ตามรอยประวิตร ชมงานแสดงอาวุธระดับโลกที่ลอนดอน

คำบรรยายวิดีโอ, งานแสดงอาวุธระดับโลกที่ลอนดอน

คณะผู้แทนจากไทย นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหนึ่งในคณะผู้นำทหารจากหลายประเทศทั้งเผด็จการและประชาธิปไตย ที่ได้รับคำเชิญจากรัฐบาลอังกฤษให้เยี่ยมชม Defence and Security Equipment International หรือ DSEI งานแสดงอาวุธที่ใหญ่ที่สุดในโลกงานหนึ่ง ณ กรุงลอนดอน

บีบีซีไทยพาเยี่ยมชมงานที่รวบรวมอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีทางการป้องกันและรักษาความปลอดภัยนี้ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์และการประท้วงว่า คืองานที่ส่งเสริมความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศทั่วโลก

ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมจัดแสดงถึง 1,600 ราย และซุ้มตัวแทนอย่างเป็นทางการของอีก 42 ประเทศ งาน DSEI ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปีนี้ รวบรวมนวัตกรรมอาวุธ ยานพาหนะ ระบบการป้องกันและรักษาความปลอดภัยหลากหลายชนิดไว้ด้วยกัน โดยในงานจะแบ่งเป็นโซนหลัก ๆ คือ ทางอากาศ ทางเรือ และภาคพื้นดิน โดยงานจัดขึ้นตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ (15 ก.ย.) เป็นวันสุดท้าย

รถถัง

ที่มาของภาพ, Getty Images

ไฮไลท์ของโซนอากาศคือ การเปิดตัวเครื่องบินซ้อมรบรุ่น กริพเพน อะเกรสเซอร์ ของ ซาบ บริษัทผู้ผลิตสัญชาติสวีเดน โดยเครื่องบินรุ่นนี้ที่พัฒนามาจากเครื่องบินกริพเพนซีรีส์ C ที่กองทัพอากาศไทยมี และคนไทยอาจคุ้นหูจากเหตุการณ์สลดเมื่อต้นปีที่ เครื่องบินขับไล่ กริพเพน 39C เกิดอุบัติเหตุบินตกขณะบินแสดงในงานวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งทำให้ นาวาอากาศตรี ดิลกฤทธิ์ ปัถวี เสียชีวิต

แนวโน้มของนวัตกรรมการต่อสู้ทางการทหารที่เห็นได้ชัดในงานนี้ คือการพัฒนาเทคโนโลยีที่พึ่งพาคนน้อยลง มีผู้จัดแสดงอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle) หรือที่รู้จักกันง่าย ๆ ว่า โดรน มากเป็นพิเศษ และนี่ก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะการสอดแนมและต่อสู้ทางทหารที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยกองทัพสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม(ไอเอส) ก็ใช้เทคนิคดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ในการโจมตีเช่นกัน

พลตรี ร๊อดดี้ พอร์ตเตอร์ โฆษกงาน DSEI ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนสำหรับงานในปีนี้เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่แล้ว คือจำนวนผู้เข้าร่วมจัดแสดงที่เพิ่มขึ้นและความสนใจที่หลากหลายมากขึ้น และนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นลักษณะเด่นของ DSEI

กริพเพน อะเกรสเซอร์

ที่มาของภาพ, BBC THAI

คำบรรยายภาพ, กริพเพน อะเกรสเซอร์

"DSEI เป็นการผสมผสานระหว่างความคิดทางยุทธศาสตร์ โดยรัฐบาล กระทรวงกลาโหม คนในอุตสาหกรรมนี้ และวงการวิชาการ มีส่วนร่วมในการคิดถึงปัญหา โอกาส และภัยคุกคามที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และเหล่าผู้ผลิตที่มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มุ่งจะคว้าโอกาสและจัดการกับภัยคุกคามนั้น ๆ"

ในฐานะเจ้าภาพ การจัดแสดงโดยกรมการค้านานาชาติของสหราชอาณาจักร ซึ่งรวบรวมผู้ผลิตอาวุธสงครามและเทคโนโลยีป้องกันชั้นนำของอังกฤษ โดยมีการนำเสนอเทคโนโลยีที่เป็นองค์ประกอบย่อย ๆ ในกระบวนการสู้รบทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมพลังงานไฟฟ้าในเสื้อเกราะทหาร หรือเครื่องมือผลิตน้ำจากความชื้นในอากาศ ไปจนถึงระบบยิงขีปนาวุธและระบบพลางตัวสำหรับยานพาหนะ

"อาวุธที่ขายที่นี่เป็นเชื้อเพลิงให้กับความตาย การทำลายล้าง และอยุติธรรมที่ก่อโดยกองทัพทหารและกองกำลังตำรวจ และที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนทั่วโลก สงคราม อยุติธรรม และการกดขี่เริ่มต้นที่นี่ เรามาร่วมกันหยุดสิ่งเหล่านี้ที่นี่" ขบวนการต่อต้านการค้าอาวุธ CAAT กล่าวไว้บนเว็บไซต์ www.caat.org.uk

ทดสอบปืน

ที่มาของภาพ, Getty Images

หนังสือพิมพ์ อีฟนิง แสตนดาร์ด รายงานเมื่อวันจันทร์ว่า ตำรวจอังกฤษได้จับกุมผู้ประท้วงไปแล้ว 102 คน ภายหลังพยายามขัดขวางไม่ให้ผู้ร่วมแสดงงานเข้าไปจัดสถานที่ในย่านด็อกแลนด์ ของลอนดอน

เดอะการ์เดี้ยน คาดว่า จะมีผู้เข้าชมงานนี้ถึง 34,000 คน ซึ่งรวมถึงตัวแทนบรรดารัฐบาลที่มีชื่อเสียด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย และ ตัวแทนจากบริษัทค้าอาวุธ 10 รายใหญ่ที่สุดของโลก

MDBA บริษัทผู้ผลิตขีปนาวุธยักษ์ใหญ่จากยุโรป นำเฮลิคอปเตอร์จำลองมาจัดแสดงในงานเพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ขึ้นนั่งและทดลองยิงเป้าหมายที่ภาคพื้นดินด้วยระบบขีปนาวุธของ MDBA ซึ่งเป็นระบบที่กองทัพสหราชอาณาจักรใช้

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาวุธและเทคโนโลยีการป้องกันอย่าง BAE Systems เปิดตัวระบบเทคโนโลยีที่จดสิทธิบัตรในชื่อ ADAPTIV ซึ่งเป็นระบบพลางตัวสำหรับทั้งรถถัง เรือ และเครื่องบิน ทำให้ระบบวัดอุณหภูมิของคู่ต่อสู้ไม่สามารถระบุตำแหน่งของยานพาหนะได้

กระสุน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในโซนทางเรือ และภาคพื้นดิน นอกจากอาวุธและยานพาหนะตามแบบแผน ไม่ว่าจะเป็นปืนสั้นไปจนถึงขีปนาวุธ หรือรถหุ้มเกราะ รถถัง ไปจนถึงเรือรบ แนวโน้มของเทคโนโลยีในลักษณะเดียวกันกับโซนทางอากาศ คือการหันไปพึ่งระบบยานพาหนะที่สามารถควบคุมตัวเองได้หรือสามารถควบคุมได้จากทางไกล เพื่อลดความเสี่ยงสำหรับมนุษย์เอง

บริษัทอย่าง Harris Corporation และ Tralee ต่างก็ผลิตหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด ในขณะที่ BAE Systems เป็นผู้ผลิตเจ้าแรก ๆ ที่ผลิตเรือลาดตระเวนและสอดแนมที่ควบคุมจากระยะไกล

ในด้านการรักษาความปลอดภัย สินค้าที่ผู้ผลิตนำมาจัดแสดงก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตในเกาหลีเหนือ หรือการโจมตีทางไซเบอร์ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Weibel Scientific จากเดนมาร์ก ที่พัฒนาระบบระบุตำแหน่งขีปนาวุธ หรือบริษัท RUAG จากสวิตเซอร์แลนด์ที่พัฒนาด้านความปลอดภัยของระบบข้อมูลออนไลน์

HMS Argyll

ที่มาของภาพ, BRITISH MINISTRY OF DEFENCE

คำบรรยายภาพ, HMS Argyll

ดันแคน รีด ผู้อำนวยการงาน DSEI ระบุในแคตตาล็อกของงานว่า โลกสมัยใหม่เป็นสถานที่ที่อันตราย เราเรียนรู้ทุก ๆ วันถึงภัยคุกคามใหม่ ๆ จากทั่วทุกมุมโลก และภัยต่อความมั่นคงของชาติที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแค่เรื่องการเมืองระหว่างชาติ ปัจจุบัน รัฐบาลยังต้องรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์และภัยการก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และงานนี้เป็นโอกาสให้คณะผู้แทนต่าง ๆ ที่ต้องการปกป้องประชาชนของตัวมาได้เจอกับเทคโนโลยี ระบบ และเครื่องมือเหล่านี้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ ภายนอกสถานที่จัดงาน ยังมีการนำเรือรบถึง 7 ลำมาจัดแสดง เป็นเรือของกองทัพอังกฤษ 5 ลำ นำโดยเรือฟริเกต HMS Argyll ซึ่งเพิ่งติดตั้งระบบขีปนาวุธที่จะช่วยป้องกันภัยทางอากาศ และ BNS Pollux จากเบลเยียม และ Le Samuel Beckett ของไอร์แลนด์