คนลุ่มน้ำโขงคัดค้านมติ ครม.ให้จีนระเบิดเกาะแก่งเดินเรือสินค้า 500 ตัน

แม่น้ำโขง

ที่มาของภาพ, Luciano Lepre/AGF/UIG via Getty Images

คำบรรยายภาพ, เรือสินค้าขนาดเล็กกำลังขนส่งสินค้าผ่านทางแม่น้ำโขง

เครือข่ายคนลุ่มแม่น้ำโขงคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.เห็นชอบกับแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ระหว่างปี 2558-2568 อันจะนำมาซึ่งการระเบิดเกาะแก่งสำหรับการเดินเรือพาณิชย์ขนาด 500 ตัน โดยชาวบ้านชี้ว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างหนัก และทำให้ไทยเสียดินแดนวงกว้าง

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของและตัวแทนเครือข่าย เผยกับบีบีซีไทย วันนี้ (28 ธ.ค.) ว่า การระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อสร้างทางเดินเรือของจีนเป็นนโยบายที่ชาวบ้านคัดค้านมาตลอด 10 ปี เพราะเกาะแก่งเปรียบเสมือนบ้านของปลาและนก และแหล่งอาหารของชุมชนริมฝั่งโขง โดยโครงการนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แม่น้ำโขงอย่างใหญ่หลวงเพราะเป็นการทำลายระบบนิเวศน์อันเปรียบเสมือนหัวใจของแม่น้ำ

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ระบุด้วยว่า โครงการดังกล่าวอาจสร้างปัญหาเรื่องเขตแดนของประเทศไทย เนื่องจากตามสนธิสัญญาของฝรั่งเศส เขตแดนไทย-ลาวจะใช้ร่องน้ำลึกเป็นตัวชี้วัด หากมีการระเบิดแก่งก็จะทำให้ไทยสูญเสียดินแดนเป็นบริเวณกว้าง ทั้งนี้ โครงการฯ ยังกำหนดไม่ให้ประชาชนทั่วไปทำการที่กีดขวางการเดินเรือพาณิชย์ เช่น การวางตาข่ายหาปลา หรือล่องแพ ซึ่งเป็นการขับไล่คนท้องถิ่นออกจากแม่น้ำโขงโดยปริยาย แต่ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์คือประเทศจีน

แม่น้ำโขง

ที่มาของภาพ, Luciano Lepre/AGF/UIG via Getty Image

คำบรรยายภาพ, เรือสินค้าจากจีนกำลังเดินทางไปตามแม่น้ำโขงจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปยังเมืองเชียงรุ่งของจีน

วันเดียวกัน ภาคีเครือข่ายลุ่มแม่น้ำโขง 20 องค์กรออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากโครงการดังกล่าว อาทิ อาจก่อให้เกิดการพังทลายของชายฝั่ง รวมทั้งเป็นการดำเนินการที่ผิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยการบริหารจัดการแม่น้ำนานาชาติ โดยจะส่งถึงบริษัท CCCC Second Habor Consultant เจ้าของสัมปทานโครงการจากประเทศจีน พร้อมกับยื่นถึงรัฐบาลไทยเพื่อชี้แจงให้ทราบว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่ประโยชน์ของไทย แต่เป็นประโยชน์ของจีน

สำนักข่าวไทยรายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ ระบุว่าในปัจจุบันปริมาณการขนส่งบริเวณแม่น้ำโขงเพิ่มมากขึ้น และเรือที่สามารถแล่นผ่านในแม่น้ำโขงมีขนาดบรรทุกเพียง 60-150 ตันเท่านั้น ขณะที่เรือที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นไม่สามารถแล่นได้อย่างปลอดภัย จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดให้มีการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือขนาด 500 ตันสามารถเดินทางได้โดยสะดวก เพื่อส่งเสริมการค้าให้มีความปลอดภัยทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้า และคนโดยสาร ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม