สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถวายคืนพระราชอำนาจฯ แต่งตั้งสังฆราช

ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์, สมเด็จพระสังฆราช, พระราชอำนาจ, 2505, 2535, สมเด็จช่วง, สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์, เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ, เจ้าคุณประสาร

ที่มาของภาพ, INDRANIL MUKHERJEE/AFP/Getty Images

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์) วันนี้ (29 ธ.ค.) หลังจากสมาชิก สนช.รวม 81 คน เสนอให้กำหนดเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเป็นการตัดข้อความว่าด้วยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมในการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะออกไป

พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ผู้เสนอให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ระบุว่าจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องและสืบทอดดำรงรักษาไว้ซึ่งโบราณราชประเพณี ขณะที่นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาล ยืนยันต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลไม่ขัดข้องที่จะดำเนินการ และขอให้เป็นไปตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สนช.หลายรายได้อภิปรายให้การสนับสนุนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ โดยระบุว่ากฎหมายบังคับใช้มากว่า 50 ปีแล้ว การแก้ไขจะช่วยให้เกิดความเหมาะสม ช่วยแก้ปัญหาการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชที่มีความขัดแย้งในปัจจุบัน ขณะที่การประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ทั้ง 3 วาระ ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ก่อนที่ประชุมจะมีมติเอกฉันท์เห็นชอบด้วยคะแนน 182 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง และเตรียมจะประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์, สมเด็จพระสังฆราช, พระราชอำนาจ, 2505, 2535, สมเด็จช่วง, สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์, เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

ที่มาของภาพ, CK.PRASARN/FACEBOOK

ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับเสนอแก้ไขเพิ่มเติมเป็น "กฎหมายลักไก่" พร้อมระบุว่า "ต่อจากนี้ไป รัฐมนตรีออมสิน ชีวะพฤกษ์ และสมาชิก สนช.จะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความยุ่งยากที่ตามมาภายหลัง" ซึ่งที่ผ่านมา เจ้าคุณประสารมีท่าทีคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่เสนอให้ตัดอำนาจของพระมหาเถรสมาคมออกไป

เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค.) นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ชั่วคราว) (วิป สนช.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าการเสนอแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ไม่ได้มีใบสั่งจากใคร แต่เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมฯ ของ สนช.ใช้เวลาศึกษามาเป็นปีแล้ว และเห็นว่าอาจทำให้เกิดปัญหาได้ จึงเสนอให้แก้ไข

นายสมชายระบุว่า ตามกฎหมายเดิมกำหนดไว้ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ" ในอดีตก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่ในปี 2535 มีผู้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ แต่ไม่เคยได้ใช้ตามที่แก้ไข เพราะสมเด็จพระสังฆราชทรงได้รับการสถาปนาเมื่อปี 2502 สนช.จึงเห็นว่าควรกลับไปใช้ตามความเดิมจะดีกว่า เพราะขณะนี้มีข้อขัดแย้งกันว่าใครจะต้องเป็นผู้พิจารณาก่อนที่จะทูลเกล้าฯ ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับมหาเถรสมาคม

นายสมชาย กล่าวด้วยว่าการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ไม่ได้ทำให้เกิดความวุ่นวายหรือวิกฤติในวงการสงฆ์ เพราะเป็นเรื่องทางโลก และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วย อาจจะมีเพียงบางส่วนที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน แต่คงไม่ถึงกับออกมาเคลื่อนไหว เพราะหากเคลื่อนไหวก็ไม่ต่างอะไรกับการชุมนุมทางการเมือง และเกิดภาพพจน์ที่ไม่ดีต่อวงการศาสนา จึงมั่นใจว่าจะไม่บานปลาย

ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์, สมเด็จพระสังฆราช, พระราชอำนาจ, 2505, 2535, สมเด็จช่วง, สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์, เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

ที่มาของภาพ, CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 สิ้นพระชนม์เมื่อ 24 ต.ค. 2556 และสมเด็จช่วงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตั้งแต่ 3 ม.ค. 2557

ทั้งนี้ ข้อความในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่แก้ไขในปี 2535 ระบุว่า "ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช" และ "ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช" ส่วนข้อความที่ สนช.เห็นชอบให้แก้ไข เป็นการกลับไปใช้เนื้อหาเดิมเมื่อปี 2505

ก่อนหน้านี้ในเดือน ม.ค.2559 ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แต่มีผู้ยื่นเรื่องคัดค้านมติดังกล่าว เนื่องจากสมเด็จช่วง ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ สอบสวนกรณีมีรถยนต์เบนซ์โบราณอยู่ในครอบครอง และผลสอบสวนในเดือน ก.ค. ระบุว่ารถเบนซ์โบราณในความครอบครองของสมเด็จช่วง มีการกระทำผิดกฎหมายทุกขั้นตอน ทั้งการเลี่ยงภาษีด้วยการชำระภาษีต่ำกว่าราคารถ และปลอมแปลงเอกสารจดทะเบียนกับกรมการขนส่ง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมและอยู่ระหว่างฝากขัง คือ นายเกษม ภวังคนันท์ ผู้ต้องหาที่ 4 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.อ๊อด 89 เอ็นเตอร์ไพร์ส (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เบนซ์โบราณคันดังกล่าว และคดียังอยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม