บทวิเคราะห์: เสรีภาพสื่อไทยปี 2560 รัฐจะคุมหนักกว่าเดิม

ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เสรีภาพสื่อไทย, 2560, press freedom, Thailand

ที่มาของภาพ, Getty Images

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อธิบายสภาวะการทำงานของสื่อมวลชนในรอบปี 2559 ที่ผ่านมาว่า "ตกอยู่ในภาวะอึมครึมและหวาดระแวงอย่างต่อเนื่อง" เนื่องจากการทำงานยัอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของประกาศคำสั่งอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐมีความพยายามที่จะควบคุมและแทรกแซงสื่อผ่านการออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งเข้าข่าย "รัฐซึมลึก"

ในสายตาองค์กรระหว่างประเทศด้านเสรีภาพข่าวสาร ล้วนมองว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนถดถอยลงเรื่อยๆ นับแต่การรัฐประหาร 21 พฤษภาคม 2557 Freedom House ของ สหรัฐอเมริกา ประเมินไว้ในปีนี้ ว่า สื่อมวลชนไทย "ไร้เสรีภาพ (Not Free)" ส่วน Reporters Without Borders แห่งฝรั่งเศสจัดให้ไทยอยู่ในลำดับที่ 136 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ของทำเนียบเสรีภาพสื่อมวลชน ต่ำกว่า กัมพูชา(128) อัฟกานิสถาน (120) หรือ ไนจีเรีย (116)

แม้นในรอบปีที่ผ่านมา สื่อต่างๆ สามารถนำเสนอข่าวสารได้ แต่ก็ทำภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมายที่คณะรัฐประหาร ในชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาเพิ่มเติมจากช่วง 2 ปีแรก เช่น

- การใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 มาคุ้มครองคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ใช้อำนาจลงโทษสถานีโทรทัศน์ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และประกาศ คสช. ที่ 103/2557 ซึ่งห้ามนำเสนอข้อมูลข่าวสาร 7 ประเภท (อ่านล้อมกรอบ)

- การบังคับใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) อย่างเข้มข้นกับฝ่ายเห็นต่างจากรัฐ จนสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ทำให้สื่อนำเสนอข่าวได้อย่างไม่เต็มที่ กระทั่งบรรยากาศการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ไม่คึกคักเท่าที่ควร และมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินครึ่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เสรีภาพสื่อไทย, 2560, press freedom, Thailand

ที่มาของภาพ, LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP/Getty Images

ขณะที่ท่าทีของผู้นำรัฐบาลก็ยังมีทัศนคติเชิงลบต่อการทำงานของสื่อ แม้ตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะลดการวิวาทะกับสื่อลงจากเดิม แต่กลับส่งตัวแทนอย่าง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวตำหนิการนำเสนอข่าวของสื่ออยู่บ่อยๆ อาทิ

"ขอให้สื่อคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม หลีกเลี่ยงการรายงานข่าวที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของไทยในสายตานักลงทุน" กรณีหนังสือพิมพ์บางฉบับรายงานว่าการลงทุนของต่างชาติในไทยลดลงเป็นอย่างมาก" หรือ "อยากให้สื่อที่ยังสลัดขั้วการเมืองไม่ออก ยังมีการเลือกข้างสร้างความแตกแยกในสังคม ได้มีสติคิดตรึกตรองว่า ถึงเวลาหรือยังที่ควรจะปรับเปลี่ยนทัศนคติตัวเอง ปรับปรุงตัวเองให้เป็นสื่อสร้างสรรค์ที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับ มิใช่สื่อที่สังคมมองด้วยสายตาตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณในการทำหน้าที่ของท่านอย่าใช้เหตุผลตื่นๆ มองแคบๆ ด้วยใจอคติ" กรณีหนังสือพิมพ์บางฉบับวิพากษ์วิจารณ์นโยบายให้ข้าราชการออกกำลังการทุกวันพุธของนายกฯ

จากภาวะความกดดันเข้มข้นของรัฐบาล นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวยอมรับกับ บีบีซีไทย ว่า การบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการใช้อำนาจพิเศษ ของรัฐบาลทหาร ทำให้องค์กรสื่อไทย ที่ปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤตทางธุรกิจ ต่างไม่อยากมีปัญหากับผู้มีอำนาจ ได้ตัดสินใจ "เซ็นเซอร์ตัวเอง" ไม่นำเสนอข่าวที่อาจทำให้รัฐไม่พอใจ ทำให้ ข่าวเชิงตรวจสอบไปปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์บางแห่ง มากกว่าสื่อกระแสหลักที่ทำได้เล่นข่าวไปตามกระแสเท่านั้น

"ผมพูดมาตลอดว่า แม้ธุรกิจสื่อในปัจจุบันจะย่ำแย่ แต่สื่อจะอยู่ได้ด้วยความน่าเชื่อถือ ที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้ทำหน้าที่แบบที่สังคมคาดหวัง นั่นคือการตรวจสอบผู้มีอำนาจเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่แค่หาข่าวที่มีสีสันมาเล่า และยิ่งสื่อไม่ทำหน้าที่เช่นนั้น พลังอำนาจก็จะยิ่งน้อยลง และยิ่งทำให้โอกาสอยู่รอดในทางธุรกิจน้อยลงไปอีก นี่คือปัจจัยที่จะทำให้สื่ออยู่รอดได้ ไม่ใช่เรตติ้งที่มาแค่ชั่วคราว" นายวันชัย กล่าว

ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เสรีภาพสื่อไทย, 2560, press freedom, Thailand

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ฝั่งนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ก็เห็นไม่ต่างกัน

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า สื่อไทยในปัจจุบัน "เซ็นเซอร์ตัวเอง" ค่อนข้างมาก โดยมีเรื่องอำนาจรัฐเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญร่วมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจสื่อ ที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอด และปัจจัยทางสังคม

ดร.มานะมองว่า การที่สื่อกระแสหลักไม่ทำข่าวเชิงตรวจสอบ ทำให้สื่อออนไลน์ขึ้นมามีหน้าที่แทน ซึ่งเชื่อว่าในปี 2560 ที่ตามโรดแม็ปของ คสช. กำหนดว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ภาครัฐจะเข้ามากำกับการทำหน้าที่ของสื่อมากขึ้น ปีดังกล่าว จึงเป็นปีที่ท้าทายสื่อไทย ว่าจะยังสามารถทำหน้าที่ได้มากน้อยแค่ไหน และท้าทายว่าสื่อกระแสหลักจะทำข่าวเชิงตรวจสอบเพื่อดึงคนดูกลับมาจากสื่อออนไลน์ได้หรือไม่

อีกความท้าทายที่คณบดีคณะนิเทศศาสตร์รายนี้ไม่ได้พูดถึงก็คือ ในปี 2560 ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้หลังผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ไปแล้ว โดยหลายฝ่ายกังวลว่า กฎหมายดังกล่าวจะทำให้เกิดการปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์

รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมว่า ปัจจุบันประเทศอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ทำให้การทำงานของสื่อมีเสรีภาพไม่เต็ม 100% ส่วนตัวมองว่า การปฏิรูปสื่อที่เป็นหนึ่งในวาระปฏิรูปประเทศของ คสช. อาจจะไปผิดทาง โดยเฉพาะการที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... เพื่อให้มีองค์กรวิชาชีพสื่อที่เป็นร่มใหญ่ ซึ่งกรรมการบางส่วนมาจากภาครัฐ แถมยังจะให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ ที่ถูกยกเลิกเพิกถอนได้

"หากมีกฎหมายมากำกับก็ไม่ใช่เสรีภาพแล้ว เพราะเสรีภาพควรจะมาจากจิตสำนึกและความรับผิดชอบของแต่ละสื่อเองมากกว่า" รศ.มาลีกล่าว