ความรุนแรงในครอบครัว เรื่องส่วนตัวหรือปัญหาสังคม : ตอนที่ 2 น้ำเปลี่ยนนิสัย

  • สุชีรา มาไกวร์
  • ผู้สื่อข่าวและช่างภาพ บีบีซีไทย

14 กุมภาพันธ์ "วันแห่งความรัก" บีบีซีไทยสะท้อนความรักที่จบลงด้วยความรุนแรงในครอบครัวผ่านเรื่องจริงของหญิง 3 คน ในรูปแบบแอนิเมชั่น

คำบรรยายวิดีโอ,

ความรุนแรงในครอบครัว เรื่องส่วนตัวหรือปัญหาสังคม : ตอนที่ 2 น้ำเปลี่ยนนิสัย

บทสัมภาษณ์โดย ศิปปชัย กุลนุวงศ์

ภาพยนตร์แอนิเมชั่นโดย Why Not Social Enterpriseและ GPEN

น้ำเปลี่ยนนิสัย

"นภา" (นามสมมติ) ช่างเย็บถุงเท้าวัย 40 ปี พบกับสามีซึ่งมีอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่งานแต่งงานของเพื่อน หลังจากคบกันได้ไม่นานเขาก็ไปขอนภากับพ่อของเธอ

ผ่านไปได้ไม่นาน นภาจับได้ว่านอกจากสามีจะติดเหล้าแล้ว ยังเริ่มเสพเฮโรอีนด้วย ทั้งสองเริ่มมีปากเสียงและด่าทอกันเป็นประจำ สามีของเธอติดเหล้าหนักขึ้นเรื่อย ๆ แม้ตอนเธอตั้งครรภ์จนใกล้คลอดเขาก็ยังมาเยี่ยมที่โรงพยาบาลในสภาพเมามาย

เหตุการณ์บานปลายถึงขั้นที่เขาตบเธอจนจมูกหัก แม้จะสัญญาว่าจะไม่ทำร้ายร่างกายอีก แต่เขาก็ยังไม่เลิกเหล้าและยังใช้วาจารุนแรงอยู่เสมอ

นภาคิดจะหนีไปตายเอาดาบหน้า แต่ด้วยความรักที่มีต่อลูก จึงอดทนมาตลอด เธอเริ่มหาข้อมูลการเลิกเหล้า พาสามีไปเข้ารับฟังการอบรม และคอยเป็นกำลังใจจนเขาทำสำเร็จได้ในที่สุด

การฆ่ากันตายในครอบครัว

ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลชี้ว่า ปัญหาความรุนแรงต่อหญิงไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสาเหตุลำดับต้น ๆ มาจากการดื่มแอลกอฮอล์

เหตุฆ่ากันตายในครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมากเป็นเหตุสามีฆ่าภรรยาเพราะหึงหวงและบังคับให้หลับนอน ส่วนสาเหตุที่ภรรยาฆ่าสามีคือหมดความอดทนจากการถูกทำร้ายร่างกายมาเป็นระยะเวลานาน

สถิติผู้มารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีหญิงที่เข้ารับบริการที่ศูนย์ถึงปีละกว่าหมื่นราย โดยราว 52% ของผู้กระทำรุนแรงต่อผู้หญิงคือคู่สมรส รองลงมาคือแฟน (14%)

สาเหตุความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ สุรา/ยาเสพติด, นอกใจ/หึงหวง, สุขภาพกาย/จิต, เศรษฐกิจ และสื่อลามกอื่น ๆ

นอกจากนี้ ผลสำรวจสถิติความรุนแรงทางร่างกายซึ่งจัดทำโดย UN Women ในปี 2557 พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 36 จาก 75 ประเทศ ส่วนประเด็นความรุนแรงทางเพศ ไทยอยู่ในอันดับที่ 7 จาก 71 ประเทศ

เหยื่อตัวเล็กกับผลกระทบที่ยิ่งใหญ่

รายงานการวิจัยของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟที่เผยแพร่เมื่อปี 2550 คาดว่ามีเด็กราว 275 ล้านคนทั่วโลกที่เผชิญการใช้ความรุนแรงที่บ้าน

เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรง อาจมีความบกพร่องในอาจเรียนรู้ ขาดทักษะในการเข้าสังคม ก้าวร้าว ขาดความรับผิดชอบ หรืออาจเป็นโรคซึมเศร้า และมีรายงานหลายฉบับที่บ่งชี้ว่า เด็กที่มีประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัว มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบไปตลอดชีวิต เมื่อโตขึ้นอาจตกเป็นเหยื่อความรุนแรงหรือเป็นผู้กระทำเสียเอง

นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้ความรุนแรงของคู่รักมีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของทารกและเด็กเล็ก

ปัจจัยเสี่ยง

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกชี้ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงต่อผู้หญิง ได้แก่ ภาวะการศึกษาต่ำ, ประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวในวัยเด็ก, การดื่มเหล้า, การนอกใจ, ทัศนคติที่ยอมรับเรื่องความรุนแรงและความไม่เท่าเทียมทางเพศ, ความบาดหมางกับคู่สมรส