เพิ่มเติม -- กพช.อนุมัติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่แล้ว

โรงไฟฟ้าถ่านหิน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang / BBC Thai

กพช. เตรียมพิจารณาอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลาหรือไม่ โฆษกรัฐบาลยืนยันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ด้านเครือข่ายปกป้องอันดามันนัดชุมนุมต้านหน้าทำเนียบ

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะมีการประชุมในวันนี้ (17 ก.พ. 2560) เวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ก่อสร้าง "โรงไฟฟ้าถ่านหิน" ในพื้นที่ จ.กระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ และในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา กำลังการผลิต 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งเคยถูกคัดค้านจนทำให้ต้องชะลอการก่อสร้างมาเป็นเวลาถึง 2 ปีหรือไม่

โดยก่อนการประชุม เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินได้นัดรวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 10.00 น. เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว

โรงไฟฟ้าถ่านหิน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang / BBC Thai

ช่วงเช้า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเรียกร้องให้ฝ่ายคัดค้านยื่นข้อเสนอที่ชัดเจนว่าหากไม่ยอมให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน 2 จังหวัดดังกล่าว ควรจะทำอย่างไรต่อไป ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย แต่หากไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในภาคใต้ ก็อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านพลังงานตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป เนื่องจากในภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5% ต่อปี ซึ่งในปี 2556 ก็เคยเกิดเหตุไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ใน 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นเวลาเกือบ 3 ชั่วโมงมาแล้ว

พล.ท.สรรเสริญ ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้พิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว จนได้ข้อสรุปว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความเหมาะสมมากที่สุดในแง่ของการลงทุน เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ปาล์มน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติเหลว พร้อมทั้งได้ดำเนินการตามหลักวิชาการทั้งการศึกษาคุณภาพอากาศในรัศมีมากกว่า 5 กม.จากจุดสร้างโรงไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่กว้าง 30 กม. ยาว 30 กม. หรือคิดเป็นพื้นที่ 900 ตร.กม. รวมถึงศึกษาข้อมูลด้านทะเลและชายฝั่ง การใช้น้ำและระบายน้ำอย่างละเอียดในรัศมีมากกว่า 5 กม.และพื้นที่บางส่วนของ จ.ปัตตานีด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล การประกอบอาชีพประมง เกษตรกรรม และวิถีชุมชนตามที่กล่าวอ้าง

"รัฐบาลขอเรียกร้องให้กลุ่มผู้คัดค้านแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ ไม่กระทำการที่ขัดต่อกฎหมาย หรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น โดยยืนยันว่าเมื่อรัฐบาลยินดีรับฟังความคิดเห็นของท่านแล้ว ท่านก็ควรรับฟังรัฐบาลและคนส่วนใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน" พล.ท.สรรเสริญกล่าว

โรงไฟฟ้าถ่านหิน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang / BBC Thai

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และนักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เครือข่ายเคยเสนอทางเลือกให้สร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแทนการใช้ถ่านหินให้กับรัฐบาลไปแล้ว โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 1,400 เมกะวัตต์ ที่ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าพลังงานหมุนเวียนไม่เสถียรเท่าถ่านหินก็ไม่เป็นความจริง เพราะอย่างประเทศเยอรมันก็ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสามารถใช้กับประเทศไทยได้ทั้งประเทศ

"ส่วนการเดินทางมาคัดค้านในวันนี้ หาก กพช. ยังอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลาอีก เครือข่ายจะชุมนุมต่อเนื่องและยกระดับการเคลื่อนไหวให้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก" นายประสิทธิ์ชัยกล่าว

ทั้งนี้ วันเดียวกัน รศ.ภิญโญ มีชำนะ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยกลุ่มนักวิชาการ จะเดินทางมายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ 2 จังหวัดภาคใต้ดังกล่าว

โรงไฟฟ้าถ่านหิน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang / BBC Thai

กพช. อนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่แล้ว

เวลา 12.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงผลการประชุม กพช. ที่ใช้เวลาหารือนานกว่า 3 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมมีมติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดที่ จ.กระบี่ต่อไปตามขั้นตอน เนื่องจากโครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 และเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558 - 2579 (PDP 2015) ซึ่งมีการพิจารณาและศึกษามาแล้ว 2 ปี เห็นว่าคุ้มค่าและปลอดภัย และรัฐบาลได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมในการสร้างความเข้าใจไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องปลดล็อกเพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ ในเอกสารข่าวสรุปผลการประชุม กพช. ไม่ได้ระบุว่า ที่ประชุมอนุมัติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา ด้วยหรือไม่

หลังทราบผลประชุม กพช. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจำนวนนับร้อยคน ที่มาชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล ก็พยายามที่จะเคลื่อนขบวนเข้าไปภายใน จนเกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ ก่อนประกาศว่าจะปักหลักชุมนุมประท้วงยืดเยื้อหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยนายประสิทธิ์ชัย ระบุว่า จะอยู่ไปจนกว่ารัฐบาลจะสั่งยุติโครงการ

โรงไฟฟ้าถ่านหิน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang / BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เหตุการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำเนียบ หลังทราบผลประชุม กพช. ที่อนุมัติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ จ.กระบี่

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองซึ่งมีฐานเสียงสำคัญอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ระบุว่า มติของ กพช.ที่ให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.กระบี่ ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และไม่สอดคล้องกับทิศทางของพลังงานในอนาคตที่มีทางเลือกที่ดีกว่า รวมถึงสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายกับพื้นที่การท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติ