มข. เปิดทาง ''ไผ่ ดาวดิน'' สอบในคุก แต่ต้องทำตามขั้นตอน

ไผ่ ดาวดิน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang / bbc thai

หนึ่งในประเด็นที่หลายฝ่าย นำมาเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัว นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือน นับตั้งแต่ที่เขาถูกจับกุมกรณีแชร์บทความพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทย คือ การเข้าสอบวิชาสุดท้ายก่อนสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 17-18 ม.ค.ที่ผ่านมา

โดยครอบครัวของนายจตุภัทร์ ยืนยันกับบีบีซีไทยว่า บุตรชายยังไม่ได้เข้าสอบในวิชาคอมพิวเตอร์ แม้หลายฝ่ายรับปากว่าจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ ขณะที่ล่าสุด ศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาฝากขังนายจตุภัทร์ ต่ออีก 12 วัน เนื่องจากพนักงานสอบสวนต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติม ทำให้อนาคตทางการศึกษาของนายจตุภัทร์ ยังคงคลุมเครือ

เพียงหนึ่งวันหลังศาลมีคำสั่งฝากขังเพิ่มเติม อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่าได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสอบในทัณฑสถานบำบัดพิเศษ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานที่ฝากขังนายจตุภัทร์ โดยทั้งทัณฑสถานฯ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่างยินดีที่จะอำนวยความสะดวกในการจัดสอบให้เป็นกรณีพิเศษ

line

จัดสอบให้ ''ไผ่'' ต้องทำอย่างไรบ้าง

ไผ่ ดาวดิน

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG / bbc thai

คำบรรยายภาพ, ไผ่ ดาวดิน ระหว่างทำกิจกรรมรณรงค์โหวตโน ในงานหนังสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2559

ผศ.กิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า การจะจัดสอบให้นายจตุภัทร์ในเรือนจำนั้นจะต้องเป็นไปตามความจำนงของนายจตุภัทร์เอง โดยเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ผ่านมา ตนได้เข้าไปพบนายจตุภัทร์ ในทัณฑสถานฯ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการวางแผนการศึกษา และนายจตุภัทร์แจ้งให้ทราบว่าจะให้ผู้ปกครองติดต่อไปที่คณะหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิจารณาฝากขังเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ ทางคณะฯ กำลังรอการติดต่ออยู่

''มันมีเรื่องความพร้อมของนักศึกษาอยู่ จะไปจัดสอบให้เด็ก เด็กอาจจะไม่พร้อมก็ได้ เรารอการตัดสินใจของนักศึกษา ข้อตกลงกันเป็นแบบนี้'' ผศ.กิตติบดี กล่าว

ผศ.กิตติบดี ระบุว่า ในฐานะต้นสังกัดของนายจตุภัทร์ ก็พร้อมที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และหากทางครอบครัวทำเรื่องเข้ามาว่านักศึกษามีความพร้อม ก็จะเสนอเรื่องไปยังมหาวิทยาลัยว่ากรณีเช่นนี้มีเหตุผลทางเทคนิคหรือไม่ อย่างไร ที่จะจัดการสอบนอกสถานที่ จากนั้นมหาวิทยาลัยต้องประสานไปยังกรมราชทัณฑ์ว่าจะอนุญาตให้นำเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นไปใช้จัดสอบในเรือนจำได้หรือไม่

''อย่างแรก ก็ต้องไปถามมหาวิทยาลัยก่อน เพราะการสอบคอมพ์เป็นเงื่อนไขของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่วิชาประจำคณะ จะต้องใช้คอมพ์แบบไหน โปรแกรมอะไร ถ้าต้องใช้ระบบออนไลน์ ก็ต้องไปถามเรือนจำว่าจะอนุญาตหรือไม่ และถ้าเป็นระบบออฟไลน์จะต้องเอาคอมพิวเตอร์ของใครไปใช้ในการสอบ การทำเช่นนี้จะผิดระเบียบเรือนจำหรือไม่''

ผศ.กิตติบดี ระบุว่า ข่าวที่เผยแพร่ออกไปว่าสามารถจัดการสอบให้นายจตุภัทร์ได้เลยนั้นถือว่าไม่ได้มองในภาพรวม แม้ว่ากระทรวงยุติธรรมจะได้ขอความร่วมมือมา แต่ยังต้องมีขั้นตอนดำเนินการอีกมาก

line

ครอบครัวไผ่ เผยไม่ปฏิเสธการสอบในเรือนจำ แต่ไม่ทำเรื่องร้องขอ

ไผ่ ดาวดิน

ที่มาของภาพ, BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ไผ่ ดาวดิน กับเพื่อนกลุ่มดาวดิน ตอนทำกิจกรรมที่ สน.ปทุมวัน 24 มิ.ย. 2558

ด้าน นางพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของนายจตุภัทร์ เปิดเผยกับบีบีซีไทย หลังเข้าเยี่ยมลูกชายที่ทัณฑสถานฯ วันนี้ (23 ม.ค.) ว่า นายจตุภัทร์และครอบครัวไม่ปฏิเสธที่กระทรวงยุติธรรมได้ประสานงานให้จัดการสอบในเรือนจำ แต่ครอบครัวจะไม่ทำเรื่องร้องขอกับทางมหาวิทยาลัยที่บุตรชายเรียนอยู่ เนื่องจากเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชดเชยและคุ้มครองสิทธิของบุตรชาย ซึ่งควรได้รับการประกันตัวเพื่อไปอ่านหนังสือและเตรียมตัวสอบ แต่กลับต้องมาถูกจองจำในเรือนจำ

นางพริ้ม ตั้งคำถามด้วยว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีวิธีการอย่างไรให้บุตรชายได้เข้าสอบและสามารถทำข้อสอบได้ด้วย เพราะบุตรชายมีข้อจำกัดจากการที่ต้องอยู่ในเรือนจำ

''ถ้ากระทรวงยุติธรรมต้องการจะดูแล และได้ประสานกับคณบดีแล้ว ก็ให้คณบดีเข้ามาจัดการเลย'' นางพริ้ม กล่าวทิ้งท้าย

line

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้การจับกุมไผ่ เป็น ''การปราบปรามคนเห็นต่าง''

ไผ่ ดาวดิน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang / bbc thai

ด้าน องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ออกแถลงการณ์วันนี้ (23 ม.ค.) เรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวและยกเลิกการดำเนินคดีต่อนายจตุภัทร์ พร้อมระบุว่า กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการใช้กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ในทางที่ผิดเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาลทหาร ซึ่งผู้นำทหารมีวิธีที่รุนแรงในการจัดการกับถ้อยคำที่ตนเองมองว่าน่าคัดค้าน นอกจากนี้ ยังระบุว่า ความอยุติธรรมของคดีนายจตุภัทร์ยังถูกทำให้ร้ายแรงยิ่งขึ้นจากกระบวนการฝากขังก่อนการพิจารณาคดีที่ยืดเยื้อ

ทั้งนี้ นายจตุภัทร์ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 หลังจากศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว ฐานแสดงความคิดเห็นในสื่อออนไลน์เป็นเชิงเยาะเย้ยอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และกลัวว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

หลายฝ่ายได้ออกมารณรงค์ให้ปล่อยตัวนายจตุภัทร์ เนื่องจากการ "เยาะเย้ยอำนาจรัฐ" ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการประกันตัว ซึ่งศาลจังหวัดขอนแก่นกำหนดไว้ครั้งมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีการวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 4 แสนบาท เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา หลังนายจตุภัทร์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แก่งคร้อ จ.ชัยภูมิ เข้าจับกุม ช่วง 2 วันก่อนหน้า จากการแชร์บทความพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทย ซึ่งมีการแชร์ไปกว่า 2 พันครั้ง