ยูเอ็นกังวลร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของไทย เป็นภัยต่อเสรีภาพในโลกออนไลน์

ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พลเมืองต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์, OpSingleGateway, Anonymous

ที่มาของภาพ, @BlackPlans

คำบรรยายภาพ, กลุ่มพลเมืองต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์เผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์ระบุว่าเป็นผู้โจมตีเว็บไซต์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

กลุ่มต่อต้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์โจมตีเว็บไซต์หน่วยงานรัฐบาลไทย ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (OHCHR) เกรงว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจเป็นภัยต่อเสรีภาพในโลกออนไลน์

เว็บไซต์หน่วยงานรัฐบาลจำนวนหนึ่งประสบปัญหาระบบล่ม ช่วงบ่ายวันนี้ (19 ธ.ค.) ภายหลังจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ตประกาศว่าจะทำสงครามไซเบอร์กับรัฐบาลไทย เพื่อต่อต้านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไข ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งลงมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มนักกิจกรรมได้เรียกร้องให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตร่วมกันโจมตีระบบเว็บไซต์ต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อกดดันให้รัฐบาลชะลอหรือทบทวนกระบวนการผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้

กลุ่มพลเมืองต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ เผยแพร่ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก OpSingleGateway ระบุว่าการระดมโจมตีเว็บไซต์กระทรวงกลาโหมและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยช่วงบ่ายที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จด้วยดี ทำให้ระบบของเว็บไซต์ดังกล่าวล่มไปชั่วขณะ ส่วนมติชนออนไลน์รายงานว่าเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สํานักนายกรัฐมนตรี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ล่มในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยคาดว่าจะเกิดจากการโจมตีระบบของกลุ่มผู้ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เช่นกัน

ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พลเมืองต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์, OpSingleGateway, Anonymous

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เครือข่ายพลเมืองเน็ต, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รวมถึง OHCHR เกรงว่าร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะเป็นภัยต่อเสรีภาพของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ด้านสปริงนิวส์รายงานอ้างอิง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าขณะนี้ยังไม่มีการเจาะระบบเว็บไซต์ใดๆ ทั้งสิ้นของหน่วยงานรัฐ ทั้งยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา และอยากจะฝากถึงกลุ่มดังกล่าวว่า ไม่ควรสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้น และให้ระวังตัวไว้

ส่วนเจ้าหน้าที่กองงานโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th ยังใช้งานได้และระบบรับส่งข้อมูลยังเป็นปกติ และไม่พบการเข้าใช้เว็บไซต์รัฐบาลมากจนผิดปกติแต่อย่างใด แต่จากการทดสอบเข้าระบบของบีบีซีไทยพบว่ามีบางช่วงที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าวได้ ก่อนที่เว็บไซต์ทั้งหมดจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติในช่วงค่ำ

ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พลเมืองต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์, OpSingleGateway, Anonymous

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลไม่สามารถเข้าถึงได้ในบางช่วงวันนี้ (19 ธ.ค.)

ขณะเดียวกัน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) ส่งจดหมายถึง สนช.วันนี้ เพื่อแสดงความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยระบุว่ากฎหมายดังกล่าวอาจจะเป็นภัยต่อเสรีภาพในโลกออนไลน์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับรองว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลไซเบอร์ทั้งหมดจะต้องได้มาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากล

เนื้อหาในจดหมายของ OHCHR ยังกังวลด้วยว่าร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้รัฐบาลไทยออกคำสั่งไปยังผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือไอเอสพี ให้เก็บข้อมูลจราจรหรือข้อมูลการใช้งานอินเตอร์เน็ตของผู้ใช้บริการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตศาล และผู้ให้บริการจะได้รับโทษในคดีอาญาร่วมกับผู้ผลิตหรือผู้เผยแพร่เนื้อหาต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งยังระบุบทลงโทษจำคุกสูงสุด 5 และปรับเงินแก่ผู้กระทำความผิดในข้อหานำเข้าข้อมูลบิดเบือนลงในระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตีความหรือบังคับใช้กฎหมายได้อย่างกว้างขวางเกินไป

ขณะที่คณะกรรมการปกป้องสื่อระหว่างประเทศ (CPJ) ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนด้านสิทธิและเสรีภาพสื่อ ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของไทยฉบับนี้เช่นกัน โดยระบุว่าเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจทำให้การปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวโดยทั่วไปของสื่อออนไลน์กลายเป็นความผิดในคดีอาญา เพราะที่ผ่านมากฎหมายคอมพิวเตอร์ของไทยมักจะถูกนำไปใช้ในการควบคุมเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยอ้างว่าเป็นการปกป้องความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคงของประเทศชาติ