สื่อต่างชาติมองพิพาทธรรมกายคือเรื่องการเมือง

ธรรมกาย

ที่มาของภาพ, EPA

สื่อตะวันตกหลายสำนักมองว่า การเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังของรัฐ กับพระสงฆ์และลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย เป็นเรื่องการเมืองและการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ

หนังสือพิมพ์ลิเบราซิยงของฝรั่งเศส บอกว่าการแผ่ขยายอิทธิพลของวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีนักการเมือง นักธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับพรรคไทยรักไทยในอดีตให้การสนับสนุน ทำให้รัฐบาลทหารกังวล

ลิเบราซิยงชี้ว่าวัดพระธรรมกายมีพระสงฆ์ประมาณ 3,000 รูป มีสาขาในกว่า 30 ประเทศ รวมทั้งในฝรั่งเศส มีทรัพย์สินมหาศาล มีอิทธิพลต่อคนไทยจำนวนมาก ทั้งยังถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์และบริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง มีนักธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุน

ธรรมกาย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ที่ผ่านมาราว 30 ปีก่อน เมื่อทางการต้องการประกอบพิธีทางพุทธศาสนาขนาดใหญ่ ก็มักจะขอความร่วมมือจากวัดนี้ เพราะเป็นวัดเดียวที่มีลูกศิษย์จำนวนมากพอที่จะทำให้งานพิธีต่าง ๆ ดูดี

ช่วงนั้นกองทัพเองที่เป็นฝ่ายสนับสนุนให้วัดพระธรรมกายเติบโต ช่วยทางวัดจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ เช่น รณรงค์ให้เยาวชนจำนวนมากนั่งสมาธิ จนมาถึงยุคที่นายทักษิณ ชินวัตรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทางลิเบราซิยงเชื่อว่า มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัดพระธรรมกาย กองทัพจึงไม่ต้องการให้วัดพระธรรมกายมีอิทธิพลมากขึ้นไปอีก

เสืือแดง

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

มวลชนเสื้อแดงเป็นกลุ่มพลังที่หนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

เอเชียไทมส์ออนไลน์มองว่าปัญหาวัดพระธรรมกายเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่าทางศาสนา โดยชี้ถึงเมื่อครั้งที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนทรงสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2556 ในเวลานั้นมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติเสนอให้สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำซึ่งมีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับวัดพระธรรมกาย ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แต่นายกรัฐมนตรีไทยเพิกเฉย อาจเป็นเพราะกังขาเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการหนีภาษี และการใช้ชีวิตอย่างหรูหราของสมเด็จช่วง

พระสังฆราช

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG / BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2560

แต่เอเชียไทมส์บอกว่าความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต่างหากคือสาเหตุหลัก รัฐบาลทหารกลัวว่าอิทธิพลของวัดพระธรรมกายจะเพิ่มขึ้นไปอีก หากคนใกล้ชิดได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไป จึงจำเป็นต้องลิดรอนอำนาจของมส. จากที่เคยกำหนดให้เป็นผู้ส่งรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีความอาวุโสที่สุดให้กับนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง เปลี่ยนเป็นให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชแทน

เอเชียไทมส์สรุปในตอนท้ายว่า แม้วิธีการนี้จะกันวัดพระธรรมกายส่งตัวแทนขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขของคณะสงฆ์ได้สำเร็จ แต่ก็เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับสถาบันกษัตริย์ เป็นผู้เลือกคนที่น่าจะใกล้ชิดกับทางวังขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

ธรรมกาย

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ผู้สนับสนุนวัดพระธรรมกายเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 44 กับวัดพระธรรมกาย ขณะที่โฆษกรัฐบาลบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรือศาสนา แต่เป็นเรื่องของพระสงฆ์ที่กระทำความผิดเป็นอาชญากรแต่ไม่ยอมรับกฎหมาย

นิตยสารดิอีโคโนมิสต์ของอังกฤษ เปรียบเทียบวัดพระธรรมกายว่า คล้ายกับคริสเตียนแบบอีวานเจลิคัลในประเทศตะวันตก ที่มีขนาดใหญ่และสาวกจำนวนมาก ขนาดของวัดพระธรรมกายที่ปทุมธานีเองก็เปรียบเสมือนโบสถ์คริสต์ที่นครวาติกัน ดิอีโคโนมิสต์ชี้ว่า ทางการไทยพยายามมาปีกว่าแล้ว ที่จะสอบปากคำพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดฯ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะทางการไม่ต้องการให้มีภาพทหารประจันหน้ากับพระสงฆ์ออกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน

ธัมมชโย

ที่มาของภาพ, DAMIR SAGOLJ/REUTERS

คำบรรยายภาพ,

ดีเอสไอยังไม่สามารถระบุได้ว่าพระธัมมชโยอยู่ที่ไหน

ดิอีโคโนมิสต์บอกว่า การที่ทางการไทยระดมกำลังเพื่อบุกจับพระธัมมชโยหนนี้ คงจะเป็นความพยายามที่น่าจะจริงจังกว่าครั้งอื่น ๆ ที่ผ่านมา เพราะเกิดขึ้นหลังการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ซึ่งทางดิอีโคโนมิสต์บอกว่า ช่วงเวลาการจัดการแบบนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน

ส่วนสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การเผชิญหน้าระหว่างตำรวจและทหาร กับพระและสาวกวัดธรรมกายสะท้อนถึงการช่วงชิงอำนาจ เนื่องจากความมั่งคั่งและการแผ่ขยายอิทธิพลของวัดพระธรรมกายทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกังวล ฝ่ายกุมอำนาจจึงพยายามเข้าควบคุมวัดพระธรรมกาย

ธรรมกาย

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ,

หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ปลดนายพนม ศรศิลป์ ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร ดีเอสไอ มาดำรงตำแหน่งแทน

นอกจากนั้นรัฐบาลยังเห็นด้วยว่า วัดพระธรรมกายมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในสังกัดอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ซึ่งแม้ว่าทางวัดได้ออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขัน แต่ความใหญ่โตของวัดทั้งสถานที่และเครือข่ายยิ่งทำให้วัดดูมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นไป

วัดพระธรรมกายได้กลายเป็นประเด็นท้าทายอำนาจรัฐบาลทหารอย่างเด่นชัดมาหลายเดือน เนื่องจากไม่ยอมส่งตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสให้กับทางการ

รอยเตอร์รายงานว่าสังคมไทย มีเสาหลักสามอย่าง คือ ชาติ พระมหากษัตริย์ และศาสนา โดยฝ่ายกุมอำนาจที่แท้จริงควบคุมสถาบันชาติและพระมหากษัตริย์ ผ่านรัฐบาลทหารและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ โดยได้ทรงโปรดเกล้าสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะที่ทรงมีแนวอนุรักษ์นิยม ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชปกครองดูแลพระสงฆ์ร่วม 300,000 รูป เพียงไม่กี่วันก่อนหน้าจะมีการเผชิญหน้ากับทางวัด

ธรรมกาย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

วัดพระธรรมกายแตกต่างไปจากวัดอื่น ๆ อีกกว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ วัดที่เป็นศูนย์กลางของธรรมกายที่ปทุมธานีมีขนาดใหญ่เกือบ 10 เท่าของพื้นที่นครวัดวาติกัน วัดธรรมกายซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2513 ในตอนนี้มีสาขาต่าง ๆ เกือบ 90 สาขาใน 35 ประเทศ

วัดพระธรรมกายมีสถานีโทรทัศน์เป็นของตนเอง มีเว็บไซต์ที่น่าดู และมีบัญชีสื่อสังคมอีกหลายช่องทาง สามารถจัดงานพิธีที่มีผู้เข้าร่วมหลายหมื่นคนได้อย่างราบรื่น แต่ผู้ที่เสื่อมใสในธรรมกายจริง ๆ ยังเป็นคนกลุ่มน้อย ในประเทศที่คนเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ

วิธีการเรี่ยไรเงินของธรรมกาย ทำให้ธรรมกายมั่งคั่งกว่าวัดอื่น ๆ และสร้างความขุ่นเคืองให้กับฝ่ายที่วิจารณ์ ซึ่งชี้ว่าธรรมกายแยกตัวออกมาจากหลักพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ไม่ยึดติดกับทรัพย์สมบัตินอกกาย

ธรรมกาย

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ,

ผู้เลื่อมใสในวัดพระธรรมกาย

มีการเปรียบเทียบว่าธรรมกายมีลักษณะคล้ายคลึงกับลัทธิฝ่าหลุนกงของจีน และเครือข่ายกูเลนในตุรกี ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้เคยเป็นกลุ่มศาสนาที่โตอย่างรวดเร็วในการใช้หลักการที่ทันสมัยในการดึงดูดคนให้เข้าร่วม แต่ถูกปราบปราม เมื่ออิทธิพลแผ่ขยายมากเกินไป

ทางวัดพระธรรมกายปฏิเสธว่าไม่ได้มีความสัมพันธ์กับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร หรือกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ก็ตาม ทั้งกลุ่มคนเสื้อแดง และวัดพระธรรมกายก็เป็นพลังใหม่ในสังคม ที่การแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลอาจบั่นทอนอำนาจของกลุ่มอำนาจเดิม

ธรรมกาย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

แนวคิดเรื่องการบริจาคของธรรมกายที่ระบุว่า ยิ่งบริจาคยิ่งได้บุญมาก และยิ่งทำให้ธรรมกายมั่งคั่ง ส่งผลให้มีเงินบริจาคจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่กิจกรรมของทางวัด และกิจกรรมดังกล่าวช่วยแผ่ขยายอิทธิพลของธรรมกาย ซึ่งในทางกลับกันได้ช่วยสนับสนุนมส. ด้วย ซึ่งฝ่ายที่วิจารณ์เห็นว่าอิทธิพลของธรรมกายมีมากเกินไป

การประลองกำลังเริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่มส.ได้เสนอชื่อสมเด็จช่วง ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับวัดพระธรรมกายขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่รัฐบาลทหารไม่รับ จากนั้นหลังจากที่ประเทศไทยได้พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เมื่อเดือนธันวาคม ได้มีการแก้ไขกฎหมายให้พระมหากษัตริย์ทรงสามารถเลือกที่จะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชได้ โดยไม่ทรงจำเป็นต้องพิจารณาจากความประสงค์ของมส.

ธรรมกาย

ที่มาของภาพ, EPA

เพียงสี่วันหลังจากที่ได้สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ รัฐบาลทหารประกาศใช้มาตรา 44 ควบคุมวัดพระธรรมกาย

ปัญหาสำหรับตำรวจในตอนนี้คือจะฝ่าแนวกำแพงของบรรดาพระและลูกศิษย์ของวัดพระธรรมกายไปได้อย่างไร เพราะการทำความรุนแรงต่อพระสงฆ์ถือเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมไทย

ทางการได้เพิ่มแรงกดดันโดยเพิ่มกำลังและใช้ลวดหนาม ทั้งขู่ว่าจะมีการจับกุมตัวแกนนำของทางวัดเพิ่มขึ้น

ฝ่ายต่อต้านวัดพระธรรมกายเชื่อว่าข้อกล่าวหาและเรื่องอื้อฉาว ตลอดจนภาพที่เกิดขึ้นรอบ ๆ วัดจะช่วยกันไม่ให้คนไทยเข้าพวกกับวัดพระธรรมกาย