ทำเนียบขาวเลื่อนวัน ประยุทธ์ หารือ ทรัมป์ ให้เร็วขึ้น

คำบรรยายวิดีโอ, พัฒนาการท่าทีสหรัฐฯ ต่อไทยหลัง 3 ปี รัฐประหาร

ทำเนียบขาวมีแถลงการณ์แก้ไขเกี่ยวกับวันที่ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะพบหารือกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากวันที่ 3 ต.ค. ที่ทำเนียบขาวเป็นวันที่ 2 แทน ขณะที่กำหนดจะเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของนายกรัฐมนตรีของไทยตามคำเชิญของผู้นำสหรัฐ ฯ คือระหว่างวันที่ 2 - 4 ต.ค.นี้

แถลงการณ์ล่าสุดของทางการสหรัฐฯ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยจะเข้าพบหารือกับประธานาธิบดีของสหรัฐฯในวันที่ 2 ต.ค. ไม่ใช่ในวันที่ 3 ต.ค. ตามที่เคยมีการออกแถลงการณ์ไปแล้วก่อนหน้านี้

ปธน.ทรัมป์ กับประยุทธ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

"ผู้นำทั้งสองชาติจะหาหรือแนวทางในการสร้างความเข้มแข็ง และขยายความสัมพันธ์แบบทวิภาคี และพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก" แถลงการณ์ที่เผยแพร่ในวันที่ 28 ก.ย. (ตามเวลาท้องถิ่น)

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 2 - 4 ต.ค. นี้นายกรัฐมนตรีของไทยมีกำหนดการเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้บริหารระดับสูงของไทยร่วมเดินทาง เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

สำหรับประเด็นหารือ ได้แก่ ความร่วมมือทั้งด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสถานการณ์ในระดับภูมิภาค

นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว. ตปท. สหรัฐฯ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว. ตปท. สหรัฐฯ เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ส.ค. และเป็นเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีว่าการคนแรกของรัฐบาลอเมริกันที่มาเยือนไทยหลังรัฐประหาร 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯค่อข้างเย็นชาภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อ พ.ค. 2557 สหรัฐฯระงับเงินช่วยเหลือทางทหาร ปรับลดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยจากบัญชีที่ 2 ที่ต้องจับตามอง (เทียร์ ทู วอทช์ลิสต์)ในปี 2556 มาเป็น บัญชีประเภท 3 (เทียร์ 3) ในปี 2557 และ 2558 ก่อนยกระดับกลับมาสู่บัญชีที่ 2 ที่ต้องจับตามอง ในปี 2559 และ 2560 เทียร์ 2.5 เป็นระดับเทียร์ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด

หวังกดดันไทย ต่อวิกฤตคาบสมุทรเกาหลี

อย่างไรก็ตาม นโยบายของสหรัฐฯ ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงภายหลังจากนายทรัมป์ เป็นผู้นำของประเทศ โดยเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ได้โทรหาพล.อ. ประยุทธ์ เอ่ยปากเชิญมาเยือนกรุงวอชิงตันในครั้งนั้น ก็เพื่อกระชับสัมพันธ์และขอการสนับสนุนในศึกพิพาทกับเกาหลีเหนือ

ในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับคาบสมุทรเกาหลี สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานตรงกันก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐฯ มีความต้องการให้ไทยตัดท่อน้ำเลี้ยงทางการเงินของเกาหลีเหนือด้วยการปราบปรามบริษัทหลายแห่งของเกาหลีเหนือที่ใช้ไทยเป็นศูนย์ในการทำการค้าผ่านธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นบังหน้า ซึ่งเอเอฟพี อ้างข้อมูลจากระทรวงต่างประเทศของไทยว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยและเกาหลีเหนือระหว่างปี 2552-2557 ยังคงเติบโตขึ้นเกือบ 3 เท่า เป็นมูลค่า 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 4.3 พันล้านบาท

หากพล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปสหรัฐฯ จะถือเป็นผู้นำอาเซียนคนที่ 3 ที่เข้าพบประธานาธิบดีทรัมป์ หลังจากนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม ในปีนี้ และจะมีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือซึ่งตอนนี้ยังทำ ในสงครามน้ำลาย ระหว่างกัน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายทรัมป์ ได้ขู่เกาหลีเหนือผ่านข้อความทางทวิตเตอร์ว่า "เพิ่งได้ยินเรื่องที่รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือพูดในที่ประชุมยูเอ็น หากคำพูดของเขาสะท้อนความคิดของมนุษย์จรวดน้อย พวกเขาคงอยู่ได้อีกไม่นาน!"

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์

คาดปรับดุลการค้า ผสานความร่วมมือทางทหาร

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อทางด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน ระหว่างไทยและสหรัฐฯ คือ การที่สหรัฐฯ ขาดทุนการค้ากับไทย โดยในครึ่งแรกของปีนี้ ไทยมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯในครึ่งแรกของปี 2560 ลดลงมาที่ 4.82 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากยอด 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

เรื่องนี้เป็นประเด็นร้อน เมื่อ มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งพิเศษ เพื่อดำเนินการตรวจสอบการขาดดุลการค้ากับ ไทย และอีก 15 ประเทศ โดยในปี 2559 ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐราว 1.89 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ

การฝึกซ้อมทางทหารคอบร้าโกลด์ประจำปีระดับพหุภาคีในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ย้ำความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างไทยและสหรัฐฯ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, การฝึกซ้อมทางทหารคอบร้าโกลด์ประจำปีระดับพหุภาคีในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ย้ำความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างไทยและสหรัฐฯ

ในเรื่องดังกล่าว ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ทำการศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ภายใตการนำของกระทรวงพาณิชย์และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง

ที่ปรึกษาระดับสูงด้านความมั่นคงของรัฐบาลไทย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะให้แนวทางการทหาร เช่น การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในการช่วยในการลดปัญหาการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศได้

นับการรัฐประหารในปี 2549 การค้าขายอาวุธระหว่างไทย-สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 960 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการซื้อ เฮลิคอปเตอร์ UH60 แบล็กฮอร์ค จากสหรัฐฯ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นับการรัฐประหารในปี 2549 การค้าขายอาวุธระหว่างไทย-สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 960 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการซื้อ เฮลิคอปเตอร์ UH60 แบล็กฮอร์ค จากสหรัฐฯ

รายงานข่าวของบีบีซีไทยเรื่อง "ทิลเลอร์สันเยือนไทย: เรา กับ เขา หวัง อะไรกัน" ได้รวบรวมข้อมูลการซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้ว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 การค้าขายอาวุธระหว่างไทยและสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 960 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ประกอบไปด้วย เฮลิคอปเตอร์ UH60 แบล็กฮอว์ค, ฮ.UH 72 ลาโกตา, ขีปนาวุธ ESSM, ปรับปรุงเครื่องบิน F-16, เรือเอนกประสงค์และตอปิโด

แม้แต่ตอนเกิดรัฐประหารแล้วมีการตัดความช่วยทางทหารส่วนหนึ่งและสมัยโอบามาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างหนัก สถานทูตสหรัฐฯ ให้ข้อมูลว่า หลังปี 2557 สหรัฐฯ ขายยุทโธปกรณ์ให้ทหารไทยผ่าน Foreign Military Sale (FMS) มีมูลค่ามากถึง 380 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เฉพาะปีนี้ ไทยและสหรัฐฯ ทำความตกลงซื้อขายอาวุธกันไปแล้วมูลค่าถึง 133 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ รวมทั้ง ขีปนาวุธ Harpoon Block II และเฮลิคอปเตอร์แบลกฮอว์คที่อยากจะได้มาเพิ่มเติมเป็นมานาน นี่ยังไม่พูดถึงแผนใหม่ล่าสุดที่จะปรับปรุงเครื่องบินรบเอฟ 5 อีกด้วย

อะไรคือ ปฏิกิริยาตอบโตสหรัฐฯ ต่อไทยหลังรัฐประหาร

  • หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557: นำไปสู่การทบทวนความร่วมมือทางการทหารระหว่างไทย-สหรัฐฯ ตามคำเปิดเผยของโฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ทั้งการซ้อมรบร่วมทางทะเล CARAT 2014, คอบร้า โกล์ด, การระงับเงินช่วยเหลือทางทหาร ราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เพราะตามกฎหมายสหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศใดๆ ที่กองทัพก่อรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
  • 20 มิ.ย. 2557: สหรัฐฯ แถลงรายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ประจำปี 2557 จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยปรับลดระดับการค้ามนุษย์ของไทยที่เคยอยู่ในระดับเทียร์ 2.5 เป็นระดับเทียร์ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของไทย ทั้งประมง สิ่งทอ ทั้งการส่งออก และการนำเข้า
  • 24 มิ.ย. 2557: ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เชิญเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เข้าพบ เพื่อทำความเข้าใจทุกแง่มุม สหรัฐฯ รับปากสานต่อความร่วมมือทางการทหาร เช่น การฝึกซ้อมรบร่วมและผสม
  • 26 ม.ค. 2558: นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว.ต่างประเทศ (ขณะนั้น), ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ โดยตั้งคำถามถึงการคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึก นอกจากนี้ยังไปกล่าวปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่ากรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง "อาจเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง"
  • 27 ม.ค. 2558: นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ (ขณะนั้น) เรียกนายแพทริค เมอร์ฟี่ อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เข้าพบ เพื่อแสดงความกังวลใจต่อการแทรกแซงการเมืองภายในไทย