ก.ตปท.สหรัฐฯ อนุมัติขายขีปนาวุธ แก่ไทย มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท

ขีปนาวุธแบบยิงขึ้นจากพื้นสู่อากาศ ฮาร์พูน

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, กองทัพเรือเกาหลีใต้ยิงขีปนาวุธฮาร์พูน จากเรือพิฆาตหยางมานชุน ระหว่างซ้อมรบร่วมกับกองทัพอากาศในทะเลตะวันออกเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯแถลง วันนี้ (10 ส.ค.) ว่า เห็นชอบแผนเบื้องต้น สำหรับการขายขีปนาวุธ ฮาร์พูน บล็อค ทูว์ รุ่น RGM-84L มูลค่า 24.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (828 ล้านบาท) ตามที่รัฐบาลไทยร้องขอ

ในแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลไทยได้ยื่นความจำนง ขอซื้อขีปนาวุธดังกล่าวจำนวน 5 ลูก และขีปนาวุธซ้อมยิง ฮาร์พูน บล็อค ทูว์ 1 ลูก ซึ่งจะรวมถึงอุปกรณ์บรรจุ อะไหล่ การซ่อมบำรุง และเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบ รวมถึงคู่มือ เอกสารทางเทคนิค การฝึกฝนบุคลากร และอุปกรณ์สำหรับฝึกซ้อม โดยรัฐบาลสหรัฐฯ และตัวแทนจากบริษัทคู่สัญญา จะเป็นผู้ให้บริการด้านวิศวกรรม ความช่วยเหลือเชิงเทคนิค การขนส่ง และการสนับสนุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้วย

นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว. ตปท. สหรัฐฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว. ตปท. สหรัฐฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา

แถลงการณ์ระบุว่าข้อเสนอขายครั้งนี้ จะเอื้อประโยชน์ให้กับการดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยจะเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างทั้งสองประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านความมั่นคงแก่พันธมิตรที่สำคัญ และเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการป้องกันเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ

ประเทศไทยมีแผนจะนำขีปนาวุธไปติดตั้งบนเรือฟริเกต DW3000 ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพในการปกป้องแนวเขตทางทะเลที่สำคัญ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเคยซื้อขีปนาวุธฮาร์พูน มาแล้ว และจะไม่ประสบปัญหาในการนำขีปนาวุธที่ซื้อใหม่ไปเข้าประจำการในกองทัพ

ขีปนาวุธแบบยิงขึ้นจากพื้นสู่อากาศ ฮาร์พูน

ที่มาของภาพ, Boeing Defense, Space & Security

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ระบุว่า การเสนอขายอาวุธครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อสมดุลทางการทหารในภูมิภาค โดย บริษัทโบอิง เป็นคู่สัญญาภาคเอกชน จากเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี

หากการซื้อขายเป็นไปตามแผน จะมีการส่งเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลสหรัฐฯ และตัวแทนของบริษัทคู่สัญญา ไปยังประเทศไทย เพื่อประเมินงานด้านเทคนิค ให้การสนับสนุน และดูแลทั่วไปเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปีด้วย โดยจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อความพร้อมด้านกลาโหมของสหรัฐฯ แต่อย่างใด

ขีปนาวุธแบบยิงขึ้นจากพื้นสู่อากาศ ฮาร์พูน

ที่มาของภาพ, Boeing Defense, Space & Security

เอกสารระบุด้วยว่า การยื่นขอคำรับรองจากรัฐสภา ถือเป็นขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายสหรัฐฯ และไม่ถือเป็นข้อสรุปของการซื้อขาย