ประชาชนลังเล “ปรองดอง” ฉบับ คสช. จะสำเร็จหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP/Getty Images

ประยุทธ์ เผยผ่านโฆษกรัฐบาล "ภารกิจปรองดอง" ไม่ใช่เดิมพันของรัฐบาลหรือ คสช. แต่เป็นเรื่องที่คนไทยต้องมาช่วยกันทำ อย่าโยนภาระให้ใครแค่ฝ่ายเดียว ส่วนโพลเผยกลุ่มตัวอย่างค่อนข้างลังเลว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2560 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อเดินหน้าภารกิจสำคัญ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความปรองดองในชาติ ซึ่งถูกหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเป็นภารกิจที่มีเดิมพันค่อนข้างสูงของรัฐบาล คสช. ในช่วงปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งตามโรดแม็ป

วันนี้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงว่า นายกฯ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ทั้งการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง ไม่ใช่เดิมพันของรัฐบาลหรือ คสช. แต่เป็นเดิมพันของคนไทยทุกคนที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด อาชีพใด ต้องช่วยกันคือ การเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ คิดอย่างสร้างสรรค์พาชาติก้าวไปข้างหน้า ไม่โยนภาระให้ใครคนใดคนหนึ่ง และต้องลงมือทำ ไม่ใช่พูดเพียงอย่างเดียว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ที่มาของภาพ, REUTERS/Athit Perawongmetha

สำหรับข้อเสนอของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้รับผิดชอบงานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ป.ย.ป ที่จะเชิญกลุ่มการเมืองทุกสีทุกฝ่ายมาพูดคุย พร้อมกับลงสัตยาบัน หรือเอ็มโอยู เพื่อสร้างความปรองดอง

ล่าสุด สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,272 คน ระหว่างวันที่ 16-20 ม.ค. พบว่า 82.31% เห็นด้วยกับการจัดทำเอ็มโอยูปรองดอง เพราะมองว่าเป็นแนวคิดที่ดี และหากทำได้จริงจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นที่แตกเป็น 2 ทางด้วยจำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดย "สำเร็จ" อยู่ที่ 50.08% (ประกอบด้วย คาดหวังมากว่าจะสำเร็จ 10.61% และค่อนข้างคาดหวังว่าน่าจะสำเร็จ 39.47%) โดยมีเหตุผล อาทิ นายกฯ ให้ความสำคัญ รัฐบาลมีความตั้งใจแก้ปัญหา อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข ฯลฯ และ "ไม่สำเร็จ" อยู่ที่ 49.92% (ประกอบด้วย ไม่คาดหวังว่าจะสำเร็จ 15.33% และไม่ค่อยคาดหวังว่าจะสำเร็จ 34.59%) โดยมีเหตุผล อาทิ ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัญหาสะสมฝังรากลึกมานาน แนวทางปรองดองยังไม่ชัดเจน ฯลฯ

คนโบกธงชาติไทย

ที่มาของภาพ, Paula Bronstein/Getty Images

สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้ง ป.ย.ป. ปัจจุบัน อยู่ระหว่างผู้เกี่ยวข้องทาบทามบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาอยู่ร่วมคณะกรรมการชุดต่างๆ ของ ป.ย.ป. ทั้ง 4 คณะ นอกจากคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ยังรวมถึงคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ ได้มีการทาบทามนายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้มาเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) ซึ่งมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ของ ป.ย.ป. ให้บังเกิดผล

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเลขานุการ ป.ย.ป. ระบุว่า คาดว่า ป.ย.ป. จะเริ่มต้นทำงานได้ในวันที่ 1 ก.พ.นี้