เผยนักปกป้องสิทธิไทยถูกฆ่า-สูญหาย เกือบ 60 คนใน 20 ปี

PROTECTION international, PI, NHRC, Human Rights Defender, Thailand

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและสูญหาย 59 คนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีทั้งนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน, ผูู้นำชุมชนที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ทนายความ รวมถึงพระสงฆ์

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ PROTECTION international (PI) เผยสถิตินักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยซึ่งถูกสังหารและสูญหายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีทั้งหมด 59 คน โดยในปี 2559 มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสูญหาย 1 คน คือ นายเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิที่ดินทำกินของคนในชุมชน ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกสังหารและบังคับให้สูญหายมากที่สุด

น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กร PI ระบุว่าสถานทูตต่างๆ ในประเทศไทยให้ความสนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และที่ผ่านมา PI ได้พยายามประสานงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองเสรีภาพ และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพราะรัฐต้องให้การคุ้มครองดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ที่ผ่านมากลไกรัฐบางส่วนอาจไม่สอดคล้องที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีนักปกป้องสิทธิในชุมชนมีข้อพิพาทกับผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าปล่อยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่รับหน้าที่สืบสวนเองอาจเป็นเรื่องลำบากใจ เพราะฉะนั้นองค์กรที่ใช้งบประมาณรัฐ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะต้องรับเรื่องสืบสวนกรณีพิเศษเหล่านี้ด้วย

PROTECTION international, PI, NHRC, Human Rights Defender, Thailand, กสม.

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ภาคีเครือข่ายสิทธิมนุษยชนเรียกร้องรัฐไทยต่อสู้กับการลอยนวลพ้นผิดของผู้ก่อเหตุละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงหยุดการกดขี่ คุกคาม และฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ

จากข้อมูลของ PI ระบุว่าคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยถูกสังหารและถูกบังคับให้สูญหายมีการสอบสวนและนำขึ้นสู่ชั้นศาลน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคดีที่เกิดขึ้น และหากมองย้อนหลังไป 35 ปี พบว่าประเทศไทยมีการบังคับสูญหาย 90 กรณี แต่ 81 กรณียังไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เห็นว่ารัฐและกระบวนการยุติธรรมในไทยล้มเหลว เพราะมีหลายคดีที่ผู้กระทำความผิดยังลอยนวลจนทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่กับสังคมและการเมืองไทย หากวัฒนธรรมนี้ยังคงอยู่จะสร้างสภาวะที่อันตรายอย่างถาวรต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กสม. ระบุด้วยว่า "วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเป็นความอัปลักษณ์ชั่วร้ายของสังคมไทย"

"ถ้ามีคนคิดว่าการฆ่าใครสักคนหรือทำให้คนหายไป จะทำให้คนเกิดความกลัว แต่โดยประวัติศาสตร์บอกเราว่าคนที่อยู่ข้างหลัง หรือคนในครอบครัวจะไม่ปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอีก หวังว่าภาครัฐจะเข้าใจมุมมองของครอบครัวและเข้าใจในการต่อสู้ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน"

ประชาชนถือป้ายรณรงค์การหายสาญสูญไปของเด่น คำแหล้

ที่มาของภาพ, Getty Images

นางอังคณายอมรับว่า แม้การอุ้มหายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมีจำนวนน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนไทยยังไม่ดีขึ้น เพราะมีการฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินและสิ่งแวดล้อม ถูกคุกคามทางเพศ เช่น มีการข่มขู่ว่า "ระวังจะโดนข่มขืน" ถือเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้เกิดความหวาดกลัว และการฟ้องร้องยังลุกลามไปถึงเยาวชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย และเมื่อมีการฟ้องร้อง ส่วนใหญ่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมักเป็นผู้แพ้คดี

ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กสม. เห็นว่าต้องผลักดันให้เกิดความคืบหน้าเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ... ที่นำเข้าสู่สภา เพื่อมาปกป้องในเรื่องนี้ และต้องปรับให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเฉพาะตัวคณะกรรมการพิจารณาการออกกฏหมายส่วนใหญ่มักเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีความหลากหลาย ควรนำผู้สูญเสียและผู้มีประสบการณ์ตรงเข้าไปร่วมพิจารณาด้วย