คำสั่งพิเศษจำกัดคนเข้าเมืองของทรัมป์ มีผลกระทบต่อใครบ้าง?

คนประท้วงที่สนามบิน

ที่มาของภาพ, AFP

ผู้ที่กำลังถูกกักตัวตามสนามบินต่างๆ ในสหรัฐฯ คือคนที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการเดินทางพอดีในขณะที่ทรัมป์ออกคำสั่งเมื่อวันศุกร์ ซึ่ง 11 รายอยู่ ณ สนามบินจอห์น เอฟ เคนเนดี และมีการประมาณการอยู่ที่ราว 100-200 คนจากสนามบินทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ด้วยรายละเอียดที่กว้างของข้อบังคับ คำสั่งพิเศษนี้ส่งผลกระทบกับผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การจำกัดไม่ให้พลเมืองจาก 7 ประเทศดังกล่าวเดินทางเข้าสหรัฐฯ โดยเด็ดขาด แม้พวกเขาจะได้รับวีซ่าถูกต้องตามกฎหมาย หรือจะเป็นผู้ถือสองสัญชาติ เช่น พลเมืองชาวอังกฤษผู้ถือสัญชาติอิหร่านก็ไม่สามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ รวมไปถึงพลเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายของสหรัฐฯ ผู้ถือกรีนการ์ดก็ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ หากเป็นผู้อพยพจาก 7 ประเทศ

เจ้าหน้าที่ทางการรายหนึ่งเปิดเผยว่า สำหรับผู้ที่เพิ่งเดินทางออกจากสหรัฐฯ จะได้รับการพิจารณาให้กลับมาเข้าประเทศได้เป็นราย ๆ ไป

ฝ่ายไหนเริ่มฟ้องร้องต่อต้าน?

ประชาชนถือป้ายประท้วง

ที่มาของภาพ, Reuters

กลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม รวมทั้งศูนย์กฎหมายเพื่อการอพยพแห่งชาติ (National Immigration Law Centre (NILC) และสมาพันธ์เพื่อเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberties Union (ACLU) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐนิวยอร์ก เรียกร้องให้ทำการปลดปล่อยชายชาวอิรักสองนายที่กำลังอยู่ในขณะเดินทางเข้าประเทศในขณะที่คำสั่งพิเศษกำลังได้รับการลงนาม

ฮานีด คาดิด ดาร์วีช ผู้ทำงานเป็นล่ามให้กับกองทัพสหรัฐฯ คือหนึ่งในผู้ถูกกักตัว เขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ผ่านมา ส่วน ไฮเดอร์ ซาเมียร์ อับดุลคาเลค อัลชาวี ผู้ถูกกักตัวอีกหนึ่งรายยังไม่ได้รับการปล่อยตัวออกมา

ฮานีด คาดิด ดาร์วีช ขนาบข้างด้วย แจร์รี่ แนดเล่อร์ และนีเดีย เวลาซเควซ ผู้แทนราษฎรรัฐนิวยอร์คพรรคเดโมแครท หลังจากถูกปล่อยตัวจากสนามบินเจเอฟเคเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, @NYDIAVELAZQUEZ

คำบรรยายภาพ,

ฮานีด คาดิด ดาร์วีช ขนาบข้างด้วย แจร์รี่ แนดเล่อร์ และนีเดีย เวลาซเควซ ผู้แทนราษฎรรัฐนิวยอร์คพรรคเดโมแครท หลังจากถูกปล่อยตัวจากสนามบินเจเอฟเคเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

แจร์รี่ แนดเลอร์ ผู้แทนราษฎรรัฐนิวยอร์กได้ทวีตข้อความแถลงว่า เขาและ นีเดีย เวลาซเควซ ผู้แทนฯ จากพรรคเดโมแครตกำลังดำเนินการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอีก 10 คนที่กำลังถูกกักตัว โดย มาร์ค ดอสส์ ทนายความของชาวอิรักสองนาย รู้สึกยินดีที่ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองทำการปล่อยตัวนายดาร์วีช "เห็นได้ชัดว่านี่เป็นการกักตัวแบบผิดกฎหมาย นี่เป็นคำสั่งพิเศษเพื่อการแบ่งแยกเชื้อชาติจากปธน. ทรัมป์ ซึ่งเราจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และพลเมือง ที่กำลังเดินกลับมาสหรัฐอเมริกา และถูกกักตัวอย่างผิดกฎหมาย

ทำไมถึงต้องมีการออกคำสั่งพิเศษนี้?

ปธน. ทรัมป์กล่าวว่าผลลัพธ์จากการออกคำสั่งพิเศษนี้จะทำให้ "ไร้ซึ่งเหตุการณ์ก่อการร้ายโดยชาติมุสลิมในสหรัฐฯ" อย่างไรก็ตามกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนได้เปิดเผยว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดระหว่างผู้อพยพชาวซีเรียกับประเทศสหรัฐอเมริการวมไปถึงการก่อการร้าย

ทรัมป์

ที่มาของภาพ, Getty Images

"เราไม่ควรลืมบทเรียนจากเหตุการณ์ 9/11" ประธานาธิบดีกล่าวย้ำถึงความเป็นมาของการออกพระราชบัญญัติต่าง ๆ ณ อาคารเพนตากอนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แม้ว่าบรรดาผู้ก่อการร้ายจากเหตุการณ์วินาศกรรมดังกล่าวจะเป็นชาวซาอุดีอาระเบีย ไม่ได้มาจาก 7 ประเทศที่มีคำสั่งพิเศษจำกัดการเข้าประเทศก็ตาม

สำหรับเหตุการณ์ก่อการร้ายล่าสุดในสหรัฐฯ ที่แม้ผู้กระทำการไม่ได้มาจาก 7 ประเทศดังกล่าว แต่ถูกโยงสู่การก่อการร้ายโดยกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง ได้แก่

  • เหตุการณ์สังหารหมู่ 50 ศพ ณ ไนต์คลับของชาวรักร่วมเพศในเมืองออร์แลนโด้เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 โดยพลเมืองชาวอเมริกันที่มีพ่อแม่เป็นชาวอัฟกานิสถาน
  • เหตุการณ์พลเมืองชาวอเมริกันและชาวปากีสถานสังหารผู้คน 14 รายใน ซาน เบอร์นาดิโน่ รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนธันวาคม 2015
  • เหตุระเบิดบอสตันมาราธอนที่คร่าชีวิตรวมทั้งทำให้ผู้ร่วมงานจำนวนมากบาดเจ็บมาจากการลอบวางระเบิดของชาวเชชเนีย
ผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองในซีเรียจะไม่ได้รับการอนุญาตเข้าประเทศสหรัฐฯ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองในซีเรียจะไม่ได้รับการอนุญาตเข้าประเทศสหรัฐฯ

ผู้คนในสหรัฐฯ รู้สึกอย่างไรกับการจำกัดการเข้าเมืองครั้งนี้?

ทรัมป์ชูนโยบาย "การปิดกั้นการเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาของชาวมุสลิมโดยสมบูรณ์และเบ็ดเสร็จ จนกว่าสภาผู้แทนราษฎรของประเทศจะหาคำตอบได้ว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น" ในช่วงระหว่างการหาเสียง ซึ่งในขณะนี้ไม่ว่าจะส.ส. จากพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกันต่างปฏิเสธนโยบายนี้กันเป็นจำนวนมาก

ชาร์ลี เดนท์ ส.ส. จากพรรครีพับลิกันเขตเพนซิลวาเนีย ที่ซึ่งมีประชากรชาวซีเรียอาศัยอยู่มากจำนวนหนึ่งได้ออกมาเรียกร้องให้ปธน. ทรัมป์ "ระงับการบังคับใช้คำสั่งนี้" ตามรายงานของนิวยอร์ก ไทมส์ ซึ่ง ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีได้เคยทวีตในเดือนธันวาคม ปี 2015 ถึงการเรียกร้องให้แบนชาวมุสลิมว่า "เป็นที่น่ารังเกียจและขัดต่อรัฐธรรมนูญ"

การตอบรับในระดับนานาชาติ?

อิหร่านได้นิยามว่าคำสั่งนี้ของทรัมป์ถือเป็น "การโจมตีโลกอิสลาม" ซึ่งคำสั่งนี้จะได้รับการโต้ตอบด้วยหลักกฎหมายและพระราชบัญญัติทางการทูตที่เหมาะสม

เทเรซ่า เมย์

ที่มาของภาพ, Getty Images

นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรกล่าวว่า สหราชอาณาจักรไม่เห็นด้วย "กับวิธีปฏิบัติเช่นนี้" และคงยื่นอุทธรณ์ต่อสหรัฐฯ หากคำสั่งส่งผลกระทบต่อพลเมืองชาวอังกฤษ นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาก็เช่นกัน ทรูโดทวีตข้อความว่าชาวแคนาดาจะต้อนรับทุกคนที่ระหกระเหินมาจากการขับไล่ การก่อการร้าย และสงคราม "โดยไม่ปิดกั้นไม่ว่าจะมาจากศาสนาใดก็ตาม"

คำสั่งนี้มีผลต่อผู้อพยพจากสงครามซีเรียอย่างไร?

ผู้อพยพชาวซีเรียทั้งหมดที่หนีจากสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรียที่ยืดเยื้อมากว่า 6 ปีก็ถูกจำกัดไม่ให้เข้าสู่ประเทศสหรัฐฯ โดยไม่มีกำหนด โดยคำสั่งพิเศษนี้จะส่งผลระงับการเข้าเมืองของผู้ลี้ภัย 50,000 คนโดยประมาณในปี 2017 น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนจำกัดสูงสุดของรัฐบาลบารัค โอบามา รัฐบาลก่อนหน้าประธานาธิบดีทรัมป์