ม.มหิดลสั่งสอบ สถาบันสิทธิมนุษยชนฯ ชี้เป็นการแอบอ้างชื่อ ค้าน ม.44

มาตรา 44, มหิดล, คสช., สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา, รัฐบาล, โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี, อำนาจเผด็จการ

ที่มาของภาพ, Chaiwat Subprasom/REUTERS

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะยังไม่ยกเลิกการใช้มาตรา 44 จนกว่าพระธัมมชโยจะมอบตัว

ม.มหิดลออกแถลงการณ์ยืนยันว่า การแถลงคัดค้านการใช้อำนาจตามม.44 ของหัวหน้าคสช. ในนามสถาบันสิทธิมนุษยชนฯ เป็นการแอบอ้างชื่อ และเตรียมตรวจสอบกลุ่มผู้ออกแถลงการณ์ เหตุทำให้ ม.มหิดล เสียชื่อเสียง

มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 26 ก.พ. ระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยจะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาทางวินัย กรณีกลุ่มบุคคลออกแถลงการณ์ในนาม "สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล" คัดค้านการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2560 เมื่อวานนี้ (25 ก.พ.) โดยทางมหาวิทยาลัยระบุว่า การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย

เนื้อหาในแถลงการณ์ของ ม.มหิดล เรียกร้องให้กลุ่มบุคคลที่ออกแถลงการณ์คัดค้านมาตรา 44 ยุติการกระทำดังกล่าวทันที โดยระบุว่านี่ไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ แต่เป็นการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัย พร้อมย้ำว่า ม.มหิดล ยืนหยัดในการให้ทุกคนเคารพในกฎหมาย เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

มาตรา 44, มหิดล, คสช., สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา, รัฐบาล, โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี, อำนาจเผด็จการ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ทั้งนี้ เมื่อวาน (25 ก.พ.) มีการออกแถลงการณ์ในนามสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา คัดค้านการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในแถลงการณ์ระบุว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ รธน.2557 (ฉบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2560 เป็นอำนาจเผด็จการ ขัดกับหลักนิติธรรม ขาดการถ่วงดุลตรวจสอบ มีความพร่ำเพรื่อและไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอันควร เพราะในหลายกรณี รัฐบาลและหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ยังสามารถดำเนินการบังคับใช้มาตรการตามกฎหมายทั่วไป หรือขั้นตอนตามกฎหมายปกติได้ ทางสถาบันฯ จึงเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44

แถลงการณ์ที่ออกในนามสถาบันสิทธิมนุษยชนฯ ระบุด้วยว่า ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเป็นจำนวนมาก ทั้งการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน คำสั่งแต่งตั้งนายกเมืองพัทยา การปรับปรุงระบบพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น การปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย การกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ การกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตําแหน่ง รวมถึงมาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ในการตรวจค้นวัดพระธรรมกายและจับกุมตัวพระธัมมชโย

มาตรา 44, มหิดล, คสช., สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา, รัฐบาล, โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี, อำนาจเผด็จการ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ขณะเดียวกัน พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมถึงกรณีที่นายอนวัช ธนเจริญณัฐ วัย 64 ปี ผูกคอตายเมื่อค่ำวานนี้ หลังเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งตามมาตรา 44 เรื่องการควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายไม่สำเร็จ โดยพล.ท.สรรเสริญระบุว่า "ไม่ควรกล่าวโทษคำสั่งตามมาตรา 44 ว่าเป็นสาเหตุ เพราะที่ผ่านมาผู้กระทำผิดไม่ยอมรับกฎหมาย แต่กลับแสวงหาประโยชน์จากผู้อื่นและใช้กฎหมู่หลบหนีความผิด ส่วนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนั้นจำเป็นต้องทำตามกฎหมาย หากไม่ทำก็จะเข้าข่ายละเลยการปฏิบัติหน้าที่"

ส่วนกรณีที่หัวหน้า คสช.มีคำสั่งให้นายพนม ศรศิลป์ พ้นจากตําแหน่ง ผู้อำนวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนนั้น พล.ท.สรรเสิรญระบุว่า "เป็นไปเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงานของสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เพื่อปกป้องคุ้มครองไม่ให้พระศาสนาเกิดความมัวหมอง และประสานประโยชน์กับทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสีย และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ใช้ความพยายามอย่างที่สุดในการเจรจาและเตรียมการช่วยเหลือ แต่ไม่อาจป้องกันได้ เพราะเกิดเหตุสุดวิสัย

มาตรา 44, มหิดล, คสช., สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา, รัฐบาล, โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี, อำนาจเผด็จการ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, กลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เตือนกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มารวมตัวบริเวณทำเนียบรัฐบาลว่า คสช.พร้อมใช้ ม.44 จัดการกับผู้ที่ยุยงให้เกิดความไม่สงบ

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีวัดพระธรรมกายว่า ขณะนี้มีขบวนการของเครือข่ายวัดพระธรรมกาย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งกลุ่มการเมืองต่าง ๆ สร้างกระแสสังคมกดดันเรียกร้องให้ คสช.ยกเลิกคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ 5/2560 ซึ่งกำหนดให้เขตวัดพระธรรมกายและพื้นที่ไกล้เคียงเป็นพื้นที่ควบคุม เช่น การปล่อยข่าวลือว่าพระธัมมชโยไม่อยู่ในวัดแล้ว แต่ส่วนตัวเห็นว่าพระธัมมชโยยังอยู่ในภายวัดพระธรรมกาย และควรพิจารณามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อเห็นแก่ความเสียสละและความศรัทธาของพระภิกษุวัดธรรมกาย ลูกศิษย์ของวัด และชายที่เพิ่งเสียชีวิตจากการแขวนคอตาย

อย่างไรก็ตาม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาฯ ไม่ใช่องค์กรเดียวที่กังวลต่อการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. โดยก่อนหน้านี้ เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้ยื่นฟ้องหัวหน้า คสช.ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2559 ขอให้ตรวจสอบทบทวนและเพิกถอนคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท (กิจการด้านพลังงานและการจัดการขยะ)

เครือข่ายภาคประชาชนและมูลนิธิ EnLaw ระบุว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และไม่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการวางและจัดทำผังเมือง รวมถึงขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายผังเมืองในการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่