ป.ย.ป. ประชุมครั้งแรก เร่งผลักดัน 27 วาระปฏิรูป

ปยป ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, Royal Thai Government

ประชุม ป.ย.ป.ชุดใหญ่ครั้งแรก ได้ข้อสรุปเร่งผลักดันวาระปฏิรูป 27 วาระ ขณะที่ สนช.จะเปลี่ยนแนวทางการพิจารณากฎหมายจากรับเป็นรุก โดยเฉพาะการพิจารณา กม.ลูก 10 ฉบับ

วันนี้ (1 ก.พ. 2560) มีการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เชิงปฏิบัติการเป็นครั้งแรก โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน และมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้าร่วมด้วย

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ป.ย.ป. กล่าวว่า การประชุม ป.ย.ป.ครั้งนี้เป้นไปเพื่อจัดลำดับความสำคัญการปฏิรูป แก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยหลังจากนำวาระการปฏิรูปของ สปท.และนายกฯ มากลั่นกรองแล้ว เบื้องต้นจะมี 27 วาระสำคัญ ได้แก่

1.กลไกภาครัฐ 9 วาระ ประกอบด้วย ปฏิรูปงบประมาณ/การคลัง การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ปฏิรูปกระจายอำนาจ บริหารรัฐที่ต้องเปิดเผยข้อมูล การควบคุมและการตรวจสอบอำนาจรัฐ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ศาลป้องปรามการทุจริตและวิธีพิจารณาคดีป้องปรามการทุจริตการคุ้มครองติดตามทรัพย์สินของแผ่นดินจากการทุจริต

2.การปฏิรูปคน ที่ว่าด้วยการปฏิรูปกฎหมายการศึกษา แรงงาน หลักประกันสุขภาพ และผู้สูงอายุ

3.เครื่องมือพัฒนาฐานราก อาทิ เกษตรพันธสัญญา ประกันภัยการเกษตร การเงินรากฐาน/สหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารที่ดิน

4.เศรษฐกิจอนาคตอย่างเศรษฐกิจทัล(สื่อ)และโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ทรัพยากรป่าไม้ น้ำ/แหล่งน้ำ ชุมชม ผังเมือง พลังงานทดแทนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการจัดเตรียมพิมพ์เขียวของวาระการปฏิรูป 2.คณะอนุกรรมการทำงานประสานกระทรวงเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูป 3.คณะอนุกรรมการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วม และ 4.คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผล

ด้านนายพรเพชร กล่าวว่า ในส่วนของ สนช. จะเร่งผลักดันกฎหมายลูกที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกำหนดไว้ จำนวน 10 ฉบับ ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 8 เดือน กฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และ ร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 4 เดือน รวมถึงกฎหมายปกติของรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่อยู่ในวาระเร่งด่วนของรัฐบาล เหลืออยู่ประมาณ 30 ฉบับ

"ภารกิจดังกล่าวทำให้ สนช.ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การทำงานจากที่เคยตั้งรับต้องเปลี่ยนเป็นฝ่ายรุก เข้าไปดูว่ากฎหมายแต่ละฉบับมีหลักการ มีความคิดเห็นอย่างไร เพื่อจะได้รู้ล่วงหน้า และทำให้การพิจารณารวดเร็วขึ้น" นายพรเพชรกล่าว

ด้าน ร.อ.ทินพันธุ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติว่าจะมีวาระเร่งด่วนสำหรับการปฏิรูป 27 วาระ โดยเป็นการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สปท. ทั้ง 12 ด้าน หลังอีกทั้งที่ประชุมยังรับวาระเพิ่มเติมจากประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สปท. ซึ่งจะนำเข้ามาอยู่ในวาระเร่งด่วนของ ป.ย.ป.ต่อไป