“ประวิตร” ยันปรองดองรอบใหม่ ทำได้จริง ไม่จบแค่เศษกระดาษ

Gen Pravit Wongsuwan

ที่มาของภาพ, MADAREE TOHLALA/AFP/Getty Images

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืนยันว่า การสร้างความสามัคคีปรองดองของรัฐบาล ที่ใช้กลไก ป.ย.ป. ขับเคลื่อนจะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง ไม่จบลงแค่เป็นเศษกระดาษ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้รับผิดชอบคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่คณะกรรมการย่อยของ "คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)" กล่าวถึงความคืบหน้าในการทาบทามตัวบุคคลมาร่วมอยู่ในคณะกรรมการ ซึ่งจะต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ม.ค. 2560 ว่า ตนได้เตรียมการให้มีนักวิชาการเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการฯ โดยไม่ได้เน้นว่าจะต้องมาจากด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่จะให้ครอบคลุมทุกสาขา สำหรับขั้นตอนการทำงานของคณะกรรมการฯ ขั้นแรกจะประชุมกันเพื่อกำหนดหัวข้อ ประมาณ 10 หัวข้อ ให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ จากนั้นจะนำไปฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ โดยกองทัพจะรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ประชาชนและเอกชน ส่วนพรรคการเมืองต่างๆ ระดับบนจะไปรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 3 เดือนแรก รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายให้ครบถ้วน

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าการสร้างความสามัคคีปรองดองจะไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงนั้น ท้ายสุดก็จะได้แค่เศษกระดาษ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "เป็นสิ่งที่คิดกันไปเอง คนจะพูดอย่างไรก็พูดได้ ยืนยันว่าเราจะทำให้เกิดผล ส่วนปลายทางจะออกมาอย่างไร จะต้องออกมาเป็นกฎหมายหรือไม่ ต้องรอให้การรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นก่อน"

ทั้งนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ ป.ย.ป. ชุดใหญ่ในวันที่ 1 ก.พ. 2560 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน และมีรองนายกฯ อีก 6 คน ซึ่งรับผิดชอบคณะกรรมการย่อยชุดต่างๆ เข้าร่วมประชุมด้วย

ขณะที่นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ( จะเข้ามาทำงานในฐานะผู้อำนวยการสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีดีเอ็มยู) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานเลขาธิการนายกฯ ทำหน้าที่คล้ายฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ ป.ย.ป. ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงผลการหารือของ ปชป. เรื่องแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองอย่างไม่เป็นทางการ ว่า จะเสนอให้ คสช. ยึดคณะกรรมการ ป.ย.ป. เป็นหลักในการสร้างความปรองดอง เพราะปัจจุบันมี สปท. ที่ทำงานทับซ้อนกัน และอยากให้ระบุให้ชัดว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะสามารถเข้าไปมีบทบาทได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ ปชป. เห็นด้วยกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า เรื่องปรองดองไม่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม

สำหรับคณะกรรมการ ป.ย.ป. ได้รับการจัดตั้งตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2560 มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมีคณะกรรมการย่อยจำนวน 4 คณะประกอบด้วย 1.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และ 4.คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง