อ็อกแฟมเผยคนรวยที่สุด 1% ครองความมั่งคั่ง 82% ของทั้งโลก

คนรวย สถิติอ็อกแฟม

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

องค์การอ็อกแฟม (Oxfam) เผยรายงานประจำปี 2017 ซึ่งชี้ถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งระหว่างคนรวยกับคนจนที่ถ่างกว้างขึ้นทุกที โดยพบว่าบรรดามหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดที่มีอยู่ราว 1% ของประชากรโลก กลับเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินที่คิดเป็นมูลค่าถึง 82% ของความมั่งคั่งที่มีอยู่ทั้งหมด

รายงานของอ็อกแฟมระบุว่า กลุ่มคนร่ำรวยสะสมความมั่งคั่งได้เพิ่มขึ้นอีกเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา ในขณะที่กลุ่มคนยากจนกลับไม่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเลย โดยมหาเศรษฐีพันล้าน 42 คนที่ร่ำรวยที่สุด มีทรัพย์สินรวมกันเท่ากับของกลุ่มคนยากจนที่สุด 3,700 ล้านคน หรือราวครึ่งหนึ่งของประชากรโลก

รายงานยังระบุว่าความเฟื่องฟูของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกในปี 2017 ทำให้บรรดาคนร่ำรวยมีทรัพย์สินทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นรวม 762,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่ผ่านมา ซึ่งเพียงพอจะนำไปแก้ไขภาวะความยากจนรุนแรงถึงขั้นสุด (Extreme poverty) ได้ถึง 7 ครั้ง

ส่วนในระหว่างปี 2006-2015 มหาเศรษฐีทั่วโลกมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 13% โดยช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้นเนื่องมาจากการเลี่ยงภาษี การใช้อิทธิพลของกิจการใหญ่แทรกแซงนโยบายของรัฐ การตัดลดค่าใช้จ่ายของธุรกิจต่าง ๆ และการละเมิดสิทธิแรงงาน

นายมาร์ก โกลด์ริง ประธานผู้บริหารองค์การอ็อกแฟมระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในกลุ่มคนร่ำรวยที่สุดไม่ใช่สัญญาณของภาวะเศรษฐกิจที่ดี แต่เป็นอาการของระบบที่ล้มเหลว ซึ่งยังคงกดขี่แรงงานจำนวนหลายล้านที่ทำงานหนักแต่ได้รับค่าแรงน้อยนิด ทั้งที่เป็นผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มและอาหารให้กับคนทั้งโลก

ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน 70,000 คน จาก 10 ประเทศของอ็อกแฟมยังชี้ว่า คนส่วนใหญ่ถึง 72% ต้องการให้รัฐบาลของตนเร่งแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยและเรื่องการกระจายรายได้อย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้อ็อกแฟมได้ประกาศแก้ไขตัวเลขช่องว่างทางเศรษฐกิจของปี 2016 จากเดิมที่ระบุว่ามหาเศรษฐี 8 คนมีความมั่งคั่งเท่ากับประชากรที่จนที่สุดครึ่งหนึ่งของโลกในปีดังกล่าว มาเป็นมหาเศรษฐีจำนวน 61 คน

การแก้ไขข้อมูลครั้งนี้ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความน่าเชื่อถือของรายงานจากอ็อกแฟม ซึ่งใช้ข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บส์และธนาคารเครดิตสวิสเป็นฐานในการวิเคราะห์ โดยมีผู้ชี้ว่าอ็อกแฟมตีความคำว่า "คนจน" แบบเหวี่ยงแห โดยรวมเอาผู้ที่มีหนี้สินจำนวนมาก แต่ก็มีโอกาสสร้างฐานะในอนาคตมากเช่นนักศึกษาหรือนักลงทุนบางกลุ่มเข้ามาด้วย

นายมาร์ก ลิตเทิลวูด ผู้อำนวยการใหญ่ของสถาบันกิจการเศรษฐกิจ (IEA) ในกรุงลอนดอนชี้ว่า รายงานของอ็อกแฟมแสดงความหมกมุ่นในเรื่องของคนรวยมากกว่าคนจน โดยเขาชี้ว่าการขึ้นภาษีและการวางแผนกระจายรายได้เสียใหม่ที่อ็อกแฟมเสนอแนะนั้น อาจไม่ช่วยให้คนจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะการลดความมั่งคั่งของคนรวยลงอาจไม่นำไปสู่การกระจายรายได้ที่เป็นธรรมเสมอไป แต่จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า

ผู้เชี่ยวชาญบางรายยังชี้ว่า รายงานของอ็อกแฟมให้ภาพที่บิดเบือนในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางรายได้ทั่วโลกลดลงอย่างมาก หลังประเทศอย่างจีน อินเดีย และเวียดนาม ได้ปฏิรูปเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบเสรีนิยมใหม่ ทำให้ผู้คนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น