แก้ไข: สนช.มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

รัฐธรรมนูญ, ราชอาณาจักรไทย, ประชามติ, ผู้สำเร็จราชการ, หมวดพระมหากษัตริย์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

(หมายเหตุ: มีการแก้ไขข้อความในย่อหน้าแรก จากเดิมที่ระบุว่า "ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อให้สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับมาแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ได้" เป็นข้อความปัจจุบัน เมื่อเวลา 14:35 น. วันที่ 13 ม.ค.2560)

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อให้สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับมาแก้ไขได้ โดยแก้ในหมวดพระมหากษัตริย์

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (13 ม.ค.) เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.10 น. มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่..( พ.ศ…) โดยเป็นการพิจารณา 3 วาระรวด และมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมชี้แจง และมีอำนาจเต็มในการให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบตามที่สมาชิกขอแก้ไขเพิ่มเติม

นายวิษณุ ชี้แจงว่าร่าง รธน.ฉบับชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฯ เป็นการแก้ไขใน 2 ประเด็น คือ เพิ่มข้อความในมาตรา 2 ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในบางกรณี และมาตรา 39/1 เกี่ยวกับการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีขอนำร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯ ไปแล้วนำกลับมาแก้ไขใหม่ เนื่องจากสำนักราชเลขาธิการได้แจ้งข้อสังเกตบางประการที่จะรับไปดำเนินการ และรัฐบาลได้พิจารณาร่วมกับ คสช.แล้วเห็นควรว่าจะต้องดำเนินการ เพราะหากใช้รัฐธรรมนูญแล้ว แม้โดยกลไกทางกฎหมายจะทำได้ แต่การจะแก้ไขบางข้อความในบางหมวดจำเป็นจะต้องนำไปทำประชามติ ซึ่งอาจใช้เวลายืดยาวและกระทบกระเทือน และเมื่อทูลเกล้าฯ แล้ว ตกอยู่ในพระราชอำนาจแล้ว รัฐบาลจะนำกลับมาแก้โดยพลการไม่ได้ จึงต้องอาศัยข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดความกระจ่างแจ้ง

รัฐธรรมนูญ, ราชอาณาจักรไทย, ประชามติ, ผู้สำเร็จราชการ, หมวดพระมหากษัตริย์, มีชัย ฤชุพันธ์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธที่จะให้คำยืนยันในโรดแมปเลือกตั้งว่าจะมีขึ้นในปลายปี 2560 หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่มีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการวาระแรก โดยการขานชื่อเป็นรายบุคคล และมีมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการด้วยคะแนน 229 คะแนน งดออกเสียง 3 เสียง ส่วนการพิจารณาวาระ 2 ใช้กรรมาธิการเต็มสภา รัฐบาลได้เสนอเพิ่มข้อความในมาตรา 2 วรรค 3 เป็นว่า "ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง" และ "เมื่อกรณีที่เป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นำความในมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาบังคับใช้" ซึ่ง สนช.เห็นชอบตามที่แก้ไข

ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 228 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และปิดการประชุมเมื่อเวลา 12:44 น. ใช้เวลาในการประชุมพิจารณาประมาณ 2 ชั่วโมง 34 นาที

นอกจากนี้ สำนักสื่อสารของบักกิงแฮมพาเลซของอังกฤษ ได้เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า "กฎหมายของอังกฤษ ไม่ได้ระบุไว้ว่า สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในยามเสด็จต่างประเทศ"