เพิ่มเติม : “ราคา” ที่ไทยต้อง “จ่าย” ก่อนนายกฯ ไปอเมริกา

คำบรรยายวิดีโอ, เกาหลีเหนือ "ขู่" อเมริกา มากระทบไทย

ตุลาคม 2560 คือ ห้วงเวลาที่หัวหน้าคณะรัฐประหารของไทย มั่นใจว่า จะได้ไปเยือน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งประเทศเสรีประชาธิปไตย แต่กว่าจะถึงวันนั้น ไทยต้องทำอะไรให้ "ลุงแซม" บ้าง เพื่อให้ "ลุงตู่" ได้ไปเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการและสมภาคภูมิ

กว่าสามปี หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่ระดับ "รัฐมนตรีว่าการ" คนแรกของสหรัฐฯ ที่มาเยือนไทย โดยใช้เวลาในกรุงเทพฯ เพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น ก่อนมุ่งหน้าต่อไปยังมาเลเซีย

ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในวันที่ 8 ส.ค. มีกำหนดการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ในเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้

"กระชับสัมพันธ์"

รัฐบาลไทยอธิบายการเยือนครั้งนี้ และ การหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยในวันนี้ (8 ส.ค.) ว่า เป็น "การตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ" ทว่า ในสายตาของสื่อระดับโลกแล้ว นี่คือ การหาเสียง หาพวกจากอเมริกาเพื่อสกัดกั้นการขยายแสนยานุภาพนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

สหรัฐอเมริกาเข้าใจความประสงค์ของรัฐบาลทหารของไทยว่า ต้องการเห็นการเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการของหัวหน้าคณะรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรี เกิดขึ้นโดยเร็ว ภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกหูหารือกับ พล.อ. ประยุทธ์ เมื่อ เม.ย. ที่ผ่านมา ทว่าความพยายามของฝ่ายไทยที่อยากให้เกิดขึ้นในเดือน ก.ค. กลับไม่เกิดขึ้น

ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ตุลานี้?

ก่อนการหารือกับนายทิลเลอร์สันในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า การเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ จะเกิดได้ในเดือน ต.ค. นี้

ทว่า หลังการหารือสองฝ่าย พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายทิลเลอร์สัน "หวังว่าจะได้มีโอกาสต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในเร็ว ๆ นี้ โดยขณะนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังหารือถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม"

"ช่วงเวลาที่เหมาะสม" ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ในขณะที่ ทางสหรัฐอเมริกา ต้องการให้ความสัมพันธ์กับประเทศไทยมี "ความหมายในเชิงยุทธศาสตร์" มากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของอเมริกาในขณะนี้คือ หาเพื่อนปิดล้อมเกาหลีเหนือ

ที่ประชุมยูเอ็น

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, สหประชาชาติ ผ่านมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือครั้งใหม่เมื่อต้นเดือน ส.ค. มุ่งให้ตัดลดรายได้จากการส่งออกของเกาหลีเหนือที่มีถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

ตัดท่อน้ำเลี้ยง

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานตรงกันว่า สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยตัดท่อน้ำเลี้ยงทางการเงินของเกาหลีเหนือด้วยการปราบปรามบริษัทหลายแห่งของเกาหลีเหนือที่ใช้ไทยเป็นศูนย์ในการทำการค้าผ่านธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นบังหน้า

เอเอฟพี อ้างข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศของไทยว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยและเกาหลีเหนือระหว่างปี 2552-2557 เติบโตขึ้นเกือบ 3 เท่า เป็นมูลค่า 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 4.3 พันล้านบาท

สินค้า 5 อันดับแรก ที่ไทยส่งออกไปเกาหลีเหนือ

ม.ค. - มิ.ย. 2560

  • 5.5 ล้านบาท เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน

  • 5 ล้านบาท รองเท้าและชิ้นส่วน

  • 2.4 ล้านบาท เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน

  • 2.3 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ยาง

  • 1.8 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ

Getty Images

สินค้า 5 อันดับแรกที่ไทยนำเข้าจากเกาหลีเหนือ

ม.ค. - มิ.ย. 2560

  • 3.9 ล้านบาท ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

  • 1.5 ล้านบาท เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน

  • 9 แสนบาท เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน

  • 8 แสนบาท เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

  • 7 แสนบาท เคมีภัณฑ์

Getty Images

ซูซาน ธอร์นตัน รักษาการหัวหน้าของฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก ของกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐฯ พูดเรื่องนี้กับนักข่าวที่ร่วมเดินทางมาในเครื่องบินลำเดียวกับนายทิลเลอร์สันว่า สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยปิดกิจการเหล่านี้

เอเอฟพี รายงานด้วยว่าสหรัฐฯ ต้องการให้รัฐบาลไทยเพิ่มกฎเกณฑ์การออกวีซ่าแก่ชาวเกาหลีเหนือที่เข้ามาในไทย รวมทั้งสกัดกั้นการดำเนินงานของสถานทูตเกาหลีเหนือในกรุงเทพฯ ด้วย

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังต้องการให้ไทยอนุญาตให้ผู้อพยพจากเกาหลีเหนือผ่านเข้ามาประเทศไทย เพื่อลี้ภัยไปเกาหลีใต้ได้มากขึ้น

ทว่า พล.ท.วีรชน รองโฆษกรัฐบาล ซึ่งทำหน้าที่ล่ามของ พล.อ. ประยุทธ์ในการหารือด้วย ปฏิเสธว่าไม่มีการหารือเรื่องนี้ระหว่างการพูดคุยของ พล.อ.ประยุทธ์ และ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, ข้อหารือด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทย คุยกับ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ คือ การดึงนักลงทุนสหรัฐฯ เข้ามายังโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

"ไทยพร้อม"

พล.ท.วีรชน แถลงต่อผู้สื่อข่าว หลังการหารือว่า ในประเด็นสำคัญในภูมิภาคและของโลก เช่น ประเด็นทะเลจีนใต้ และสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี "ไทยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุน และเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะคลี่คลายสถานการณ์เพื่อความสันติสุขในภูมิภาค รวมทั้งปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ" โดย ไม่ได้อธิบายรายละเอียด

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของรัฐบาลไทย กล่าวว่า สหรัฐฯ ได้เสนอข้อเรียกร้องเรื่องให้สกัดกั้นบริษัทเกาหลีเหนือในไทยจริง แต่ไทยต้องขอดูเงื่อนไขว่า ตรงกับ มติของสหประชาชาติหรือไม่

"เราต้องดูว่า คำร้องขอ ถูกต้องตามมติสหประชาชาติหรือไม่ บริษัทเหล่านี้ มีไม่ถึง 10 บริษัทในไทย และจ้างงานคนไทยน้อยมาก " แหล่งข่าวรายนี้กล่าว

สิทธิบัตรยา

นอกจากเรื่องเกาหลีเหนือแล้ว ประเด็นสิทธิบัตรยา ก็เป็นอีกเรื่องที่สร้างความกังวลแก่ภาคประชาสังคม

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนหรือ FTA Watch แสดงความกังวลว่าการหารือครั้งนี้ จะนำไปสู่การเร่งรัดให้มีการอนุมัติสิทธิบัตรยาของต่างประเทศที่ตกค้างกว่า 3,000 ฉบับ ซึ่งเรื่องสิทธิบัตรยา เป็นหนึ่งในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่บริษัทผู้ผลิตยาต่างประเทศกดดันไทยมาตลอด

ยา

ที่มาของภาพ, Getty Images

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch แถลงว่า รัฐบาล คสช.อาจใช้เครื่องมือ มาตรา 44 แก้ปัญหาความล่าช้านี้ "เพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนทางการเมืองให้ คสช.ได้รับการยอมรับระหว่างประเทศมากขึ้นจนอาจละเลยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย"

แต่ในจำนวนร้อยละ 84 ของสิทธิบัตรยาที่ถูกขอ FTA Watch ระบุว่า เป็นคำขอที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ยาใหม่ ซึ่งหากไม่พิจารณาคัดกรอง จะส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องใช้ยาแพง ต้นทุนการรักษาพยาบาลย่อมเพิ่มสูงขึ้น

ข้อกังวลของภาคประชาสังคมมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อประเด็นการหารือวันนี้ รัฐบาลไทยได้หยิบยกผลงานการแก้ปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่พัฒนาขึ้นในหลาย ๆ ด้าน มาโชว์สหรัฐฯ แสดงให้เห็นความแข็งขันจริงจังเพื่อแลกกับการปรับสถานะของไทย ดังที่ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการหารือวันนี้ ว่า ไทยได้ฝากให้สหรัฐฯ พิจารณาทบทวนสถานะของไทยที่ขณะนี้ถูกขึ้นบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (Priority Watch List)