7 วัน สินบน “การบินไทย-ปตท.” หลายฝ่ายขยับตัวหาคนผิด

การบินไทย

ที่มาของภาพ, Dario Pignatelli/Bloomberg via Getty Images

เพียง 1 สัปดาห์ หลายฝ่ายก็ขยับตัวเร่งหาผู้กระทำผิดจาก "สินบนโรลส์-รอยซ์" ทั้งกรณีการบินไทย และ ปตท. แต่น่าสนใจว่า ท้ายที่สุดแล้วจะสามารถจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษได้จริงหรือไม่

หลังจากมีการเปิดเผยเรื่องการจ่ายสินบนของ บริษัท โรลส์-รอยซ์ จำกัด (Rolls-Royce) บริษัทเครื่องยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติอังกฤษ ต่อ "ผู้แทนของประเทศไทย และพนักงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)" เป็นเงินสูงถึง 1,253 ล้านบาท ระหว่างปี 2534-2548 เพื่อให้ความช่วยเหลือในการจัดซื้อเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ Trent 800 หรือ T800 ของโรลส์-รอยซ์ ถึง 3 ล็อต ไปเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีความเคลื่อนไหวจากผู้เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่ายต่อกรณีดังกล่าว อย่างคึกคัก

line

การบินไทยตั้งทีมหาคนผิด - คมนาคมขีดเส้นรู้ผลใน 30 วัน

จรัมพร โชติกเสถียร

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย

หลังเป็นข่าวไม่ทันข้ามวัน นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ก็เปิดเผยว่า บอร์ดการบินไทย มีมติให้ฝ่ายบริหารตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น เพื่อให้ทราบว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลใดบ้าง โดยระเบียบของบริษัทเปิดช่องให้ตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขยายระยะเวลาได้ถึง 90 วัน ซึ่งหากพบว่ามีผู้บริหารหรืออดีตผู้บริหารรายใดเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ก็จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป

การบินไทยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ ประกอบด้วย

  • คณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์และการซ่อมบำรุง โดยมี "นายพิเชษฐ์ เรียงวัฒนสุข" ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารความเสี่ยง การบินไทย เป็นประธาน คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบไม่เกิน 15 วัน
  • คณะกรรมการตรวจสอบเรื่องทุจริตในการจัดหาเครื่องยนต์และการซ่อมบำรุง ในระหว่างปี 2534-2548 โดยมี "นายนิรุฒ มณีพันธ์" ที่ปรึกษาดีดี การบินไทย เป็นประธาน คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบไม่เกิน 7 วัน หลังคณะกรรมการชุดแรกทำงานแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ จะมีการทำหนังสือไปขอรายงานฉบับเต็มว่า โรลส์-รอยซ์ ได้จ่ายสินบนอย่างไร และมีใครเกี่ยวข้องบ้าง

ด้านนายอาคม พิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังเรียกผู้บริหารการบินไทยมาพูดคุยว่า ให้การบินไทยสอบสวนให้แล้วเสร็จและส่งรายงานกลับมากระทรวงคมนาคมภายใน 30 วัน หรือกลาง ก.พ. 2560

line

ปตท. ขยับสอบบ้าง หลังปมสินบนลามถึง

ปตท

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

ประเด็นเรื่องสินบนโรลส์-รอยซ์ ยังลามจากการบินไทย ไปยังอีกหนึ่งรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เมื่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาตรวจสอบพบว่า โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ ปตท. และ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ทั้งในระดับผู้บริหาร 1 คน ระดับพนักงาน 3 คน และไม่สามารถระบุได้ 2 คน เป็นเงินกว่า 385 ล้านบาท ระหว่างปี 2546-2556

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงที่ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ที่ใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์

โดยมีรายงานจากแหล่งข่าวใน ปตท.ว่า มีการแต่งตั้งให้ "นายชวลิต พันธุ๋ทอง" ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริหารความยั่งยืน ปตท. เป็นประธาน กำหนดระยะเวลาทำงาน 30 วัน ก่อนส่งรายงานกลับมาให้บอร์ด ปตท. ภายใน 30 วัน หรือกลาง ก.พ. 2560 เช่นเดียวกับการบินไทย

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ระบุรายชื่อโครงการที่พบว่า โรลส์-รอยซ์จ่ายสินบนให้กับ ปตท.จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการ GSP-5 ระหว่างปี 2546-2547 2.โครงการ OCS3 ระหว่างปี 2549-2551 3.โครงการ PTT Arthit ระหว่างปี 2549-25514.โครงการ PCS ระหว่างปี 2549-2551 5.โครงการ ESP-PTT ระหว่างปี 2550-2556 และ 6.โครงการ GSP-6 ระหว่างปี 2551-2552

line

ป.ป.ช. - สตง. ลุยขอข้อมูล พบบางส่วนหมดอายุความแล้ว

โรลส์-รอยซ์

ที่มาของภาพ, PA

หลังกรณีสินบนการบินไทยกลายเป็นข่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ขยับตรวจเข้ามาตรวจสอบด้วยเช่นกัน โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้สำนักการต่างประเทศขอข้อมูลจากทางการอังกฤษและสหรัฐฯ และสำนักการข่าวและประมวลผลขอข้อมูลจากการบินไทย

อย่างไรก็ตาม พบว่าโครงการจัดซื้อเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ ในล็อตแรก ระหว่างปี 2534-2534 ได้หมดอายุความ เนื่องจากเกิน 20 ปี ขณะที่ล็อตที่สอง ระหว่างปี 2535-2540 บางส่วนก็ใกล้หมดอายุความ ส่วนล็อตที่สาม ระหว่างปี 2547-2548 ที่ยังไม่หมดอายุความก็จะเร่งดำเนินการ

สำหรับกรณีสินบน ปตท. ได้มอบหมายให้นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ไปแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น

ขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย โดยนายพิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. เปิดเผยว่า กรณีสินบนการบินไทย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ สตง. ส่งอีเมล์ไปขอข้อมูลจากทางการอังกฤษแล้วว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง ส่วนกรณีสินบน ปตท. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น คาดว่าจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการรวบรวมข้อมูล

line

เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้าง

การบินไทย

ที่มาของภาพ, ROLLS-ROYCE

เมื่อเป็นข่าวอื้อฉาว ก็มีการเสียงเรียกร้องให้ปฏิบัติกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะในการบินไทย

นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) อดีตกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ (คตช.) ในฐานะอดีตบอร์ดการบินไทย กล่าวเรียกร้องว่า สิ่งที่บอร์ดการบินไทยชุดปัจจุบันควรทำ มี 3 ประการ คือ

  • เปิดเผยชื่อ ผู้ที่เป็นเอเย่นต์ของโรลส์-รอยซ์ ตลอดเวลาที่ผ่านมา
  • สั่งเลิกการจัดซื้อ Strategic Procurement ผ่านระบบเอเย่นต์ทั้งหมด เพราะ เครื่องบิน เครื่องยนต์ อะไหล่ เก้าอี้ ของพวกนี้มีไม่กี่รุ่น ผู้ผลิตไม่กี่ราย ติดต่อตรงได้ทั้งหมด ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อผ่านเอเย่นต์ สายการบินส่วนใหญ่ก็จัดซื้อตรง ฃ
  • รื้อระบบจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด รวมไปถึง Non-strategic Procurement เช่น ซื้อของใช้ของแจก อาหาร วัตถุดิบทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีเอเย่นต์เจ้าประจำในรูปแบบต่างๆ ให้ใช้ระบบGlobal Procurementที่ได้มาตรฐานเหมือนสายการบินชั้นนำทั้งหลาย

เช่นเดียวกับ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ที่ระบุว่า ระหว่างปี 2552-2553 เคยมีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเข้าไปจัดระเบียบวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทย โดยพบว่า การบินไทยเป็นสายการบินเดียวที่ยังใช้ "คนกลาง" ในการจัดซื้อจัดจ้างแทบทุกอย่าง ตั้งแต่มะนาวไปจนถึงเครื่องบิน ต่างกับสายการบินอื่นที่ซื้อตรงจากคู่ค้าทั้งหมด ทำให้ซื้อได้ถูกกว่าการบินไทย ซึ่งคำรับสารภาพของโรลส์-รอยซ์ทำให้เห็น่วาการใช้ "คนกลาง" เป็นช่องทางที่ทำให้สะดวกในการจ่ายเงินใต้โต๊ะ ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดที่ตนแต่งตั้งได้ปรับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทยไปได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ในปี 2554 ทุกอย่างก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม

"เพราะฉะนั้นอย่าเพียงแค่ดราม่าตามจับผู้ผิดในอดีตครับ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการปฏิรูปภายในเพื่อป้องกันการทุจริตในอนาคต" นายกรณ์ระบุ

line
การบินไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

น่าติดตามว่ากรณีสินบนที่พัวพันกับรัฐวิสาหกิจของไทย ทั้ง 2 หน่วยงาน สุดท้ายแล้วจะสามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้หรือไม่ โดยเฉพาะกรณีสินบนการบินไทย ที่เป็นข่าวขึ้นมา เนื่องจากทางโรลส์-รอยซ์ ถูกศาลอังกฤษสั่งให้จ่ายค่าปรับเป็นเงินถึงกว่า 30,000 ล้านบาท ภายหลังสำนักงานต่อต้านการทุจริต (Serious Fraud Office - SFO) ของอังกฤษ ร่วมกับทางการของสหรัฐฯ และบราซิล ใช้เวลาถึง 5 ปี ตรวจสอบจนพบการกระทำผิดถึง 12 ครั้ง ใน 7 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย ไนจีเรีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

ทั้งนี้ สื่อมวลชนไทยหลายแห่งได้เปิดเผยรายชื่อประธานบอร์ด รวมถึงดีดี ของการบินไทย ในช่วงที่เกิดเหตุ คือระหว่างปี 2534-2548 แต่หลายๆ คนก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น นายทนง พิทยะ อดีตประธานบอร์ดการบินไทย (ระหว่างปี 2547-2548) เช่นเดียวกับอดีตผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. ระหว่างปี 2546-2556 อย่างนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. (ระหว่างปี 2546-2554)

หลายหน่วยงานขีดเส้นว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เมื่อถึงเวลานั้นก็น่าจะพอรู้แล้วว่า ใครจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสินบนนี้บ้าง

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงกรณีล่าสุด สินบนการจัดซื้อสายไฟฟ้าของบริษัท เจเนอรัล เคเบิล จำกัด ที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตรวจสอบพบเช่นกันว่า โดยปรากฎชื่อรัฐวิสาหกิจไทย อีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง

เรื่องสินบนในรัฐวิสาหกิจของไทย ที่ถูกจุดประเด็นจากต่างชาติ กลายเป็นไฟลามทุ่มขึ้นแล้วในประเทศไทย