เผยขั้นตอนสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชยึดตามปี 2532

วัดราชบพิธ, สมเด็จพระมหามุนีวงศ์, สมเด็จพระสังฆราช. องค์ที่ 20, สมเด็จพระอริยวงศาคตญา, สกลมหาสังฆปริณายก, พระราชพิธีสถาปนา

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ตัวแทนรัฐบาลเตรียมถวายฎีกาอาราธนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในวันที่ 10 ก.พ.ที่จะถึง

รัฐบาลเตรียมถวายฎีกาอาราธนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์เข้ารับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 พร้อมระบุว่าการสถาปนาจะดำเนินตามขั้นตอนครั้งล่าสุดเมื่อปี 2532

นายออมสิน ชีวพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เตรียมถวายฎีกาอาราธนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในวันที่ 10 ก.พ.ที่จะถึงนี้ เพื่อให้เข้ารับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจะมีขึ้นในเวลา 17.00 น. วันที่ 12 ก.พ. 2560 ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเสด็จดำเนินไปประกอบพระราชพิธีตามราชประเพณี

วัดราชบพิธ, สมเด็จพระมหามุนีวงศ์, สมเด็จพระสังฆราช. องค์ที่ 20, สมเด็จพระอริยวงศาคตญา, สกลมหาสังฆปริณายก, พระราชพิธีสถาปนา

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

รองนายกรัฐมนตรีเผยว่าพุทธศาสนิกชนยังแต่งดำไว้ทุกข์ได้ตามปกติในช่วงที่มีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลเพิ่มเติมในวันนี้ (8 ก.พ.) ว่าพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่จะดำเนินการตามขั้นตอนสถาปนาครั้งล่าสุดเมื่อปี 2532 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนปกติ และในวันที่ 12 ก.พ. จะมีพระราชพิธีขึ้นที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีประธานองคมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี และพระบรมวงศานุวงศ์ ถวายสักการะ ต่อจากนั้น สมเด็จพระสังฆราชจึงจะเสด็จกลับวัด และพุทธศาสนิกชนไปรอถวายสักการะ โดยในภาษาพระจะไม่เรียกว่าแสดงความยินดี หรือมุทิตาจิต ส่วนการแต่งกายสามารถแต่งดำได้ ไม่ต้องออกทุกข์ เพราะการประกาศไว้ทุกข์ถือเป็นเรื่องใหญ่กว่าอย่างอื่นทั้งหมด

นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่า การขานพระนามสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สามารถเรียกว่า "สมเด็จพระสังฆราช" ได้ เพราะสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณเป็นชื่อ สมเด็จพระสังฆราชเป็นตำแหน่ง และสกลมหาสังฆปริณายกเป็นหน้าที่ เปรียบได้กับการเรียก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นชื่อ ส่วนนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่ง ขณะที่การบริหารราชการแผ่นดินเป็นหน้าที่ และภายหลังการสถาปนาเสร็จสิ้น ก็ต้องใช้คำราชาศัพท์ในการกล่าวถึงสมเด็จพระสังฆราช

ทั้งนี้ นายวิษณุระบุว่า ในอดีตเคยมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชครั้งยิ่งใหญ่ โดยยกตัวอย่างสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชซึ่งเป็นพระอนุชาในพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นการห่างหายจากตำแหน่งไปกว่า 30 ปี ทำให้มีพิธีสถาปนายิ่งใหญ่ เรียกว่า พิธีสมณุตมาภิเษก แต่ในคราวอื่นๆ ก็เป็นพระราชพิธีสถาปนาตามขั้นตอนปกติเหมือนกับปี 2532 เช่นกัน