คสช.ออกคำสั่งยกเลิก 3 องค์กร-ระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำ

ปฏิรูปประเทศ, ยุบ 3 องค์กร, คำสั่ง คสช.

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, คำสั่งของ คสช.ระบุว่าจำเป็นต้องยุบองค์กรที่มีความซ้ำซ้อน เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 71/2559 เรื่องการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค.) ซึ่งจะส่งผลให้คณะกรรมการของทั้ง 3 องค์กรต้องยุติบทบาทลง

เนื้อหาในคำสั่งของ คสช.ระบุว่าองค์กรดังกล่าวได้ชะลอการดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง และขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการดำเนินการเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และการประกาศใช้บังคับของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งต่อไปจะต้องมีการจัดตั้งองค์กรใหม่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับองค์กรดังกล่าว จึงจำเป็นต้องยกเลิกองค์กรเดิมทั้ง 3 องค์กรไป เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อนกัน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมที่ทำเนียบรัฐบาลวันนี้ (14 ธ.ค.) โดยระบุว่า คณะกรรมการใน 2 หน่วยงานแรก ได้แก่ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสภาพัฒนาการเมือง ครบวาระไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่หน่วยงานที่ 3 คือ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ก็ครบวาระเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งหลังจากนี้จะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปออกมา โดยมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปเกี่ยวกับการเมืองอยู่ด้วย จึงไม่ควรให้มีหน่วยงานซ้ำซ้อนกัน แต่ในส่วนของสำนักงานยังคงอยู่ และให้ข้าราชการทำงานต่อไป

พ.ร.บ.แร่, คำสั่ง คสช., ผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ

ที่มาของภาพ, AP

คำบรรยายภาพ, คสช.ออกคำสั่งที่ 72/2559 เพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกิจการเหมืองแร่ทองคำ

รองนายกรัฐมนตรีระบุว่าขณะนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ แสดงความจำนงมาขอบุคลากรไปทำงาน ซึ่งจะต้องมีการจัดสรรต่อไป โดยทั้ง 3 องค์กรมีบุคลากรประมาณ 400 คน โดยคนที่เป็นข้าราชการจะได้อยู่ทำงานต่อไป และจะเลือกให้ได้ทำงานต่อในหน่วยงานที่ใกล้ที่ทำงานเดิมและตรงตามความสามารถ โดยคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อข้าราชการ ยกเว้นพนักงานอัตราจ้างที่จ้างเป็นรายปี

วันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษายังได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ อันเป็นผลจากการร้องเรียนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในบางพื้นที่ โดยคำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าวระบุว่าผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำจะต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป

ส่วนคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ต้องระงับการอนุญาตให้สำรวจหรือทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ขณะที่ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตามที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เหมืองแร่ทองคำ, คำสั่ง คสช.

ที่มาของภาพ, AP

คำบรรยายภาพ, ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในไทยจะต้องยุติการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป

คำสั่งดังกล่าวเป็นแนวทางหนึ่งของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ แต่ประชาชนบางส่วนยังคงมองว่าปัญหาเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำอาจเกิดขึ้นใหม่ได้อีกในอนาคต

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รายงานอ้างอิงนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานของกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม เครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งจัดเวทีวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยนายเลิศศักดิ์ระบุว่าร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ซึ่งจะนำมาใช้แทน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 อาจเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะขอมีสิทธิในที่ดินที่เป็นพื้นที่เหมืองแร่เพื่อลดทอนความล่าช้าและขั้นตอนในการขอใช้พื้นที่จากกฎหมายฉบับอื่น เช่น กฎหมายป่าไม้ หรือกฎหมายอุทยาน

ร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับดังกล่าวผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. และคาดว่าจะถูกบังคับใช้ภายในเวลา 30-60 วัน ซึ่งเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะเปิดโอกาสให้ กพร.สามารถแบ่งพื้นที่เหมืองแร่และประกาศให้เอกชนสัมปทานได้เลย ทั้งยังจะช่วยลดขั้นตอนการขออนุมัติประทานบัตร จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 310 วัน ลดเหลือ 100 - 150 วัน เพื่อเอื้อต่อการลงทุนด้วย