ยูนิเซฟแนะไทยลงทุนเพิ่มด้านการพัฒนาสมองเด็กเล็ก แก้ปัญหาพัฒนาการไม่สมวัย

วันเด็กแห่งชาติ, ยูนิเซฟ, เด็กเล็ก, ปฐมวัย, พัฒนาการไม่สมวัย, ปัญหา, กรมอนามัย, สาธารณสุข, วิกฤติทางด้านพัฒนาการ, การศึกษา, อ่านไม่ออก, เขียนไม่ได้, คิดไม่เป็น

ที่มาของภาพ, Sakchai Lalit/AP

คำบรรยายภาพ, ยูนิเซฟเผยว่าไทยมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเด็กหลายด้าน แต่ยังมีเด็กปฐมวัยจำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม

องค์การยูนิเซฟเผยแพร่ข้อมูลเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ 14 ม.ค. โดยแนะนำให้ไทยเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาสมองของเด็กเล็กมากขึ้น เพราะเป็นวิธีที่ฉลาดที่สุดในการพัฒนาทักษะทางการเรียนรู้ สังคมและอารมณ์ให้แก่เด็ก และยังเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว ขณะที่ผลการสุ่มสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 พบว่าเด็กปฐมวัยไทยมีพัฒนาการล่าช้าต่ำกว่ามาตรฐานถึงร้อยละ 30 และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้านการศึกษาที่เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และคิดไม่เป็น

ยูนิเซฟประมาณการณ์ว่าเด็กหลายล้านคนทั่วโลกกำลังเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางสมอง และในส่วนของประเทศไทย แม้จะมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเด็กหลายด้านช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น อัตราการตายของเด็กแรกเกิตลดลงจนอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงสามารถยุติการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ยังมีเด็กปฐมวัยจำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม

ข้อมูลสถิติของยูนิเซฟบ่งชี้ว่าเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบ 1 ใน 6 ในประเทศไทยยังมีภาวะเตี้ยแคระเกร็น เด็กน้อยกว่าครึ่งประเทศมีหนังสือเด็กอยู่ที่บ้านไม่ถึงสามเล่ม และพ่อเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ซึ่ง นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นลำดับแรก เพราะช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาเด็ก

วันเด็กแห่งชาติ, ยูนิเซฟ, เด็กเล็ก, ปฐมวัย, พัฒนาการไม่สมวัย, ปัญหา, กรมอนามัย, สาธารณสุข, วิกฤติทางด้านพัฒนาการ, การศึกษา, อ่านไม่ออก, เขียนไม่ได้, คิดไม่เป็น

ที่มาของภาพ, CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กปฐมวัยไทยมีวิกฤตทางด้านพัฒนาการ โดยมีพัฒนาการล่าช้าต่ำกว่ามาตรฐานถึงร้อยละ 30

ส่วนข้อมูลจากวารสารการแพทย์เดอะแลนเซ็ท ระบุว่าเด็กเกือบ 250 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาที่เสี่ยงต่อการมีพัฒนาการไม่สมวัยเนื่องจากภาวะเตี้ยแคระเกร็นและความยากจน อย่างไรก็ตาม เด็กที่ยากไร้ในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้สูงก็เผชิญกับความเสี่ยงนี้เช่นกัน

ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่เผยแพร่เมื่อเดือน มิ.ย.2559 พบว่า เด็กปฐมวัยไทยมีวิกฤตทางด้านพัฒนาการ โดยมีพัฒนาการล่าช้าต่ำกว่ามาตรฐานถึงร้อยละ 30 และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการศึกษาของเด็กไทยซึ่งประมาณร้อยละ 10-15 ของเด็กไทยชั้น ป.3 และ ป.6 "อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดไม่เป็น" ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อมูลดังกล่าวยังได้อ้างถึงการระดมความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดสัปดาห์รณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยอายุ 9, 18, 30, 42 เดือน ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 4- 8 กรกฎาคม 2559 จำนวน 40,000 คน เพื่อค้นหาเด็กสงสัยพัฒนาการล่าช้าด้วย

วันเด็กแห่งชาติ, ยูนิเซฟ, เด็กเล็ก, ปฐมวัย, พัฒนาการไม่สมวัย, ปัญหา, กรมอนามัย, สาธารณสุข, วิกฤติทางด้านพัฒนาการ, การศึกษา, อ่านไม่ออก, เขียนไม่ได้, คิดไม่เป็น

ที่มาของภาพ, MADAREE TOHLALA/AFP/Getty Images

ส่วนข้อมูลการสำรวจพัฒนาการเด็กของกรมอนามัยเมื่อปี 2557 พบเด็กแรกเกิด - 2 ปี มีพัฒนาการไม่สมวัยร้อยละ 22 ส่วนเด็กอายุ 3- 5 ปีมีพัฒนาการไม่สมวัยสูงถึงร้อยละ 34 หรือ 1 ใน 3 จำเป็นต้องเร่งค้นหาเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ให้ได้รับการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม โดยพบว่าร้อยละ 90 ของเด็กจะกลับมาปกติ ส่วนอีกร้อยละ 10 อาจมีปัญหาอื่นๆ เช่น ออทิสติก หรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้ ซึ่งต้องรับการดูแลรักษาและกระตุ้นพัฒนาการโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง