EXCLUSIVE: รับมือถ่านหินหมดแม่เมาะ ไทยเดินหน้าเขื่อนมายตงในพม่า

พลังงาน, กระทรวงพลังงาน, อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม, เขื่อนมายตง, ถ่านหิน, แม่เมาะ, โรงไฟฟ้า, ไทย, เมียนมา, ซื้อขายไฟฟ้า

ที่มาของภาพ, Dan Kitwood/Getty Images

โดย นพพร วงศ์อนันต์ บรรณาธิการ บีบีซีไทย

กระทรวงพลังงานเร่งเครื่อง โครงการเขื่อนมายตงในพม่า หลังได้ข้อสรุปลดความสูงของเขื่อน และลดกำลังการผลิตลงกว่าครึ่ง เหลือ 2,600 เมกะวัตต์ เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในปีนี้ คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2562 หวังใช้เป็นแหล่งไฟฟ้าสำคัญของภาคเหนือของไทย ขณะที่ถ่านหินที่แม่เมาะจะหมดลงในอีก 30 ปี

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวกับ บีบีซีไทย ระหว่างการพาสื่อมวลชนดูงานโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 22 กพ. ว่า ทางการไทย เมียนมา และจีน ได้บรรลุข้อตกลงการเจรจาสร้างเขื่อนมายตง เขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่บนสาขาของแม่น้ำสาละวิน โดยตกลงที่จะลดขนาดคามสูงของเขื่อนลง และลดกำลังการผลิตลงจาก 6,000 เมกะวัตต์ เป็น 2,600 เมกะวัตต์ และจะเริ่มเดินหน้าการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ หรือ feasibility study ได้ในปีนี้ และคาดว่าจะเดินหน้าก่อสร้างได้ในปี 2562

"คุยกันมา 20 ปีแล้ว แต่ไม่เกิด แต่ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่จะคุยให้เกิด เพราะประเทศเริ่มโต ต้องการใช้ไฟ ตอนนี้ขาดไฟ ขาดแก๊ส ไฟติดๆ ดับๆ การสร้างเขื่อนเป็นช้อยส์หนึ่ง หวังว่าถ้าทำความเข้าใจกันได้ ก็เดินหน้าได้" ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว

พลังงาน, กระทรวงพลังงาน, อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม, เขื่อนมายตง, ถ่านหิน, แม่เมาะ, โรงไฟฟ้า, ไทย, เมียนมา, ซื้อขายไฟฟ้า

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ปลัดกระทรวงพลังงานของไทยกล่าวว่า ทางการไทย เมียนมา และจีน ได้บรรลุข้อตกลงการเจรจาสร้างเขื่อนมายตง โดยจะเริ่มเดินหน้าการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในปีนี้

คำให้สัมภาษณ์ของนายอารีพงศ์กับบีบีซีไทย เป็นความคืบหน้าล่าสุดของโครงการนี้ หลังจากที่ เมื่อ 10 มิ.ย. ปีที่แล้ว เว็บศูนย์ข่าวพลังงาน อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายอารีพงศ์ ภายหลังการประชุมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและเมียนมา (Myanmar-Thailand Joint Working Committee หรือ MTJWC) ว่า ผลการหารือเบื้องต้นทั้งสองประเทศเห็นชอบเดินหน้าความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง เมียนมา เฟสแรก 3,000 เมกะวัตต์ จากเดิมที่เคยมีข้อตกลงร่วมกันในการซื้อขายไฟฟ้าไว้ที่ 7,000 เมกะวัตต์ โดยโครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 2 เฟส เนื่องจากปริมาณน้ำค่อนข้างมากหากทำเขื่อนเดียวจะมีผลกระทบเป็นวงกว้างได้ จีงต้องปรับเป็นการสร้างเชื่อนตอนบนและตอนล่างแทน ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าจะมีการศึกษาด้านเทคนิค โดยเฉพาะความสูงของเขื่อนโรงไฟฟ้ามายตง และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน ก.ค. 2559 นี้ และจะก่อสร้างได้ประมาณปี 2562 ตามแผนเดิม

นายอารีพงศ์ กล่าวอีกว่า โครงการเขื่อนมายตง จะช่วยเรื่องการบริหารน้ำ และพลังงานของเมียนมา ซึ่งรัฐบาลกำลังเจรจากันชนกลุ่มน้อยในรัฐฉานเพื่อเดินหน้าโครงการ ในเบื้องต้นคาดว่า เมียนมาจะใช้ไฟประมาณ 15% จากโครงการดังกล่าว ที่เหลือขายให้ไทย และจะเพิ่มการรับซื้อเป็น 50% ในอนาคต โครงการนี้จะเป็นแหล่งไปทดแทนไฟฟ้าในภาคเหนือของประเทศไทย ที่ใช้ไฟจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นหลัก

"พูดได้ว่า ไฟฟ้าภาคเหนือมาจากถ่านหินเป็นหลัก... แต่แม่เมาะต้องเฟสเอาท์ เพราะถ่านหินในเหมืองจะหมดใน 30 ปี จากนี้ต้องมองไปข้างหน้า" นายอารีพงศ์ กล่าว

พลังงาน, กระทรวงพลังงาน, อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม, เขื่อนมายตง, ถ่านหิน, แม่เมาะ, โรงไฟฟ้า, ไทย, เมียนมา, ซื้อขายไฟฟ้า

ที่มาของภาพ, Kevin Frayer/Getty Images

คำบรรยายภาพ, จีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากเป็นอันดับ 3 ของโลก จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการเขื่อนมายตง ร่วมกับไทยและเมียนมา

ก่อนหน้านี้ นายอดิศักดิ์ สุริยวนากุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนา บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) แถลงเมื่อ 29 มี.ค. 2559 ถึงความคืบหน้าของโครงการผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ EGATi บริษัทลูกของ กฟผ. ได้เข้าร่วมทุน เพื่อจัดหาพลังงานไฟฟ้าส่งกลับเข้าประเทศไทย โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินตอนบน (มายตง) เป็น 1 ใน 3 โครงการลงทุนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

โครงการนี้ตั้งอยู่ที่เมืองมายตง รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ขนาดกำลังผลิต 7,000 เมกะวัตต์ EGATi ถือหุ้นร้อยละ 30 มีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2570-2571 ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมโครงการ

อีก 2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยี ตั้งอยู่ในจังหวัดผาอัน รัฐคะหยิ่น บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำสาละวิน ขนาดกำลังผลิตรวม 1,360 เมกะวัตต์ ซึ่งผู้ร่วมพัฒนาโครงการได้ชะลอการศึกษาโครงการออกไป เพื่อรอความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ของเมียนมา และ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนมะริด ตั้งอยู่ที่เมืองมะริด ในเขตตะนาวศรี ประเทศเมียนมา ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้า ขนาดกำลังผลิต 1,800-2,500 เมกะวัตต์ มีแผนจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2564 - 2565 โดยโครงการได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอพิจารณาอนุมัติรายงานความเหมาะสมจากรัฐบาลเมียนมาแล้วจะดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป

นายอารีพงศ์ กล่าวอีกว่า จีนจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โครงการเขื่อนมายตง ซึ่งมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท โดยมีฝั่งไทย คือ EGATi และเมียนมา เข้าร่วมทุนด้วย แต่เขาไม่ได้ระบุว่าจะเป็นสัดส่วนเท่าไร

พลังงาน, กระทรวงพลังงาน, อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม, เขื่อนมายตง, ถ่านหิน, แม่เมาะ, โรงไฟฟ้า, ไทย, เมียนมา, ซื้อขายไฟฟ้า

ที่มาของภาพ, MUHAMMAD SABRI/AFP/Getty Images

โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (TERRA) สรุปรายงานโครงการเขื่อนเมืองโต๋น (มายตง)/ท่าซาง เมื่อ กรกฎาคม 2559 ว่า ผู้ถือหุ้นในโครงการนี้ ได้แก่ China Three Gorges Corporation (56%), EGATi (30%), Department of Hydro Planning ของ เมียนมา (10%) และ International Group of Entrepreneur Company เมียนมา (4%)

โครงการนี้ เป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปิดกั้นแม่น้าสาละวินตอนกลางในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา มีที่ตั้งห่างจากหมู่บ้าน Wan Has La ของเมืองโต๋น ระยะทาง 19 กิโลเมตรและห่างจากท่าขี้เหล็กประมาณ 246 กิโลเมตร มีกำลังการผลิตติดตั้ง 7,000 เมกะวัตต์ มีแผนเบื้องต้นที่จะขายไฟฟ้าให้ไทย 6,300 เมกะวัตต์ และใช้ภายในประเทศเมียนมา 700 เมกะวัตต์ (ในส่วนนี้เมียนมาอาจขายต่อให้จีนได้) - มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.445 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.06 แสนล้านบาท) และมีแผนจะกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย

(หมายเหตุ: บีบีซีไทย ได้รับเชิญให้ร่วมคณะกระทรวงพลังงานที่พาสื่อมวลชนไปศึกษาดูงาน การบริหารจัดการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ณ เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ระหว่าง 18-23 ก.พ. โดย บีบีซีไทย ออกค่าใช้จ่ายการเดินทางทั้งหมดเอง)