“ประวิตร” ไม่นำคำสั่ง 66/23 สมัย "เปรม" มาใช้สร้างความปรองดอง

Pravit Wongsuwan

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ไม่รับข้อเสนอ สปท. ให้นำคำสั่ง 66/23 และ 65/25 สมัย "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" เป็นนายกรัฐมนตรีมาเป็นโมเดลสร้างปรองดองรอบใหม่ เหตุสถานการณ์ต่างกัน

วันนี้ (24 ม.ค. 2560) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้รับผิดชอบคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่คณะกรรมการย่อยของ "คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)" กล่าวถึงกรณีที่มีสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บางส่วน เสนอให้นำคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และที่ 65/2525 สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มาใช้เพื่อสร้างความปรองดอง ว่า ตนคงไม่นำแนวทางดังกล่าวมาใช้ เพราะคำสั่งดังกล่าวเป็นเรื่องในอดีต และกำหนดขึ้นเพื่อใช้แก้ไขปัญหาผู้ก่อการร้าย แต่ในครั้งนี้เป็นการสร้างความปรองดองของคนในชาติ ซึ่งตนจะทำให้คนมีความเข้าใจร่วมกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวว่า จะไม่นำกฎหมายใด ๆ มาเกี่ยวข้องกับการปรองดอง แต่ในเวลาเดียวกันก็จะไม่ละเมิดกฎหมายที่มีอยู่ ยกเว้นหากมีความจำเป็น เมื่อกระบวนการเดินหน้าต่อไปไม่ได้และต้องออกกฎหมายใหม่ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังถือว่าคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองยังไม่ได้รับการจัดตั้งมาอย่างเป็นทางการ เพราะต้องรอให้คณะกรรมการ ป.ย.ป. ชุดใหญ่ ได้ประชุมกันสักครั้งก่อน

Prem Tinsulanon and Pravit Wongsuwan

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

สำหรับคณะกรรมการ ป.ย.ป. จัดตั้งขึ้นมาโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2560 เพื่อทำภารกิจ 3 ด้าน คือปฏิรูปประเทศ เดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยจะมีคณะกรรมการย่อย 4 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และ 4.คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยรายชื่อคณะกรรมการย่อยชุดต่างๆ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทาบทาม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 31 ม.ค. 2560

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ตอบรับคำเชิญให้มาเป็นผู้อํานวยการสํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีแล้ว

ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ม.ค. 2560 จะมีการประชุมวิปแม่น้ำ 3 สาย ประกอบด้วยตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สปท. ซึ่งมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเลขานุการ ป.ย.ป. เป็นประธาน เพื่อกลั่นกรองวาระการปฏิรูปประเทศ ก่อนจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการของคณะกรรมการ ป.ย.ป. ชุดใหญ่ ในวันที่ 1 ก.พ. 2560 ต่อไป