ความรุนแรงในครอบครัว เรื่องส่วนตัวหรือปัญหาสังคม : ตอนที่ 1 เมียหลวงหมดอายุ

  • สุชีรา มาไกวร์
  • ผู้สื่อข่าวและช่างภาพบีบีซีไทย

14 กุมภาพันธ์ "วันแห่งความรัก" บีบีซีไทยสะท้อนความรักที่จบลงด้วยความรุนแรงในครอบครัวผ่านเรื่องจริงของหญิง 3 คน ในรูปแบบแอนิเมชั่น

คำบรรยายวิดีโอ,

ความรุนแรงในครอบครัว เรื่องส่วนตัวหรือปัญหาสังคม : ตอนที่ 1 เมียหลวงหมดอายุ

บทสัมภาษณ์โดย ศิปปชัย กุลนุวงศ์

ภาพยนตร์แอนิเมชั่นโดย MotherProject

เมื่อเมียหลวงหมดอายุ

"วนิดา" (นามสมมติ) ในวัย 54 ปี ปัจจุบันดูแลกิจการของครอบครัว เล่าถึงอดีตสามีซึ่งมีอายุมากกว่าเธอ 7 ปีว่า ตอนพบกันใหม่ ๆ เขาดูเป็นคนมีเหตุผล ฉลาดรอบรู้ คอยดูแลเอาใจใส่ พูดจาไพเราะ อีกทั้งไม่ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่ เธอจึงตัดสินใจสร้างครอบครัวกับเขาในวัย 20 ปลาย ๆ

ต่อมา เขาเริ่มดื่มเบียร์และกลายเป็นคนหยาบคายมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งยังตะคอกใส่เธอว่า "คุณมันหมดอายุแล้ว" หลังถูกจับได้ว่ามีผู้หญิงคนใหม่ เขาเริ่มใช้ความรุนแรงกับเธอหลายครั้ง แต่ด้วยความรัก วนิดาจึงให้อภัยเขาตลอดมา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ทำให้เธอเกือบพิการ

สถิติการใช้ความรุนแรงของชายไทย

ที่มาของภาพ, PA

เธอบอกว่าตอนนั้นเลือกที่จะทน เพราะความรักทำให้คิดว่าเขาจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ปัจจุบัน แม้เธอจะอยู่ในสภาพที่ต้องเดินไม่ปกติไปตลอดชีวิต แต่คลายความโกรธไปมาก เพราะคิดได้ว่าสิ่งที่เขาทำก็จะติดเป็นบาปกรรมของเขาเอง

ปัญหาระดับโลก

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีมติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1993 ให้มี ปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี (Declaration on the Elimination of Violence against Women) แต่ผ่านมากว่า 20 ปี 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกยังตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศ

สถิติการกระทำรุนแรงทั่วโลก

ส่วนในไทย รายงานสรุปจำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัวจำแนกตามประเภทความรุนแรงแบบรายปีช่วงปี 2551-2559 จากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้ว่า ราว 90% ของผู้ถูกกระทำเป็นผู้หญิง โดยประเภทความรุนแรงที่พบมากที่สุด คือ ทางร่างกาย, ทางจิตใจ, ทางเพศ และทางสังคม ตามลำดับ

จำเลยสังคม

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวที่เผยแพร่เมื่อปี 2557 ชี้ว่าหญิงไทยยังถูกกระทำรุนแรงต่อเนื่องในทุกรูปแบบ โดยผู้ตกเป็นเหยื่อส่วนมากไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราว เนื่องจากผู้กระทำเป็นคนในครอบครัว

นอกจากนี้ ทัศนคติในสังคมไทยมีส่วนทำให้หญิงผู้ตกเป็นเหยื่อต้องรู้สึกอับอาย ทั้งที่เป็นผู้ถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณ โดยเฉพาะหญิงที่อยู่ในสังคมเมือง ซึ่งส่วนมากมีลักษณะต่างคนต่างอยู่ และอาจไม่ได้อาศัยอยู่ใกล้ครอบครัว หรืออาจมีหน้าที่การงานดี มีหน้ามีตาในสังคม มักเลือกที่จะปกปิดเรื่องของตนเอง ในขณะที่หญิงในเขตชุมชนหรือชนบท มักมีสังคมที่ใกล้ชิดกว่าและสามารถเล่าสู่กันฟังได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานะทางสังคม

ส่วนเหยื่อที่ตัดสินใจเปิดเผยเรื่องราวหรือขอความช่วยเหลือ โดยมากเป็นเพราะถูกกระทำอย่างต่อเนื่องจนรับสภาพไม่ไหว