จุมพล มั่นหมาย : ลดโทษเหลือจำคุก 3 ปี หลังสารภาพคดีรุกป่าทับลาน

จุมพล มั่นหมาย, ถอดยศ, อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, อดีตรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง, บุกรุกป่าทับลาน, พล.ต.ต., พงษ์เดช พรหมมิจิตร, ลงโทษ, จำคุก, 3 ปี ไม่รอลงอาญา

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ถอด พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย ออกจากยศตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.2560

ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา จุมพล มั่นหมาย อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตรองเลขาธิการสำนักพระราชวังฯ ในคดีบุกรุกป่าทับลาน ขณะที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย

วันนี้ (10 มี.ค.) ศาลจังหวัดนครราชสีมาเบิกตัวนายจุมพล มั่นหมาย อดีตรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง และอดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติผู้ถูกถอดยศ เพื่อรับฟังการพิจารณาคดีที่เขาถูกยื่นฟ้องในความผิดฐานบุกรุกป่า สร้างบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับพลตำรวจตรีพงษ์เดช พรหมมิจิตร อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ขณะที่นายจุมพล เป็นจำเลยที่ 2

สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ศาลตัดสินลงโทษจำคุก 6 ปี แก่นายจุมพล แต่คำรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากพื้นที่ที่บุกรุกป่า และชดใช้ค่าเสียหายให้กับทางราชการเป็นเงิน 892,000 บาท

จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ควบคุมตัวนายจุมพลนำส่งให้แก่เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ เพื่อนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเป็นอันดับต่อไป

จุมพล มั่นหมาย, ถอดยศ, อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, อดีตรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง, บุกรุกป่าทับลาน, พล.ต.ต., พงษ์เดช พรหมมิจิตร, ลงโทษ, จำคุก, 3 ปี ไม่รอลงอาญา

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, จุมพล มั่นหมาย อดีตรอง ผบ.ตร. และอดีตรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพาตัวมารับทราบข้อหารุกป่าที่กองปราบปราม กรุงเทพมหานคร เมื่อ 2 มีนาคม 2560

ก่อนหน้านี้ ในวันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 7 มี.ค. เรื่อง ให้ถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ถอด พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย ออกจากยศตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.2560 ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ เนื่องจากกระทำความผิดวินัย ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติอย่างร้ายแรง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการไปในทางไม่ถูกต้อง แสวงหาประโยชน์ให้ตัวเอง และฝักใฝ่ในเรื่องการเมืองเป็นอันตรายต่อความมั่นคง

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีระบุด้วยว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรพรรดิมาลา ที่นายจุมพล มั่นหมาย ได้รับพระราชทาน

ส่วน พล.ต.ต.พงษ์เดช ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ทั้งในความผิดฐานบุกรุกป่า และความผิดตามมาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานละเว้นและปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต พร้อมทั้งขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดสืบพยานเพิ่มเติม แต่ยังไม่ระบุวันและเวลาที่ชัดเจน จากนั้นศาลจึงอนุญาตให้เขาประกันตัวไปในวงเงินสองแสนบาท โดยไม่มีเงื่อนไข