

เขาเสริมว่า ในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้คือ ไทย และ กัมพูชา แสดงความใกล้ชิดในทางทหารกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ กัมพูชาละเว้นการซ้อมรบกับสหรัฐฯ หันไปซ้อมกับจีนแทน ในขณะที่ไทยไม่เพียงทำการซ้อมรบหากยังซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เศรษฐกิจของลาวแทบจะถูกดูดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจีนแล้วในเวลานี้ ส่วนพม่านั้น ความพยายามของออง ซาน ซู จี ที่จะฝ่าวงล้อมของจีนที่รัฐบาลทหารในอดีตทำไว้ยังไม่สำเร็จ

เวลาเปลี่ยน ใจเปลี่ยน

ในส่วนของฟิลิปปินส์นั้น เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็นประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ก็เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ เก็บคำพิพากษาศาลประจำอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในเรื่องทะเลจีนใต้ใส่ลิ้นชัก แสดงท่าทีไม่แยแสสหรัฐฯ และหันไปร่วมมือกับจีนในการแสวงหาผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกันมากขึ้น

ระหว่างการประชุม รมว.ตปท.อาเซียน เมื่อสัปดาห์ก่อนในมะนิลา อาลัน ปีเตอร์ คาเยตาโน รมว.ตปท.ฟิลิปปินส์ บอกกับนักข่าวว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ยังคงเข้มแข็งอยู่ แต่เขาก็พูดอีกด้วยว่าจะเป็นการฉลาดกว่า ถ้าหากสหรัฐฯ จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องปัญหาทะเลจีนใต้ระหว่างจีนและฟิลิปปินส์

ดูเตอร์เต

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระหว่างการหารือกับประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ ที่กรุงมะนิลา ซึ่งเป็นการหารือนอกรอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560

"ก็คงจะไม่เหมาะสมเท่าไหร่ ถ้าเราจะถามว่า ในฐานะที่เป็นพันธมิตรกัน สหรัฐฯ ก็น่าจะทำอะไรให้ฟิลิปปินส์มากกว่านี้ เพราะเราร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับคุณมาตั้งหลายศึกแล้ว" คาเยตาโน กล่าว และเสริมว่า นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะหาดุลยภาพระหว่างนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระของฟิลิปปินส์กับความเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ และจารีตแห่งฉันทามติและเอกภาพของอาเซียน

ธงประเทศอาเซียน

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ยืนเด่น โดยท้าทาย

ด้าน ดร.สุรินทร์เสนอว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ อาเซียนในวัย 50 ปีจะต้องยืนหยัดในแนวทางพหุนิยมต่อไป และมองหาแนวทางที่จะใช้ทรัพยากรภายในกลุ่มให้มากขึ้นแทนที่จะไปมองหาหรือพึ่งพิงภายนอกอย่างที่ผ่านๆ มา ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ ดร.สุรินทร์นำเสนอคือ เพิ่มวงเงินจากเงินสำรองของประเทศต่าง เข้าไปในกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนเพื่อนำไปใช้ในการสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพิงจากภายนอก ซึ่งในเวลานี้ ส่วนใหญ่กำลังใช้เงินจีนกัน

อาเซียน 10 ประเทศมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันมากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าทุกประเทศสมาชิกเพิ่มวงเงินเข้าไปในกองทุนสักเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินสำรองก็จะทำให้กองทุนนี้มีขนาดถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แทนที่เป็นแค่ 483 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน

โมเดลรถไฟจีน

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, โครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ที่รัฐบาล คสช.ตั้งต้นเจรจามาตั้งแต่ปี 2557 สิ้นสุดลงเหลือแค่เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา โดยรัฐบาลประกาศว่าไทยจะลงทุนเองทั้งหมด

"ถ้ามีกองทุนที่ขนาดใหญ่เพียงนั้นกลุ่มอาเซียนก็สร้างถนน และรางรถไฟเชื่อมหากันได้โดยไม่ติดขัด" เขาเสนอไว้

อาเซียนอยู่รอดปลอดภัยและเติบโตมาได้ 50 ปีเพราะยืดหยุ่นและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ สุรินทร์ว่าปัญหาและความท้าทายนับต่อจากนี้ไปอีก 50 ปีข้างหน้าก็นับว่าหนักหนาอยู่ไม่น้อย

"สิ่งที่จะทำให้อาเซียนอยู่รอดต่อไปได้ คือยึดมั่นกับความเป็นประชาคม สร้างนวัตกรรม และรับมือกับแรงปะทะจากมหาอำนาจภายนอกด้วยความสมานฉันท์และความกล้าหาญ พึ่งพิงทรัพยากรของตนเองให้มากที่สุด" อดีต เลขาธิการอาเซียน เสนอไว้ให้พิจารณา