เปิดรายชื่อ ป.ย.ป. ชุดปรองดอง “ข้าราชการ-ทหาร” คุม

ประวิตร และ ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, REUTERS/ATHIT PERAWONGMETHA

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เผยคำสั่งตั้ง 4 คณะกรรมการย่อยใน ป.ย.ป. ชุดปรองดอง "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รับผิดชอบ เกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการ-ทหาร มีคนนอกแค่ตัวแทนเอกชนจากเครือเซ็นทรัล

วานนี้ (6 ก.พ. 2560) มีการเผยแพร่คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 7/2560 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการย่อยในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) จำนวน 4 คณะ ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา โดยองค์ประกอบคณะกรรมการย่อยของ ป.ย.ป. แต่ละชุดจะเหมือนกัน คือมีนายกฯ เป็นประธาน และมีรองนายกฯ เป็นรองประธาน แม้จำนวนกรรมการของแต่ละคณะอาจจะไม่เท่ากัน

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการย่อยใน ป.ย.ป. ที่ได้รับการจับตามอง ได้แก่ "คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง" มีจำนวนกรรมการอย่างน้อย 33 คน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธาน

มีที่ปรึกษาและกรรมการ อย่างน้อย 8 คน ประกอบด้วย 1.ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2.ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 3.ประธานคณะอนุกรรมการทุกคณะภายใต้คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (ถ้ามี) 4.พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ 5.นายปณิธาน วัฒนายากร 6.นายสุจิต บุญบงการ 7.นายสุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ และ 8.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์

มีกรรมการอื่นอีก 23 คน ประกอบด้วย 1.รองประธาน สนช.คนหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย 2.รองประธาน สปท.คนหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย 3.รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 4.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 5.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 6.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 7.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 8.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 9.ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ 10.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 11.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 12.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 13.ผู้บัญชาการทหารบก 14.ผู้บัญชาการทหารเรือ 15.ผู้บัญชาการทหารอากาศ 16.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 17.อัยการสูงสุด 18.เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม 19.เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 20.ผู้แทน คสช. 21.ปลัดกระทรวงกลาโหม 22.ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ 23.ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

โดยปลัดกระทรวงกลาโหม จะเป็นทั้งกรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้ รายชื่อคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองเกือบทั้งหมด หากไม่ใช่คนในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เป็นข้าราชการเมืองหรือข้าราชการประจำ โดยมีบุคคลภายนอกที่ไม่เคยเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เพียงคนเดียว คือ "นายสุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์" ตัวแทนภาคเอกชนจากเครือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล แม้ก่อนหน้านี้ นายสุทธิพันธ์จะเคยรับราชการในฐานะอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาก่อนก็ตาม แต่ก็เกษียณอายุราชการมาแล้ว

ไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นับตั้งแต่ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อ 12 ปีก่อน เคยมีการตั้งคณะกรรมการสร้างความปรองดองขึ้นมาหลายชุด โดย ป.ย.ป. ถือเป็นชุดล่าสุด

ทั้งนี้ ในเอกสารที่เคยมีการเสนอชื่อนายสุทธิพันธ์เป็นกรรมการบริหารและกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเมื่อหลายปีก่อน ระบุว่า นายสุทธิพันธ์เป็นผู้ "มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และเศรษฐศาสตร์ภาคบริการ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยงานราชการหลายแห่ง รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงด้านเศรษฐกิจ มีผลงานวิจัยด้านการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก"

จากการตรวจสอบมติ ครม. ย้อนหลัง นายสุทธิพันธ์เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการค้าระหว่างประเทศของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ตามที่ รมว.ศึกษาธิการขณะนั้นเสนอ ในปี 2551 และปี 2558 และยังเคยได้รับแต่งตั้งให้กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ด้านเศรษฐศาสตร์ ในปี 2558

สำหรับ ป.ย.ป. แต่งตั้งขึ้นโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2560 เพื่อมาผลักดันภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความปรองดอง