85 ปี รัฐธรรมนูญไทย เมื่อไหร่จะหยุดรัฐประหารได้

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ที่มาของภาพ, Getty Images

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกาศใช้แล้ว ถือเป็นฉบับที่ 20 นับแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. 2475

ด้วยอายุเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งอยู่ที่เพียงฉบับละ 4 ปีเศษ ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดจะอยู่ได้นานแค่ไหน มีโอกาสจะเป็น "ฉบับสุดท้าย" ที่มีอายุยาวนานเช่นเดียวกฎหมายสูงสุดของนานาอารยประเทศหรือไม่

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญไทยมีอายุค่อนข้างสั้น ก็คือการรัฐประหารของกองทัพซึ่งถือเป็นผู้เล่นสำคัญบนเกมกระดานอำนาจของเมืองไทยมาอย่างช้านาน

รัฐประหารปี 2557

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, รัฐประหารปี 2557

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มองว่า ไม่มีใครตอบได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีอายุยืนยาวแค่ไหน เพราะถ้าดูตัวอย่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้รับการยอมรับทั้งในส่วนของเนื้อหาและกระบวนการ สุดท้ายก็ยังเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากไปกำหนดให้อำนาจกับฝ่ายการเมืองมากเกินไป จนก่อให้เกิดวิกฤตในที่สุด

"แต่ผมก็ยังหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ น่าจะเป็นฉบับสุดท้าย จากข้อดีทั้งการผ่านความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ และการกำหนดให้มีกระบวนการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเรื่องแค่ระหว่างตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการปฏิรูปประเทศที่เกิดขึ้น ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้"

นายคำนูณ กล่าวว่าการออกแบบกลไกเพื่อป้องกันปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ให้อำนาจการเมืองตกอยู่กับนักการเมืองทั้งหมด กีดกันฝ่ายอื่นๆ ออกไป จะช่วยป้องกันรัฐประหารในระยะสั้นได้ โดยการกำหนดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ที่ให้ผู้นำเหล่าทัพเข้ามาเป็น สมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ทำให้ภาคราชการโดยเฉพาะทหาร เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินผ่านทางรัฐสภา

รัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ถูกยกเลิกตอนคสช.ประกาศยึดอำนาจ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, รัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ถูกยกเลิกตอนคสช.ประกาศยึดอำนาจ

ด้าน รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช กล่าวว่า ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นฉบับสุดท้าย เนื่องจากรัฐธรรมนูญของไทยขาดความเป็นสถาบัน ประชาชนไม่รู้สึกหวงแหน เห็นได้จากเกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อใด ก็มักถูกฉีกทิ้งทุกครั้งไป ต่อให้กองทัพเข้ามาปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขามองว่าคงจะทำได้เฉพาะช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ที่ ส.ว.ทั้งหมดยังมาจากการแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และอำนาจของกองทัพยังเข้มแข็งเท่านั้น

"แต่พอพ้น 5 ปีนี้ไป ผมเชื่อว่าจะเริ่มมีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญนี้ ที่เขียนไว้เพื่อทำให้รัฐราชการเข้มแข็ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยและกระแสโลกาภิวัตน์"

สำหรับโอกาสเกิดรัฐประหารในอนาคต รศ.ยุทธพร มองว่า เป็นไปได้เสมอ ตราบใดที่กองทัพและศาล ในฐานะผู้ถืออาวุธและกฎหมาย ยังไม่ได้รับการปฏิรูปอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกองทัพที่ถือเรื่องระบบอาวุโสและรุ่นเป็นหลัก ทำให้ยากที่นายทหารซึ่งมีหัวคิดก้าวหน้าจะขึ้นมามีตำแหน่งสูง ๆ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
คำบรรยายภาพ, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดก่อนประกาศใช้

ขณะที่ รศ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากมองในเชิงประวัติศาสตร์ เขาไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นฉบับสุดท้าย เนื่องจากปัญหาของตัวรัฐธรรมนูญเอง ทั้งในส่วนของเนื้อหาที่มีจุดบกพร่องหลายอย่าง และการกำหนดให้แก้ไขได้ยาก ก็เป็นการเปิดช่องให้ถูกฉีกในอนาคตด้วยการรัฐประหารของกองทัพอยู่แล้ว

"ที่ให้ผู้นำเหล่าทัพมาเป็น ส.ว.ชุดแรก ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันอะไร เพราะเวลาจะรัฐประหาร ผู้นำเหล่าทัพเขาไม่ได้สนรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เมื่อปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในขณะที่ตัวเองก็ยังเป็น ส.ส.ประเภท 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง"

นักประวัติศาสตร์รายนี้มองว่า เหตุการณ์ในอดีตบอกเราว่า การจะรัฐประหารหรือไม่ เป็นอำนาจตามอำเภอใจของชนชั้นนำ รัฐธรรมนูญป้องกันไม่ได้ เขาจึงไม่เชื่อว่าฉบับนี้จะเป็นฉบับสุดท้าย และไม่เชื่อว่าจะไม่เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก

สถิติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทย

การเมืองเรื่องตัวเลข

  • นับแต่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ให้สถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่วันที่ 24 มิ.ย.2475 ก็มีการประกาศใช้กฎหมายสูงสุดที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" ในประเทศไทยมาแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ แบ่งเป็นรัฐธรรมนูญ "ฉบับถาวร" 11 ฉบับ และ "ฉบับชั่วคราว" (ที่บางครั้งเรียกว่าธรรมนูญการปกครอง) อีก 8 ฉบับ
  • ประเทศไทยเคยมีการรัฐประหารมาแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดย 9 ครั้งได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นทั้งฉบับ มีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น ได้แก่การรัฐประหารโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในปี พ.ศ.2476. โดย พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ในปี พ.ศ.2476, โดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ในปี พ.ศ.2491 และโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ.2500 ที่ไม่มีการประกาศยกเลิก
  • กฎหมายสูงสุดของไทย ที่มีระยะเวลาใช้บังคับสั้นที่สุด คือ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ใช้บังคับระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.2475 - 10 ธ.ค.2475 รวมระยะเวลาเพียง 5 เดือน 13 วัน ก่อนถูกยกเลิกเมื่อมีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม" ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของประเทศ
  • กฎหมายสูงสุดของไทย ที่มีระยะเวลาใช้บังคับยาวนานที่สุด คือ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม" โดยใช้บังคับระหว่างวันที่ 10 ธ.ค.2475 - 9 พ.ค.2489 รวมระยะเวลา 13 ปี 4 เดือน 29 วัน โดยถูกยกเลิกเนื่องจากมีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489"