รายงาน: ปฏิรูปวงการสงฆ์ ควรจะไปทางไหนดี?

ธรรมกาย

ที่มาของภาพ, NICOLAS ASFOURI/AFP/Getty Images

  • Author, ศิปปชัย กุลนุวงศ์
  • Role, มัลติมีเดีย โปรดิวเซอร์

ระหว่างที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจกับการใช้มาตรา 44 เข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อจับกุมตัวพระธัมมชโย หนึ่งในเรื่องราวที่ถูกลืมเลือนคือความคืบหน้าในการ "ปฏิรูปคณะสงฆ์" ซึ่งเคยมีการเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักเมื่อราว 1-2 ปีก่อน

ในโอกาสที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ ผู้ได้รับยกย่องว่ามีศีลาจารวัตรงามพร้อม ได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บีบีซีไทยจึงขอรวบรวมข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงวงการผ้าเหลืองไทย ให้ยังคงเป็นหนึ่งในสถาบันที่คนในสังคมไทยให้ความเคารพนับถือ เฉกเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต

พระสงฆ์

ที่มาของภาพ, LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP/Getty Images

เปลี่ยนหัว แต่โครงสร้างเหมือนเดิม

ที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้พูดถึงความจำเป็นในการปฏิรูปวงการสงฆ์อยู่เป็นระยะ โดยอ้างเหตุเรื่องความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนต่อวงการสงฆ์ที่ลดลง เนื่องจากปรากฎข่าวพระทำผิดธรรมวินัยอยู่เป็นระยะ รวมไปถึงบทบาทของสงฆ์ที่ไม่สอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ก็มีการผลักดันการปฏิรูปศาสนา ทั้งผ่านกลไกที่เรียกว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาจนถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในปัจจุบัน แต่สารพัดข้อเสนอที่ถูกรวบรวมไว้ก็ยังไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ยกเว้นการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ช่วงปลายปี 2559 เพื่อปลดล็อกให้มีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชได้เท่านั้น

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang / bbc thai

คำบรรยายภาพ, สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2560

พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทางการเมือง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ไม่ได้มุ่งไปที่การปฎิรูปพระศาสนาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ดังกล่าว มีขึ้นภายหลังจากปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่คาราคาซังมานานนับปี หลังจากมติของมหาเถระสมาคมที่เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ถูกรัฐบาลชะลอ เพราะติดปัญหาจากคดีครอบครองรถยนต์หรูเลี่ยงภาษี

"ในแง่หนึ่ง ท่านก็มีสิทธิจะได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ก็มีคนค้านเยอะ ทำให้เกิดปัญหาทางธรรมแล้วสร้างความเสียหายต่อรัฐบาล เพราะมีการเรียกร้องว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรกันแน่ แต่พอมีการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปัญหานี้ก็หมดไป เพราะตอนนี้ใครจะเป็นสังฆราชก็ไม่เกี่ยวกับพรรษา แต่ขึ้นอยู่กับพระเจ้าแผ่นดิน" พระไพศาลกล่าว

พระสงฆ์

ที่มาของภาพ, ROBERTO SCHMIDT/AFP/Getty Images

ในมุมมองของพระไพศาล ปัญหาคณะสงฆ์ไม่ได้อยู่ที่สมเด็จพระสังฆราช แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

"ตอนนี้ปัญหาคณะสงฆ์มีเยอะมาก การที่จะรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง แล้วก็ใช้อำนาจผ่านคณะสงฆ์ในระดับรองลงมามันไม่เวิร์ค ... ตราบใดที่โครงสร้างคณะสงฆ์เป็นอย่างนี้อยู่ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจะเปลี่ยนหัวเท่าไหร่ก็ไม่ทำให้คณะสงฆ์ดีขึ้น" เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ระบุ

สงฆ์ไทยปกครองแบบรวมศูนย์

ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งถูกประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กำหนดโครงสร้างในการปกครองวงการสงฆ์ที่ยังใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ให้ "มหาเถรสมาคม(มส.)" เป็นองค์กรที่กำกับดูแลกิจการของพระสงฆ์ไทย ซึ่งประกอบไปด้วยพระสงฆ์สมณศักดิ์สูง 21 รูป มีพระสังฆราชเป็นประธาน 1 รูป สมเด็จพระราชาคณะโดยตำแหน่ง 8 รูป และพระราชาคณะที่ได้รับการแต่งตั้ง 12 รูป

นักวิชาการและผู้เชี่ยวด้านศาสนาหลายคนมองว่า โครงสร้างนี้เป็นการ "รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง" โดยการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับพระสงฆ์ไม่กี่รูป และผู้ที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนงานของ มส. คือ "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)" ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ที่จะคอยส่งเรื่องต่างๆ ขึ้นไปให้พิจารณา จึงจะเห็นได้ว่ารัฐไทยมีความใกล้ชิดกับศาสนาอย่างแนบแน่น

พระไพศาล

ที่มาของภาพ, Phra Paisal Visalo / FACEBOOK

คำบรรยายภาพ, พระไพศาล วิสาโล เสนอให้มีการปฏิรูปองค์กรสงฆ์โดยให้มีการกระจายอำนาจ และมีการปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ด้วย

นายกิตติชัย จงไกรจักร นักวิชาการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า มส. มีหน้าที่ในการออกกฎกติกาของคณะสงฆ์ บริหารนโยบายต่างๆ และการวินิจฉัยปัญหาข้อขัดแย้ง โดยทำทุกอย่างภายใต้คณะกรรมการเดียว หลายครั้งที่มีการออกข้อมติหรือใช้อำนาจ ก็ไม่ได้รับการตรวจสอบจากองค์กรอื่นๆ เพราะหลายฝ่ายมองว่า มส. ควรจะเป็นองค์กรลักษณะพิเศษ

"มันจึงกลายเป็นว่าใครที่สามารถกุมพื้นที่ใน มส. ได้ ก็สามารถที่จะมีบทบาทหลักในพุทธศาสนาฝ่ายพุทธจักร" นายกิตติชัยกล่าว

นายกิตติชัยยังกล่าวว่า ที่ผ่านมา มส. ใช้อำนาจทางกฎหมายในการตีความพระธรรมวินัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นที่ไม่ได้สังกัดในคณะสงฆ์ไทยด้วย เช่น กรณีห้ามกระทรวงการต่างประเทศของไทยออกวีซ่าเดินทางให้ภิกษุณีชาวต่างชาติที่จะเดินทางมาบวชภิกษุณีไทย อันเป็นผลจากการตีความพระธรรมวินัย โดยคำสั่งดังกล่าวทำให้ภิกษุณีต่างชาติมีความยากลำบากในการเดินทางเข้ามาในไทยในเวลาต่อมา

ภิกษุณี

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang / bbc thai

คำบรรยายภาพ, ในไทยมีภิกษุณีสงฆ์ราว 200 รูป ใน 22 จังหวัด แต่นักบวชหญิงเหล่านี้ยังไม่ได้รับสถานะทางกฎหมาย

แยกรัฐออกจากศาสนา

นักวิชาการด้านศาสนา อย่างนายสุรพศ ทวีศักดิ์ เสนอแนวทางการแก้ปัญหาคณะสงฆ์ว่า ต้องมีเป้าหมายคือทำให้รัฐไทยเป็นรัฐโลกวิสัย หรือ secular state ซึ่งเป็นการแยกศาสนาออกจากรัฐโดยสิ้นเชิง และนำหลักการเสรีประชาธิปไตยมาปกป้องความหลากหลายทางศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อ โดยที่รัฐไม่ต้องไปอุปถัมป์ศาสนาใดๆ

"มันเป็นการทำให้ศาสนามีความหมายเป็นศาสนาจริงๆ และเป็นเรื่องของจิตใจ" นายสุรพศกล่าว

นายสุรพศ เสนอว่า ควรทำให้องค์กรศาสนาเป็น "องค์กรเอกชน" โดยต้องยกเลิกกฎหมายคณะสงฆ์ออกไป และเมื่อองค์กรสงฆ์เป็นเอกชน พระก็อยู่กันตามกลุ่ม ตามสายครูบาอาจารย์ต่างๆ เช่น สายวัดป่า สายธรรมกาย สายสันติอโศก หรืออื่นๆ โดยสำนักไหนที่มีการพัฒนา รักษาศีลาจารวัตรได้ดี และปรับปรุงวิธีการศึกษาปฎิบัติธรรมของตัวเองให้คนยอมรับ ก็จะอยู่ได้ แต่หากไม่มีการพัฒนาก็อยู่ไม่ได้

นายสุรพศ ทวีศักดิ์

ที่มาของภาพ, สุรพศ ทวีศักดิ์

คำบรรยายภาพ, นายสุรพศ ทวีศักดิ์: ''สำนักไหนที่มีการพัฒนา รักษาศีลาจารวัตรได้ดี และปรับปรุงวิธีการศึกษาปฎิบัติธรรมของตัวเองให้คนยอมรับ ก็จะอยู่ได้ แต่หากไม่มีการพัฒนาก็อยู่ไม่ได้''

ทั้งนี้ นายสุรพศ กล่าวว่า เมื่อองค์กรศาสนาเป็นองค์กรเอกชนก็ต้องมีบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเอง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยหน่วยงานของรัฐ โดยนักบวชที่มีรายได้เข้าเกณฑ์เสียภาษี ก็ต้องจ่ายภาษีให้รัฐด้วย แต่รายได้ของวัดที่เกี่ยวข้องกับการกุศลก็ควรยกเว้นภาษีไป ในส่วนของคำสอนทางศาสนานั้น ไม่ใช่หน้าที่รัฐที่จะไปเกี่ยวข้อง แต่สามารถใช้กฎหมายเอาความผิดได้ในกรณีที่ไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น

ด้านพระสงฆ์หลายรูปเปิดเผยกับบีบีซีไทยถึงแนวคิดดังกล่าวว่า มีความกังวลว่าวิธีการจะขัดต่อประเพณีของไทยและพุทธเถรวาท ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา สังคม และรัฐ ซึ่งกันและกัน อีกทั้งพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้แยกพระออกมาจากสังคม และพระมหากษัตริย์ในอดีตมีหน้าที่เป็นผู้อุปถัมป์และดูแลความประพฤติตามพระธรรมวินัยของสงฆ์ได้

ปฏิรูปสงฆ์ด้วยการลดอำนาจ มส.

พระพุทธอิสระ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang / bbc thai

คำบรรยายภาพ, พระพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย

พระพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม กล่าวว่า เคยเสนอแนะให้คณะอนุกรรมาธิการด้านการศาสนา ในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งมีความใกล้เคียงกับการปกครองแบบรัฐสภามาพิจารณาปรับใช้ใหม่

กฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ในสมัยที่มีความตื่นตัวเรื่องความเสมอภาคในหมู่พระสงฆ์ โดยเป็นกลไกที่ช่วยในการกระจายอำนาจ โดยกำหนดให้มีหน่วยงานที่ถ่วงดุลอำนาจ 3 ฝ่าย คือ สังฆสภาถืออำนาจนิติบัญญัติ สังฆมนตรีถืออำนาจบริหาร และคณะวินัยธรถืออำนาจตุลาการ คล้ายคลึงกับการปกครองของฝ่ายอาณาจัก

แต่สำหรับข้อเสนอนี้ พระไพศาล วิสาโล ซึ่งทำงานวิจัยเรื่อง "พุทธศาสนาไทยในอนาคต : แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ" ระบุว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ยังเปิดช่องให้รัฐมีความใกล้ชิดกับสถาบันสงฆ์อยู่มาก เช่น นายกฯ หรือ รมว.ศึกษาธิการสามารถแต่งตั้ง และเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชและพระสงฆ์ในระดับรองลงมา

โครงสร้างที่ว่านี้มีความแตกต่างกับความสัมพันธ์ของพุทธเถรวาทในอดีต อันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์ ชาวบ้านหรือสังคม และผู้ปกครองหรือรัฐ ในลักษณะสามเหลี่ยมด้านเท่า ไม่เหมือนกับ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ไม่จะฉบับปี พ.ศ. 2484 หรือ พ.ศ.2505

สิ่งที่ต้องทำ ดึงชุมชนดูแลวัด - จัดการศึกษาของสงฆ์ใหม่

พระสงฆ์

ที่มาของภาพ, CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP/GettyImages

พระไพศาลเสนอแนวทางปฎิรูปศาสนา โดยให้มีการกระจายอำนาจให้พระสงฆ์มีส่วนร่วมในกิจการคณะสงฆ์ในทุกระดับ ตั้งแต่วัด ตำบล อำเภอ จังหวัด ตลอดจนระดับภาค และการแต่งตั้งผู้รับตำแหน่งในองค์กรสงฆ์จะต้องมีกระบวนการสรรหาที่พระสงฆ์ทุกระดับมีส่วนร่วม เพราะจะทำให้มีความรับผิดชอบต่อคณะสงฆ์โดยรวม นอกจากนี้ต้องให้ฆราวาสมีส่วนร่วมในคณะสงฆ์ด้วย เนื่องจาก การปฎิรูปการปกครองคณะสงฆ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการแต่งตั้งมหาเถรสมาคมขึ้น ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าวัดเป็นของราชการ เป็นของ มส. แต่เมื่อก่อนคือวัดเป็นของชาวบ้าน โดยชาวบ้านสามารถจัดการดูแลคณะสงฆ์ได้เอง

พระไพศาล ระบุด้วยว่า เรื่องต่อมาคือการปฎิรูปการศึกษาคณะสงฆ์ ทั้งการศึกษาบาลีหรือปริยัติที่มีความ "ย่ำแย่" โดยที่ผ่านมา มส. ไม่ได้ทำหน้าที่จัดการศึกษาให้พระสงฆ์ทั่วประเทศ โดยให้ทางวัดจัดการกันเอง มส.มีหน้าที่เพียงออกจัดการสอบวัดผล

"โยมนึกภาพนะว่ากระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่ออกข้อสอบ แต่โรงเรียนในแต่ละหมู่บ้านจัดการเรียนการสอนกันเอง มันมีที่ไหนในโลกที่ทำแบบนี้บ้าง" พระไพศาลกล่าว

พระไพศาล

ที่มาของภาพ, Phra Paisal Visalo / FACEBOOK

คำบรรยายภาพ, พระไพศาล วิสาโล เสนอให้มีการปฏิรูปองค์กรสงฆ์โดยให้มีการกระจายอำนาจ และมีการปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ด้วย

พระไพศาล กล่าวว่า ในอดีต การปฎิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์จะจัดทำโดยพระมหากษัตริย์เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยครั้งสุดท้ายมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ปัจจุบันอำนาจตกมาอยู่ที่รัฐบาล แต่ตนเองไม่แน่ใจว่ารัฐบาลสนใจจะทำหรือไม่ เพราะไม่มีความรู้ และรัฐบาลมีความสนใจในเรื่องเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่

พระไพศาล ระบุว่า ความหวังการปฎิรูปอยู่ที่ภาคประชาชนที่จะต้องขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่มั่นใจว่าสามารถทำได้หรือ เนื่องจากสังคมมีความแตกแยก "ตามแนวเหลืองแดง"

"ฆราวาสต้องเข้าใจปัญหาในวงการคณะสงฆ์ว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ปัญหาในแง่บุคคล จะเอาพระธัมมชโยจับศึก ก็ไม่ทำให้ปัญหาของพุทธศาสนาหมดไป อย่าไปมุ่งจัดการตัวบุคคล แต่ทำให้โครงสร้างหรือระบบดีขึ้น" พระไพศาล กล่าวทิ้งท้าย

พระสงฆ์

ที่มาของภาพ, CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP/Getty Images