กมธ สภาฯอังกฤษชี้ รัฐบาลยังรับมือการโจมตีไซเบอร์ไม่ดีพอ

ภัยจารกรรมทางไซเบอร์

ที่มาของภาพ, Thinkstock

รายงานของคณะกรรมาธิการการตรวจสอบสาธารณะของสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ ชี้ว่า ปัญหาขาดแคลนทักษะและความยุ่งเหยิงจากการป้องกันการจารกรรมข้อมูลส่วนบุคคล ของรัฐบาลอังกฤษ เป็นปัจจัยที่ทำลายความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลอังกฤษจะสามารถปกป้องประเทศจากการโจมตีทางไซเบอร์ได้

รายงานฉบับนี้ ระบุว่า บรรดารัฐมนตรีใช้เวลานานเกินไปในการมอบหมายหน่วยงานที่จะรับหน้าที่ต่อสู้และยับยั้งการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 ภัยสำคัญที่สุดที่คุกคามความมั่นคงของสหราชอาณาจักร

นางเม็ก ฮิลลิเออร์ ประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้ ระบุว่า สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอังกฤษยังมีบทบาทไม่ชัดเจนเท่าที่ควรในการปกป้องข้อมูลสำคัญของรัฐบาลจากการโจมตีทางไซเบอร์ มีวิธีป้องกันการจารกรรมข้อมูลส่วนบุคคลอย่างยุ่งเหยิงไม่เป็นระบบ ทั้งยังไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นว่าหน่วยงานรัฐจะสามารถรับมือภัยทางไซเบอร์ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมเพียง และมีประสิทธิภาพ

หอนาฬิกาบิ๊กเบน

ที่มาของภาพ, DANIEL LEAL-OLIVAS/AFP/Getty Images

ก่อนหน้านี้มีรายงานพบปัญหาการเจาะล้วงข้อมูลทั่วหน่วยงานรัฐบาลอังกฤษ บางกระทรวงมีบันทึกกรณีที่ถูกเจาะล้วงข้อมูลหลายพันครั้ง แต่บางกระทรวงกลับไม่มีการบันทึกข้อมูลเหล่านี้เลย ซึ่งบ่งชี้ถึงการรับมือภัยทางไซเบอร์ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ไม่เป็นระบบและไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านรัฐบาลอังกฤษยืนกรานว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์อย่างรวดเร็วและมุ่งมั่น โดยได้จัดสรรงบประมาณ 1.9 หมื่นล้านปอนด์เพื่อใช้ในการดำเนินยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติที่มีความครอบคลุม สำหรับปกป้องประชาชน ภาคธุรกิจ และผลประโยชน์ของชาติ

รมว.กระทรวงการคลังอังกฤษ

ที่มาของภาพ, Jack Taylor/Getty Images

คำบรรยายภาพ, รมว.กระทรวงการคลังอังกฤษ ชี้ "ปรปักษ์ต่างชาติ" กำลังพัฒนาเทคนิคเพื่อโจมตีระบบไฟฟ้าและท่าอากาศยานของสหราชอาณาจักร

เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา นายฟิลิป แฮมมอนด์ รมว.กระทรวงการคลังอังกฤษ ระบุว่า "ปรปักษ์ต่างชาติ" กำลังพัฒนาเทคนิคเพื่อโจมตีระบบไฟฟ้าและท่าอากาศยานของสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ เซอร์ไมเคิล ฟอลลอน รมว.กลาโหม อังกฤษ ระบุว่า รัสเซียใช้การโจมตีทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายสำคัญในการบ่อนทำลายเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย และระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญของชาติตะวันตก

ศ.อลัน วู้ดเวิร์ด ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ ระบุว่า รายงานฉบับนี้ "ไม่เป็นธรรมนัก" ที่จะกล่าวโทษรัฐบาลอังกฤษเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันรัฐบาลได้พยายามรับมือกับภัยคุกคามนี้ ขณะเดียวกันชี้ว่า จุดอ่อนของความมั่นคงทางไซเบอร์นั้นส่วนใหญ่มักมีปัจจัยจาก "ความบกพร่องของมนุษย์" โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสำคัญด้านความมั่นคงของชาติที่อาจเก็บรักษาข้อมูลเหล่านี้ได้ไม่ปลอดภัยพอ