“วิษณุ" เผยต้องเลื่อนเลือกตั้งเป็นต้นปี 61

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย

ที่มาของภาพ, Royal Thai Government

คำบรรยายภาพ, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย

"วิษณุ เครืองาม" รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย เผยต้องเลื่อนการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นต้นปี 2561 อ้างเป็นไทม์ไลน์ที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้ว

วันนี้ (8 ก.พ. 2560) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่ระบุผ่านเวทีเสวนาแห่งหนึ่ง ว่าการเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นในช่วงเวลาอีก 1 ปีนับจากนี้ หรือช่วงต้นปี 2561 ว่า ไทม์ไลน์นี้ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างนั้น แต่อย่าไปเอาเป็นเอาตายว่าต้อง 365 วัน หรือจะมีขึ้นภายในเดือน ก.พ. 2560 โดยขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อนำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... ฉบับที่ผ่านการทำประชามติ ไปแก้ไขตามข้อสังเกตพระราชทานเสร็จสิ้น ซึ่งตามกำหนดจะต้องไม่เกินวันที่ 18 ก.พ. 2560 ก็จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งขั้นตอนหลังจากนั้น รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน หากพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย จะให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญฯ ใช้บังคับได้

"เมื่อรัฐธรรมนูญฯ ประกาศใช้ หลายอย่างต้องดำเนินการทันที ที่ใช้คำว่า 1 ปี ไม่ได้ต้องการให้รู้สึกว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฯ ประกาศใช้ กว่าจะทำอะไรได้อีกตั้งนาน ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะมีเรื่องที่ต้องทำทันทีอีกหลายเรื่อง เช่นในร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 ที่บัญญัติไว้ว่าการตรากฎหมายทุกฉบับให้รัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน ที่จะทำให้ขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไปมีขั้นตอนที่มากขึ้น" นายวิษณุกล่าว

หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2561 จริง จะเกินจากระยะเวลาตามโรดแมปเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดมาตลอดว่าการเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นภายในปี 2560

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG / BBC THAI

ทั้งนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ได้กำหนดสิ่งที่ต้องทำก่อนการเลือกตั้ง ไว้ 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย

  • ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งรวม 4 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ภายในระยะเวลา 240 วัน
  • ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ภายในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างจาก กรธ.
  • ให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวาย ร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว เพื่อทรงพระปรมาภิไธย และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับ
  • ให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ร่าง พ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้ง 4 ฉบับ มีผลใช้บังคับ

ด้าน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ระบุว่า เรื่องการเลือกตั้งยังไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะกรอบเวลาการเลือกตั้งจะเริ่มนับหนึ่งได้ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฯ มีผลใช้บังคับ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เริ่ม แต่ กรธ. จะเดินหน้าจัดทำ พ.ร.ป. หรือกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งยืนยันว่าจะสามารถเสนอต่อ สนช. ได้ทันที หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฯ มีผลใช้บังคับ