ทศวรรษ “สงครามยาเสพติด” จากทักษิณ ถึงดูแตร์เต

นโยบายทำสงครามกับยาเสพติดช่วง 6 เดือนแรกในตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ของนายโรดริโก ดูแตร์เต ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 7,000 คน

ที่มาของภาพ, MANMAN DEJETO/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นโยบายทำสงครามกับยาเสพติดช่วง 6 เดือนแรกในตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ของนายโรดริโก ดูแตร์เต ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 7,000 คน

นโยบาย "ทำสงครามกับยาเสพติด" ที่ไทยเคยใช้เมื่อ 14 ปีก่อน ถูกนำมาใช้อีกครั้งในฟิลิปปินส์ ผลคือการปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 7,000 คน โดยกว่า 2,500 คน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอ้างว่า เกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ

ไม่เพียงแต่บุคลิกส่วนตัวที่โดดเด่น แต่การประกาศนโยบาย "ทำสงครามยาเสพติด" ขีดเส้นตายกวาดล้างให้เห็นผลอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการที่รุนแรง ทำให้นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ตกเป็นเป้าจับตาจากทั่วโลก

นับตั้งแต่นายดูแตร์เตเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน มิ.ย. 2559 มี "ผู้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวโยงกับยาเสพติด" เสียชีวิตไปแล้วหลายพันราย ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ ระบุว่า ระหว่างวันที่ 1 ก.ค. 2559 - 21 ม.ค. 2560 จำนวนผู้เสียชีวิต มีถึง 7,025 คน หรือเฉลี่ยวันละ 34 คน โดยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอ้างว่า ผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 คน เกิดจากฝีมือของตำรวจ ส่วนที่เหลือเกิดจาก "ผู้มีอาวุธไม่ทราบฝ่าย"

แม้นโยบายดังกล่าวจะได้รับเสียงวิจารณ์จากนานาชาติอย่างกว้างขวาง ทว่ากลับไม่ใช่ "เรื่องใหม่" เพราะกว่า 14 ปีก่อน ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีไทย นายทักษิณ ชินวัตร ก็เคยประกาศนโยบาย "ทำสงครามกับยาเสพติด" มาก่อน

อดีตนายกรัฐมนตรีไทย นายทักษิณ ชินวัตร เคยดำเนินนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดมาก่อน เมื่อปี 2546 ผลคือทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 1,400 คน

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, อดีตนายกรัฐมนตรีไทย นายทักษิณ ชินวัตร เคยดำเนินนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดมาก่อน เมื่อปี 2546 ผลคือทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 1,400 คน

และในขณะที่ผู้นำแดนตากาล็อกเคยขู่จะถอนตัวจากการเป็นประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หลังถูกผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นวิจารณ์นโยบายนี้ อดีตผู้นำแดนสยามก็เคยตอบโต้กรณีที่ยูเอ็นจะส่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้ามาตรวจสอบว่า "ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ"

สงครามปราบยาเสพติดของ 2 ชาติในอาเซียนนี้ มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และท้ายที่สุด จะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ บีบีซีไทยเปรียบเทียบรายละเอียดของนโยบายโดยอาศัยข้อมูลอ้างอิงจากหลายแหล่ง

  • กรณีฟิลิปปินส์ ข้อมูลส่วนหนึ่งนำมาจากรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรื่อง EXTRAJUDICIAL EXECUTIONS IN THE PHILIPPINES' "WAR ON DRUGS" ซึ่งเผยแพร่ช่วงปลายเดือน ม.ค.2560 ประกอบกับข้อมูลจากสื่อหลายสำนักที่รายงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
  • กรณีไทย ข้อมูลเกือบทั้งหมดนำมาจากรายงานของ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.)" ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2550

ที่มาของนโยบาย "เริ่มจากตัวผู้นำ"

นายดูแตร์เตชูนโยบายปราบยาเสพติดตั้งแต่เริ่มหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และเมื่อได้รับเลือกตั้ง ก็ตอกย้ำว่าจะทำให้บรรลุผลในเวลา 3-6 เดือน โดยเริ่มดำเนินนโยบายตั้งแต่ "วันแรก" ที่เข้ารับตำแหน่ง 30 มิ.ย. 2559

ด้านนายทักษิณริเริ่มนโยบายนี้เมื่อต้นปี 2546 และยกให้เป็น "วาระแห่งชาติ" พร้อมสั่งการให้แต่ละจังหวัดจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้อง และกำหนดเป้าหมายลดผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้ 100% ภายในสามเดือน คือระหว่างเดือน ก.พ. - เม.ย. 2546

ท่าที "อันแข็งกร้าว" ของผู้นำ

ทั้งนายดูแตร์เต และนายทักษิณ ใช้ท่าทีอัน "แข็งกร้าว" เป็นหนึ่งในปัจจัยผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยส่งสัญญาณว่าต้องการแก้ปัญหานี้ให้ในเวลาอันรวดเร็ว

ในขณะที่นายดูแตร์เตเคยเรียกร้องให้ชาวฟิลิปปินส์ "ฆ่า" ผู้ที่มีส่วนพัวพันกับยาเสพติด นายทักษิณก็เคยใช้ถ้อยคำรุนแรง อย่าง "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน"หรือ "เราจะขีดเส้นตายให้กับผู้ค้ายาเสพติดอยู่เพียง 2 จุดเท่านั้นในประเทศไทย จุดหนึ่งคือคุก และอีกจุดหนึ่งคือสุสาน" หรือ "ในปีนี้ ยาเสพติดต้องหมดจากประเทศไทย...ถ้าต่อสู้จะถูกวิสามัญฆาตกรรม ช่วยไม่ได้"

แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ แต่ชาวฟิลิปปินส์บางส่วนก็ยังสนับสนุนนโยบายปราบปรามยาเสพติดของนายดูแตร์เต

ที่มาของภาพ, Dondi Tawatao/Getty Images

คำบรรยายภาพ, แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ แต่ชาวฟิลิปปินส์บางส่วนก็ยังสนับสนุนนโยบายปราบปรามยาเสพติดของนายดูแตร์เต

การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

เมื่อฝ่ายนโยบายใช้ท่าทีรุนแรง และต้องการเห็นผลอย่างรวดเร็ว ฝ่ายปฏิบัติจึงต้องตอบสนอง

ในกรณีฟิลิปปินส์ รายงานของแอมแนสตี้ฯ ระบุว่า มีการฆาตกรรมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด "อย่างเป็นระบบ" โดยเน้นไปที่คนยากจนและผู้มีรายชื่ออยู่ในบัญชีของทางการ ซึ่งบางกรณีเกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ แรงจูงใจอย่างหนึ่งคือการตั้งรางวัลค่าหัวอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่าง 8,000 - 15,000 เปโซ (ราว 5,600 - 10,500 บาท) ขณะที่การจับกุมจะไม่ได้รับรางวัลแม้แต่เปโซเดียว นี่จึงเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ส่วนของไทย คตน. สรุปว่า การกำหนดนโยบายอย่างเร่งรัด แต่ขาดการวิเคราะห์ความพร้อมของฝ่ายปฏิบัติ นอกจากนี้ คำสั่งและข้อสั่งการจากส่วนกลางยังขาดความชัดเจน เมื่อประกอบกับคำพูดของนายทักษิณที่คล้ายสื่อสารให้ใช้ความรุนแรงกับผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทำให้ฝ่ายปฏิบัติเข้าใจว่าการจะบรรลุเป้าหมายทำได้เพียง 2 วิธี คือหากไม่จับกุมก็ต้องมีการเสียชีวิตเท่านั้น

ญาติๆ ต่างนำภาพของผู้เสียชีวิตช่วงการประกาศสงครามยาเสพติดของผู้นำฟิลิปปินส์ มาวางรวมกันหน้าโบสถ์แห่งหนึ่งกลางกรุงมะนิลา

ที่มาของภาพ, TED ALJIBE/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ญาติๆ ต่างนำภาพของผู้เสียชีวิตช่วงการประกาศสงครามยาเสพติดของผู้นำฟิลิปปินส์ มาวางรวมกันหน้าโบสถ์แห่งหนึ่งกลางกรุงมะนิลา

ผลที่ตามมา

สำหรับไทย ตลอด 3 เดือนของปี 2546 ที่นายทักษิณทำสงครามกับยาเสพติด แม้จะสามารถจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้ครอบครอง แต่ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเช่นกัน คตน. รวบรวมจำนวนคดีฆาตกรรมผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดว่ามีทั้งสิ้น 1,187 คดี มีผู้เสียชีวิต 1,370 คน ไม่รวมถึงคดีวิสามัญฆาตกรรมอีก 35 คดี มีผู้เสียชีวิต 41 คน

เวลาผ่านมากว่า 14 ปี จำนวนผู้ต้องขังในคุกไทยกว่า 70% เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ตัวเลขผู้ต้องขังในคดีนี้ที่ยังไม่ลดลง ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิผลของการปราบปรามยาเสพติดด้วยวิธีรุนแรง รวมถึงการแก้ไขกฎหมายให้เข้มข้นขึ้น จะทำให้ปัญหาหมดไปจริงหรือไม่

คำถามเดียวกันนี้ยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องหาคำตอบ เพราะหลังครบกำหนดดำเนินนโยบาย 6 เดือน นายดูแตร์เตได้ประกาศขยายระยะเวลาทำสงครามกับยาเสพติดออกไปเป็นจนสิ้นวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของตน ในปี 2565

ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายว่าเหยื่อผู้เสียชีวิตจาก "สงครามปราบยาเสพติด" ในฟิลิปปินส์ น่าจะสูงเกินกว่า 7 พันราย