ทรัมป์เซ็นคำสั่งให้สหรัฐฯ ออกจาก "ทีพีพี" แล้ว

คนถือป้ายค้านทีพีพี

ที่มาของภาพ, Getty Images

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งคำสั่งฝ่ายบริหารให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกจาก ความตกลงหุ้นส่วน เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก 12 ประเทศ หรือ ทีพีพี (TPP) ที่รัฐบาลนายบารัค โอบามา เป็นผู้ริเริ่มและให้การสนับสนุน

"สิ่งที่ผมเพิ่งทำไป นับเป็นเรื่องวิเศษสุดสำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงานชาวอเมริกัน" ทรัมป์ ประกาศ ขณะที่กำลังจรดปากกาลงนามในคำสั่งดังกล่าวที่ห้องทำงานรูปไข่ ที่ทำเนียบขาว

ข้อตกลงทีพีพี

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผู้แทนประเทศต่าง ๆ ร่วมลงนามในข้อตกลงทีพีพีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016

การลงนามถอนตัวจากทีพีพีถือเป็น 1 ใน 3 ภารกิจในวันที่สามของการปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีของทรัมป์ สองเรื่องก่อนหน้านี้ คือ การออกคำสั่งห้ามจ้างข้าราชการเพิ่ม และห้ามให้รัฐบาลกลางอุดหนุนเงินแก่องค์กรนานาชาติที่ให้บริการด้านการทำแท้ง

ด้านเว็บไซต์ทำเนียบขาว ได้เผยแพร่แนวนโยบายต่างประเทศภายใต้รัฐบาลใหม่ ในวันแรกที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ โดยเน้นย้ำมุมมองที่ว่าอเมริกาต้องมาเป็นที่หนึ่ง หรือ 'America First' เพราะสำหรับรัฐบาลทรัมป์แล้ว เท่าที่ผ่านมาข้อตกลงการค้าต่างๆ เอื้อประโยชน์เฉพาะหมู่คนร่ำรวยแทนที่จะเป็นประชาชนทั่วไป ภาคอุตสาหกรรมเผชิญความถดถอย โรงงานต่างย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ และชาติต้องแบกรับตัวเลขขาดดุลการค้า

กลยุทธ์ที่ทางทำเนียบขาวระบุว่าจะนำมาใช้เป็นลำดับแรกคือ การถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ ทีพีพี และหันมาเจรจาการค้าใหม่ ให้เป็นประโยชน์กับแรงงานชาวอเมริกัน

โดนัลด์ ทรัมป์ (กลาง)

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, โดนัลด์ ทรัมป์ พบปะหารือกับผู้บริหารภาคธุรกิจ (ซ้าย) นายอเล็กซ์ กอร์สกี ซีอีโอของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และนายไมเคิล เดลล์ แห่งบริษัทเดลล์

เว็บไซต์ทำเนียบขาวระบุด้วยว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะรื้อข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟตา ขึ้นมาเจรจาใหม่ และถ้าประเทศในข้อตกลงปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอที่เป็นธรรมกับแรงงานชาวอเมริกัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็พร้อมจะให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากนาฟตา

นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะปราบปรามการละเมิดข้อตกลงการค้า ซึ่งทำให้เกิดผลเสียกับแรงงานชาวอเมริกัน โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมอบหมายให้รัฐมนตรีพาณิชย์ ตรวจหาการกระทำผิดข้อตกลงการค้าและใช้เครื่องมือทุกอย่างที่รัฐบาลกลางมีเพื่อยุติการละเมิดเหล่านั้น

ทำเนียบขาวระบุด้วยว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการเจรจาต่อรองมาตลอดชีวิต และเข้าใจถึงความสำคัญที่การค้าระหว่างประเทศจะต้องให้ประโยชน์กับแรงงานและธุรกิจของชาวอเมริกันเป็นอันดับแรก เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโต ดึงการจ้างงานกลับเข้าประเทศ และฟื้นฟูชุมชนที่กำลังยากลำบาก

ทำเนียบขาว

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, ทำเนียบขาว

ในส่วนการนโยบายต่างประเทศโดยรวม ทำเนียบขาวชี้ว่าจะเน้นผลประโยชน์และความมั่นคงสหรัฐฯ รวมถึงจะใช้หลักการบรรลุสันติภาพด้วยความแข็งแกร่ง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้โลกมั่นคง ลดความขัดแย้ง และหันมาใช้หลักความเห็นร่วมกันมากขึ้น

สิ่งที่จะได้รับความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง คือการเอาชนะกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลามหรือ ไอเอส รวมถึงกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมสายแข็งกร้าวอื่นๆ โดยสหรัฐฯ จะเข้าร่วมปฏิบัติการที่ต้องใช้กำลังทางทหารเมื่อจำเป็น และจะทำงานร่วมกับประเทศที่เป็นหุ้นส่วน เพื่อตัดเงินสนับสนุนของกลุ่มก่อการร้าย นอกจากนี้ยังจะขยายการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง รวมถึงหันมาทำสงครามไซเบอร์ เพื่อขัดขวางโฆษณาชวนเชื่อและการเกณฑ์อาสาสมัครของกลุ่มเหล่านี้

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม (ไอเอส)

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, สหรัฐฯ ประกาศจะให้ความสำคัญกับการเอาชนะกลุ่มไอเอสให้ได้

อันดับที่สอง คือการขยายกองทัพ โดยจะเพิ่มจำนวนเรือรบและขนาดของกองทัพอากาศ เพื่อสยบข้อกังขาในเรื่องอิทธิพลด้านการทหารของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังเน้นย้ำว่า ช่องทางการทูตมีไว้เพื่อสร้างมิตร โดยจะยินดีเสมอหากศัตรูเก่าจะกลายมาเป็นมิตรประเทศ และมิตรประเทศที่มีอยู่แล้วจะเป็นพันธมิตรที่ดีต่อไป ซึ่งสหรัฐอเมริกาที่แข็งแกร่งและได้รับความนับถือยำเกรง จะทำให้โลกมีสันติภาพและมั่งคั่งยิ่งขึ้น