บทวิเคราะห์: มองไซปรัสสะท้อนไทย เจรจารวมชาติหลังแยกกัน 43 ปี

นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (คนกลาง) นายนิกอส อนาสตาซิอาเดส (ขวามือ) และนายมุสตาฟา อคินซิ (ซ้ายมือ)

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (คนกลาง) นายนิกอส อนาสตาซิอาเดส (ขวามือ) และนายมุสตาฟา อคินซิ (ซ้ายมือ)

การเจรจาสันติภาพรอบแรกเพื่อรวมประเทศไซปรัส ซึ่งจัดขึ้นที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ใกล้บรรลุผล หลังแยกกันอยู่ระหว่างคน 2 เชื้อชาติเป็นเวลาถึง 43 ปี แต่ เลขาฯ ยูเอ็น เตือนว่าความสำเร็จจะไม่เกิดในข้ามคืน เพราะยังเหลืออีกหลายปมที่ต้องคลี่คลาย โดยเฉพาะการคงอยู่ของกองทัพตุรกี

นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ภายหลังการเจรจาสันติภาพรอบแรกที่จัดขึ้นที่นครเจนีวา โดยระบุว่า เป้าหมายทุกอย่างน่าจะบรรลุได้ หากเครื่องมือทุกอย่างถูกนำมาใช้บังคับ

ชุนชนชาวไซปรัสเชื้อสายกรีซและตุรกีถูกแยกออกจากกันตั้งแต่ปี 2517 หรือกว่า 43 ปีที่ผ่านมา ด้วยเขตกันชน หรือบัฟเฟอร์โซน ที่ทางยูเอ็นจัดตั้งขึ้น ซึ่งในการเจรจาครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนแผนที่ในการเจรจาเรื่องเขตแดนใหม่เป็นครั้งแรก และถูกมองว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่จะนำไปสู่การทำข้อตกลง ในท้ายที่สุด

แผนที่แบ่งเขตกันชน
คำบรรยายภาพ, เขตกันชน หรือบัฟเฟอร์โซน ที่ทางยูเอ็นจัดตั้งขึ้น

"เราใกล้มากๆ ที่จะตกลงกันได้ แต่อย่างเพิ่งคาดหวังว่ามันจะเป็นปาฏิหาริย์หรือจะนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยทันที" เลขาฯ ยูเอ็นระบุในการแถลงข่าวที่มีตัวแทนชุมชนชาวไซปรัสทั้ง 2 เชื้อชาติ ได้แก่ นายนิกอส อนาสตาซิอาเดส และนายมุสตาฟา อคินซิ ยืนอยู่เคียงข้าง

ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหา มีทั้งเรื่องการคืนทรัพย์สินให้กับชาวไซปรัสที่ต้องอพยพจากบ้านเกิดหลายหมื่นคนตั้งแต่เมื่อ 43 ปีก่อน รวมไปถึงคำถามที่ว่าจะยังคงกองทัพตุรกี ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนถึง 30,000 คน ไว้ในตอนเหนือของประเทศต่อไปหรือไม่ภายหลังไซปรัสกลับมารวมประเทศอีก

ในการเจรจาครั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของ 3 ชาติที่ทำหน้าที่ผู้ค้ำประกันความปลอดภัยในไซปรัส ได้แก่ กรีซ ตุรกี และสหราชอาณาจักร ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย รวมถึงนางเฟเดริกา มอเกรินี่ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) และนายฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป โดยคาดว่าการเจรจาจะสิ้นสุดในช่วงสุดสัปดาห์นี้

ประชาชนออกมาประท้วงถือป้าย

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, ระหว่างการเจรจา มีประชาชนออกมาประท้วงเรียกร้องสันติภาพ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ข้อตกลงใดๆ จะมีผลใช้บังคับได้จริง จะต้องผ่านการทำประชามติในประเทศไซปรัสที่จะมีการจัดแยกกันระหว่างชุมชนชาวไซปรัสทั้ง 2 เชื้อชาติเสียก่อน โดยเป้าหมายของทั้ง 2 ฝ่ายตรงกัน คือการแบ่งแยกอำนาจในการปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐ ซึ่งทางยูเอ็นก็มองว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการรวมประเทศ

อิโมเจน ฟาวเคส ผู้สื่อข่าวของบีบีซี ซึ่งไปทำข่าวการเจรจาครั้งนี้ ระบุว่า เหตุรุนแรงที่แยกประเทศไซปรัสเมื่อปี 2517 ได้ทิ้งแผลที่บาดลึก รวมถึงความหวาดระแวงที่บาดลึกกว่า

ไซปรัสเป็นประเทศที่เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อยู่ทางตอนใต้ของประเทศตุรกีและตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศกรีซ มีพื้นที่ทั้งหมด 9,251 ตารางกิโลเมตร (เล็กกว่า จ.นครสวรรค์เล็กน้อย) ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 2503 จน 14 ปี ต่อมา รัฐบาลไซปรัสขณะนั้น ถูกยึดอำนาจโดยนายทหารที่มีรัฐบาลกรีซหนุนหลัง และจัดตั้งรัฐบาลที่มีแนวคิดชาตินิยมซึ่งสนับสนุนคนเชื้อสายกรีก ผลปรากฎว่า เพียง 5 วันหลังจากนั้น รัฐบาลตุรกีก็ส่งกองทัพเข้ามาแทรกแซง และยึดครองทิศเหนือของประเทศไปถึงหนึ่งในสามจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ประชากรไซปรัสมีจำนวนทั้งสิ้น 1.13 ล้านคน เป็นคนเชื้อสายกรีซ 77% และเชื้อสายตุรกี 18% ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ

เขตกันชน หรือบัฟเฟอร์โซน

ที่มาของภาพ, AP

คำบรรยายภาพ, ชุนชนชาวไซปรัสเชื้อสายกรีซและตุรกีถูกแยกออกจากกันตั้งแต่ปี 2517 หรือกว่า 43 ปีที่ผ่านมา ด้วยเขตกันชน หรือบัฟเฟอร์โซน

การแทรกแซงจากต่างชาติ จนนำไปสู่การรัฐประหาร และ การแยกประเทศ เป็นบทเรียนสำหรับไทย ที่เผชิญกับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศ มาตั้งแต่ปี 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 6,500 คน และบาดเจ็บอย่างน้อย 12,000 ราย ทั้งนี้ ได้มีความพยายามเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน แต่ผลการเจรจาก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

ล่าสุด รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีมติแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า "ครม.ส่วนหน้า" ที่มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้า เพื่อคอยประสานการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ให้มีเอกภาพมากขึ้น

ทหารเดินในเขตกันชน

ที่มาของภาพ, AP

จุดเปราะบางในการเจรจารวมไซปรัส

  • ทรัพย์สิน จะเกิดอะไรขึ้นกับทรัพย์สินที่ชาวกรีซเชื้อสายไซปรัสทิ้งไว้ตั้งแต่ปี 2515 พวกเขามีสิทธิที่จะได้กลับไปอยู่ในบ้านของตัวเองหรือไม่ หรือถ้าจะเปลี่ยนเป็นได้รับเงินชดเชย คำถามก็คือเท่าไรถึงจะเหมาะสม
  • ความมั่นคง ชาวไซปรัสเชื้อสายตุรกีได้รับการยืนยันความปลอดภัยได้อย่างไร หากกองทัพตุรกีที่มีกำลังกว่า 30,000 นาย ต้องออกจากประเทศไป หรือจะทิ้งกำลังบางส่วนไว้ก่อน ชาวไซปรัสเชื้อสายกรีซมองว่านี่คือกองกำลังที่เข้ามายึดครอง คำถามก็คงจะให้รัฐบาลตุรกีเข้ามาแทรกแซงภายในไซปรัสได้มากน้อยแค่ไหน
  • อำนาจและบทบาทของอียู การเจรจาครั้งนี้ดำเนินขึ้นโดยการหมุนเวียนตัวประธานไปเรื่อยๆ คำถามก็คือแล้วมันจะได้ผลจริงหรือไม่ และประธานาธิบดีไซปรัสเชื้อสายตุรกีจะสามารถเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปได้จริงหรือ เมื่อเวลามาถึง
  • เขตแดน เขตแดนแค่ไหนที่ชาวไซปรัสเชื้อสายกรีซสมควรจะได้รับเพื่อสะท้อนกับข้อเท็จจริงที่ว่านี่คือกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ กองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นประเมินว่า ชาวไซปรัสเชื้อสายกรีซ 165,000 คน ต้องหลบหนีหรือถูกขับไล่จากภาคเหนือ เช่นเดียวกับที่ชาวไซปรัสเชื้อสายตุรกี 45,000 คน ต้องย้ายออกจากภาคใต้ แม้ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายจะระบุว่า ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้
เกาะไซปรัส

ที่มาของภาพ, AP

คำบรรยายภาพ, ไซปรัสเป็นประเทศ ที่เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ย้อนอดีตแห่งปัญหาของประเทศไซปรัส

  • ปี 2498 ชาวไซปรัสเชื้อสายกรีซเริ่มต้นการรวมชาติ ภายหลังที่ประเทศกรีซเริ่มต้นสงครามกองโจรเพื่อต่อต้านการปกครองของสหราชอาณาจักร
  • ปี 2503 เอกราชจากสหราชอาณาจักร ทำให้เกิดการแบ่งอำนาจขึ้นในประเทศไซปรัส ระหว่างคนเชื้อสายกรีซที่เป็นคนส่วนใหญ่ กับคนเชื้อสายตุรกีที่เป็นคนส่วนน้อย
  • ปี 2506-2507 เกิดความรุนแรงขึ้นภายในประเทศไซปรัส
  • ปี 2517 ประธานาธิบดีไซปรัส อาร์กบิช็อป มาการิออส ถูกขับไล่ภายหลังการยึดอำนาจ ที่มีรัฐบาลทหารของประเทศกรีซหนุนหลัง ประเทศตุรกีก็ส่งกองทัพเข้ามายึดครองด้านเหนือของประเทศไซปรัสไปถึง 1 ใน 3 จนถึงปัจจุบัน
  • ปี 2526 ราอุฟ เดนก์ทาซ ประกาศแยกประเทศไซปรัสทางตอนเหนือ โดยให้ชื่อว่า "สาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสตอนเหนือ" ซึ่งถูกรับรองโดยประเทศตุรกี เพียงประเทศเดียว
  • ปี 2547 ประเทศไซปรัสที่ยังถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน เข้าร่วมอียู ภายหลังแผนสันติภาพที่เสนอโดยยูเอ็น ได้รับการสนับสนุนโดยชาวไซปรัสเชื้อสายตุรกี แต่ถูกปฏิเสธโดยชาวไซปรัสเชื้อสายกรีซ