2016 Highlights: ความยุติธรรมของไทยบนฐานความเชื่อว่า "คนไม่เท่ากัน"

2016 Highlights: ความยุติธรรมของไทยบนฐานความเชื่อว่า "คนไม่เท่ากัน"

ศ.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และอดีตแกนนำนักศึกษายุค 6 ตุลา ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยในวาระครบรอบ 40 ปี การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ถูกระบุว่ายังไม่ได้รับการชำระและเรียนรู้ในพื้นที่สาธารณะของสังคมไทย ไม่มีผู้รับผิดจากการสังหารและทำร้ายนักศึกษาและประชาชนที่รวมตัวกันประท้วงการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางออกนอกประเทศ หลังเกิดการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ศ.ธงชัยพูดถึงแนวคิดเรื่องความยุติธรรมและหลักนิติธรรมในสังคมไทย ซึ่งอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับความยุติธรรมในแบบสากล โดยเขาเสนอแนวคิดว่า แม้ในทางสากล "สิทธิ" นั้นหมายถึงสิ่งที่ทุกคนมีอยู่เท่ากัน แต่รากฐานของสังคมไทยนั้นสิทธิหมายถึง "อำนาจ" ซึ่งคนมีอยู่ไม่เท่ากัน การคืนความยุติธรรมอาจไม่ได้หมายถึงการคืนความเป็นธรรมแต่เป็นการกลับคืนสู่ "ภาวะปกติ" ตามฐานความเชื่อแบบพุทธ ซึ่งนั่นหมายถึงการคืนสู่ภาวะของสังคมที่มีลำดับชั้น ทุกคนมีสิทธิอยู่ไม่เท่าเทียมกัน

ในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษา บีบีซีไทยถามความเห็นของ ศ.ธงชัยถึงความเหมือนและต่างของสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขในการต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในไทยเมื่อ 40 ปี ก่อนกับปัจจุบัน เขาปฏิเสธที่จะตอบเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลว่าเขาไม่ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมรุ่นนี้มากพอ และคิดว่าไม่เป็นธรรมต่อคนรุ่นนี้หากจะนำฐานประสบการณ์ส่วนตัวของเขาเมื่อ 40 ปีก่อนมาชี้วัด เพราะเขาเชื่อว่าเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไป

เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 ราย และถูกจับกุมกว่า 3,000 คน โดยกองทัพได้เข้ายึดอำนาจในวันเดียวกันนั้น