นายกฯ สั่ง คตช.เร่งรัดคดีทุจริต-ขึ้นบัญชีดำนักธุรกิจเอี่ยวคดีโกง

ภาพจากพิพิธภัณฑ์ต้านโกง

ที่มาของภาพ, BBC Thai

นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติเร่งรัดคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายกับประเทศ และขึ้นบัญชีดำนักธุรกิจที่มีพฤติกรรมทุจริต

ที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) จัดการประชุมวันนี้ (19 ธ.ค.) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม และมีคำสั่งให้เร่งรัดคดีทุจริตซึ่งสร้างความเสียหายกับประเทศอย่างร้ายแรง เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร ทั้งยังสั่งรวบรวมรายชื่อนักธุรกิจซึ่งมีพฤติกรรมทุจริตเพื่อขึ้นบัญชีดำและป้องกันไม่ให้มีโอกาสเข้ามาประมูลงานภาครัฐได้อีก

ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ แถลงภายหลังการประชุมว่ามีการตรวจสอบข้าราชการที่อยู่ในข่ายกระทำการส่อทุจริตไปแล้วทั้งหมด 353 คน มีคำสั่งลงโทษ 81 คน และมีผู้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว 98 คน ส่วนกรณีเรียกเก็บค่าเสียหายทางแพ่งจากโครงการรับจำนำข้าวมีความคืบหน้าร้อยละ 80 จากคดีทั้งหมด 986 คดี ทั้งยังมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาไต่สวนไปแล้ว 911 คดี และคาดว่าการไต่สวนจะแล้วเสร็จใน 6 เดือน จากนั้นจึงจะเร่งรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ

นอกจากนี้ นายประยงค์ระบุด้วยว่านายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้เผยแพร่ข้อมูลผลดัชนีชี้วัดการทุจริต ซึ่งไทยมีคะแนนดีขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยต้องมุ่งเน้นการเผยแพร่ข้อมูลในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ความโปร่งใสในการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ และความโปร่งใสในการใช้งบประมาณภาครัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างประเทศ

ภาพจากพิพิธภัณฑ์ต้านโกง

ที่มาของภาพ, BBC Thai

วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อร้องเรียนให้ตรวจสอบและไต่สวนความผิด พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งรับเงินเดือนในตำแหน่งที่ปรึกษาจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด เดือนละ 50,000 บาท ตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน

นายศรีสุวรรณเผยว่าการที่ พล.ต.ท.ศานิตย์รับเงินเดือนจากบริษัทดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 มาตรา 78 (16) (18) พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐ 2502 มาตรา 6 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่รัฐ 2544 ข้อ 7 โดยระบุว่ากรณีที่เกิดขึ้นถูกสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ขัดต่อจริยธรรม เพราะอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย

ก่อนหน้านี้นายศรีสุวรรณได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่รองโฆษก สนง.ตำรวจแห่งชาติยืนยันว่าการรับเงินเดือนที่ปรึกษาจาก บ.ไทยเบฟเวอเรจ ไม่เข้าข่ายต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ